Living Museum พระราชวังพญาไท

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"พระราชวังพญาไท" มีประวัติอันยาวนานเกือบหนึ่งศตวรรษ เริ่มจากสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นพระตำหนักของพระพันปีหลวงจนถึงวันเสด็จสวรรคต ก่อนจะเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเคยเป็น "โฮเต็ลพญาไท" ที่หรูหราแห่งหนึ่งในภาคพื้นตะวันออกไกล

ถนนราชวิถีที่คับคั่งแออัด และจอแจไปด้วยรถราที่วิ่งกันขวักไขว่ มีกลิ่นควันจากท่อไอเสียคละคลุ้งนั้น ในอดีตเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนคือ "ท้องทุ่งพญาไท" ที่เต็มไปด้วยเรือกสวนและไร่นา โดยมีคลองสามเสนอันใสสะอาดไหลผ่าน

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในย่านนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2452 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้าไปซื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่ เพื่อสร้างเป็น "พระตำหนักพญาไท" ไว้ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ เมื่อเสด็จสวรรคต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนีได้เสด็จมาประทับเป็นการถาวรจนตลอดพระชนมายุ

ลุล่วงมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักที่ประทับ และอาคารบริวารออกเหลือเพียงพระที่นั่งเทวราชสภารมย์องค์เดียว พร้อมทั้งสร้างหมู่พระราชมณเฑียรใหม่ คือพระที่นั่งพิมานจักรีไวกูณฐเทพยสถาน ศรีสุทธนิวาส และอุดมวนาภรณ์ พร้อมด้วยพระราชอุทยานซึ่งจัดเป็นรูปสวนแบบเรขาคณิต ตามแบบสถาปัตยกรรมอิตาเลียนสมัย "เรอเนซองต์" แต่เรียกกันว่า "สวนโรมัน"

สถาปัตยกรรมของพระราชวังพญาไท เป็นรูปแบบที่พัฒนาจากตะวันตกยุคฟื้นฟู เน้นความเรียบง่ายแต่สง่างาม มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับภูมิอากาศของเมืองไทยอย่างลงตัว เห็นได้จากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งมีหน้าต่างเปิดกว้างรับลมได้ทุกด้าน พระที่นั่งทั้ง 4 องค์ เชื่อมต่อกันทั้งหมด การก่อสร้างก่ออิฐฉาบปูนมีความสูงเพียง 2 ชั้น นอกจากพระที่นั่งไวกูณฐ์ ซึ่งได้ต่อเติมขึ้นภายหลัง

หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2468 พระราชวังพญาไท ที่เคยรุ่งเรืองได้ถูกปรับปรุงเป็น "โฮเต็ลพญาไท" โรงแรมชั้นหนึ่ง เพื่อนำรายได้ มาเป็นค่าบำรุงรักษา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ.2475 โฮเต็ลพญาไทประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักจึงได้เลิกกิจการ และกระทรวงกลาโหมได้ใช้เป็นสถานที่ตั้งของกองเสนารักษ์ ซึ่งได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลทหารบก หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในเวลาต่อมา ปัจจุบันตัวโรงพยาบาลได้ย้ายไปอยู่ในตึกต่างๆ ของอาคารหลังใหม่ที่ก่อสร้างขึ้นในเขตพระราชฐานเดิม

กาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้สภาพของพระราชวังแห่งนี้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม สิ่งที่น่าห่วงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้นก็คือ หลังคาที่ชำรุดเสียหาย น้ำฝนรั่วไหล ทำลายภาพจิตรกรรมบนฝ้าเพดานไปส่วนหนึ่ง

ทางกองทัพบก หน่วยงานที่รับผิดชอบในปัจจุบัน จึงได้เข้ามามีบทบาทในการบูรณะ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 และในปี พ.ศ.2541 บริษัทเดียบอร์น สตรีท ดีไซน์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ประมาณราคาเบื้องต้นงานซ่อมแซมบูรณะอาคารทั้งหมด เป็นเงินประมาณ 182 ล้านบาท

ชมรมคนรักวังเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อหารายได้สมทบกองทุนโครงการบูรณะ ซึ่งปัจจุบันกำลังทยอยการบูรณะอย่างต่อเนื่องตามกำลังเงินที่มี โดยมีเป้าหมายไว้ว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะให้เป็น Living Museum ที่จัดแสดงพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ด้านการแพทย์ของกรมการแพทย์ทหารบก สำหรับประชาชนได้ศึกษา และระลึกถึงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และวัฒนธรรม ในยุคสมัยช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

ภาพนักเรียนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่เดินเข้าไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในพระราชวังเก่าแก่แห่งนี้มีมากขึ้นทุกวัน ทางชมรมคนรักวังได้จัดมัคคุเทศก์นำชมในวันเสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.