เหลืออีกเพียงแค่เดือนเดียวฤดูใบไม้ผลิที่ใครหลายคนเฝ้ารอก็จะมาเยือนอีกครั้ง
อากาศที่อบอุ่นพร้อมกับการผลิดอกซากุระที่แต่งแต้มญี่ปุ่นให้กลายเป็นสีชมพูไปทั่วทั้งเกาะ
แค่นึกถึงภาพช่วงเวลาที่สวยที่สุดในรอบปี และฮานามิใต้ต้นซากุระก็อยากให้ฤดูหนาวในเดือนกุมภาพันธ์ผ่านพ้นไปเร็วๆ
ถึงกระนั้นก็ตามยังมีใครอีกหลายๆ คนที่ไม่อยากให้เวลานั้นมาถึง เพราะนั่นหมายถึงช่วงเวลาที่ทรทานจากสิ่งที่เรียกว่า
คาฟูนโชว (Kafunshou)
คาฟูนโชว เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มอาการแพ้ละอองเกสรดอกไม้ ที่ปลิวมาตามกระแสลมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม
จากการตรวจสอบชนิดของละอองเกสรพบว่า มีเกสรจากต้นไม้กว่า 40 ชนิดที่เป็นสาเหตุของคาฟูนโชว
แต่ชนิดที่คนส่วนใหญ่แพ้คือ เกสรจากต้นสนญี่ปุ่น 2 พันธุ์ คือ ต้นสุกิ (Sugi)
และต้นฮิโนะคิ (Hinoki)
โดยส่วนใหญ่แล้วธรรมชาติออกแบบดอกไม้ให้มีกลิ่นหอม หรือมีสีสันรูปทรงที่สวยงามเพื่อล่อแมลงให้มาผสมเกสร
ซึ่งเกสรจากดอกไม้สวยงามเหล่านั้นมักจะไม่ทำให้เกิดคาฟูนโชว เนื่องจากเกสรมีขนาดใหญ่และหนัก
ทำให้ไม่สามารถปลิวไปตามกระแสลมได้ไกล ดังนั้นอิเคะบานะ (การจัดดอกไม้ญี่ปุ่น)
ร้านขายดอกไม้ รวมทั้งสวนดอกไม้จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของคาฟูน โชว แต่ธรรมชาติก็ออกแบบให้ต้นไม้อีกบางประเภทที่ไม่มีดอก
สวยงามไว้ล่อแมลงสามารถผสมเกสรได้โดยอาศัยลม ซึ่งเกสรของต้นไม้กลุ่มนี้มักจะมีขนาดเล็ก
เบา และมีปริมาณมากทำให้ ปลิวไปผสมเกสรได้ไกลๆ เช่น สนญี่ปุ่น เป็นต้น เกสรของสนญี่ปุ่นมีขนาดเล็กมาก
(ประมาณ 30 ไมครอน) ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทำให้หายใจเอาละอองเกสรของสนญี่ปุ่นที่ปลิวมาตามลมเข้าไปได้โดยไม่รู้ตัว
การแพ้ที่เรียกว่าคาฟูนโชวนั้นต่างจากการแพ้อื่นๆ เช่น อาการภูมิแพ้ปกติที่พบบ่อยๆ
คือ การแพ้ที่เกิดจากฝุ่นหรือสารเคมี และยังแตกต่างจากการแพ้ของไข้ละอองฟาง
(Hay fever) ที่พบในยุโรปหรืออเมริกา ทั้งนี้เนื่องมาจากละอองเกสร จากต้นสนญี่ปุ่นจะถูกลมพัดมาเฉพาะช่วงเวลา
ดังนั้นคาฟูนโชว จึงเป็นอาการแพ้ประจำปีที่ไม่หมือนกับการแพ้ฝุ่นซึ่งแพ้ตลอดปี
นอกจากนี้ละอองเกสรขนาดเล็กและเบา ที่ปลิวจากป่าเข้ามาในเมืองนั้นมีปริมาณมากและครอบคลุมบริเวณไกลหลายร้อยตารางกิโลเมตร
จึงมีผลกระทบต่อคนเป็นจำนวนมากกว่าไข้ละอองฟางที่มักจะเป็นกันเฉพาะแถบชนบทที่ปลูกข้าว
เวลาหายใจเอาละอองเกสรของสนญี่ปุ่นเข้าไปมากๆ กลไกการป้องกันตัวของร่างกายจะตอบสนองโดยการจามอย่างรุนแรง
น้ำมูกไหล คัดจมูก ถ้าละอองเข้าไปถึงคอ ก็จะคันคอและไออย่างรุนแรง ลามไปถึงอาการคันหู
ถ้าปลิวเข้าตา จะเกิดการเคืองตา น้ำตาไหลจนถึงตาอักเสบ ในบางรายอาจมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
หรือผิวหนังอักเสบได้
เมื่อละอองเกสรของสนญี่ปุ่นสัมผัสกับเนื้อเยื่อโพรงจมูก ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อละอองเกสร
ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antigen) โดยการส่งสัญญาณไปที่ระบบภูมิคุ้มกัน
เพื่อกระตุ้นให้สร้างสาร IgE (Antibody) ขึ้นมาต่อต้าน ทำให้ เกิดอาการจามเพื่อขับเอาสิ่งแปลกปลอม
(ละอองเกสร) ออกไป เนื่องจากละอองเกสรของสนญี่ปุ่นมีขนาดเล็กมากจึงไม่ใช่เรื่อง
ง่ายที่จะขับสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กๆ นี้ได้ด้วยกลไกปกติ
ในทางตรงกันข้ามหลังจากการถูกกระตุ้นครั้งแรก น้ำมูกที่หลั่งออกมากลับกลายเป็นสิ่งที่ช่วยยึดละอองเกสรที่หายใจเพิ่มเข้ามา
โดยไม่รู้ตัวให้ติดอยู่ในโพรงจมูกมากขึ้น เมื่อหายใจเอาละอองเกสรเข้าไปมากๆ
จำนวน IgE ก็ถูกกระตุ้นออกมามากเช่นกันกลายเป็นวงจร จนกระทั่งปริมาณของ IgE
สะสมจนเกินระดับมาตรฐาน ในคนที่ไม่มี gene ที่คอยควบคุม ระดับของ IgE ก็จะแสดงอาการของคาฟูนโชวออกมา
โดยการจามอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ในที่สุดลงท้ายด้วยอาการคัดจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนของละอองเกสรเพิ่มขึ้นไปอีก
พอมาถึงระยะนี้ผู้ป่วยคาฟูนโชวจะเริ่มทรมานจากการหายใจลำบาก จนต้องใช้การหายใจทางปากเข้าช่วย
เมื่อกลายเป็นอย่างนั้นแล้ววงจรที่ 2 ของคาฟูนโชวก็เริ่มขึ้น เนื่องจากช่องปากไม่มีกลไกการกรองสิ่งแปลกปลอมเหมือนในจมูก
ละอองเกสรขนาดเล็กและมีปริมาณมากก็จะไปสัมผัสกับเนื้อเยื่อในลำคอโดยตรง ส่งผลให้
IgE ถูกกระตุ้น ออกมาอีก ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรง ในขณะเดียวกันการจามพร้อมๆ
กับอาการคัดจมูกนั้นยิ่งเพิ่มความอึดอัดทรมานขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว
แล้วละอองเกสรของสนญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ขอเท้าความไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นตกอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีอะไรเหลือเลย
การพัฒนาประเทศทั้งหมดกลับไปตั้งต้นใหม่จากศูนย์ ดูเหมือนว่า "ที่อยู่อาศัย"
ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในอันดับ ต้นๆ การสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ในเวลานั้นอาศัยไม้ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายราคาถูก
แต่ทรัพยากรป่าไม้ถูกใช้ไปในระหว่างสงครามจนแทบจะไม่มีป่าธรรมชาติเหลืออยู่
รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนั้นจึงดำเนินนโยบายปลูกป่าทดแทนขึ้นทั่วประเทศ
ต้นไม้พื้นเมืองที่มีเนื้อไม้คุณภาพเยี่ยม ปลูกง่าย โตเร็ว และสนองความต้องการการใช้ไม้ในเวลาเร่งด่วนแบบนั้นได้ดีที่สุดคือ
สนญี่ปุ่น และเป็นไปดังที่คาดไว้สนญี่ปุ่นเติบโตรวดเร็ว สนองนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดี
การขยายการปลูกป่าสนจึงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ จนพื้นที่ป่าธรรมชาติในช่วงก่อนสงครามกลายเป็นป่าสนญี่ปุ่นในเวลาเพียงข้ามทศวรรษ
เมื่อความหลากหลายทางพันธุกรรมตามธรรมชาติหายไปเพราะป่าทั้งป่ามีแต่ต้นสน
ปริมาณละอองเกสรของต้นสน จึงเพิ่มขึ้นมหาศาล บวกกับกระแสลมแรงในครึ่งหลังของฤดูหนาวถึงปลายฤดูใบไม้ผลิ
ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับการออกดอกของต้นสน พัดพาเอาละอองเกสรไปไกลหลายกิโลเมตรจนถึงในเมือง
จึงแทบจะพูดได้ว่า คาฟูนโชวพบเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นที่มีอาการคาฟูน โชวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
จากตัวเลขประมาณการคร่าวๆ 20% ของประชากรญี่ปุ่น (กว่า 24 ล้านคน) มีอาการของคาฟูนโชว
และในแต่ละปีสมาชิกใหม่ของคาฟูนโชวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
คาฟูนโชวไม่ได้จำกัดเฉพาะคนญี่ปุ่นเท่านั้น เพื่อนนักเรียนไทยคนหนึ่งก็เพิ่งจะมีอาการของคาฟูนโชวเมื่อปีที่แล้ว
(หลังจากอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ 4 ปี) วิธีที่ดีที่สุดที่จะรับมือกับคาฟูนโชว
คือ การป้องกันไม่ให้ละอองเกสรเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นพอเข้าเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเห็นคนใส่
mask กันเป็นเรื่องปกติ การใช้ ยาแก้แพ้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการได้แต่ก็เป็นการแก้
ที่ปลายเหตุ ในปัจจุบันการฉีดเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นการรักษาเพียง วิธีเดียวที่ยอมรับว่าได้ผล
แต่ต้องไปโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง 2 ถึง 3 ปีและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
เร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของงานวิจัยข้าวพันธุ์ ใหม่ที่เชื่อว่า
เมื่อบริโภคข้าวพันธุ์ดังกล่าวแล้วจะช่วยป้องกันและ/ หรือบรรเทาอาการของคาฟูนโชวได้
ก็ไม่รู้ว่าจะเท็จจริงอย่างไร คงต้องติดตามจากงานวิจัยนี้ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี
2006
ถึงแม้ว่ายังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากคาฟูนโชวก็ตาม การที่ต้องทรมานตลอด
3 ถึง 4 เดือนต่อปีไปจนตาย ของคน 24 ล้านคน ถือเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือหาทางแก้ไขกันต่อไป