ถ้าซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เกือบทุกคนต้องพลิกไปหน้า 24 เพื่ออ่านคอลัมน์
"คัทลียา จ๊ะจ๋า" ที่อยู่คู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมานานถึง 19 ปี
ผู้หญิงร่างสูง ซอยผมสั้น ท่าทางสมาร์ทคนหนึ่ง กำลังเดินไปซื้อน้ำแข็งใส่ถุงจากโรงอาหารของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เธอแวะทักทายยาม และหยุดพูดจาหยอกเล่นกับพนักงานโอเปอเรเตอร์ก่อน ที่จะเดินผ่านไปด้วยท่าทีเป็นกันเอง
ทุกคนรู้ว่าเธอคือ "พี่ป้อม" หรือ "คัทลียา นุดล" เจ้าของคอลัมน์ข่าวสังคมซุบซิบชื่อดัง
ที่มีอิทธิพลต่อคนอ่านในสังคมไทยอย่างมากๆ
หลายคนอาจจะไม่คาดคิดว่า การใช้ขีวิตที่แท้จริงของเธอนั้น เรียบง่ายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับลักษณะของเนื้องาน
ดังนั้นวิธีการทำงานเพื่อให้ได้มาถึงชิ้นข่าวเบื้องลึกของคนดังต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว
คัทลียาเป็นคนที่พูดภาษาเหนือก็ได้ ฟังภาษาใต้ก็เป็น เพราะเธอเป็นคนจังหวัดพัทลุงบ้านเดียวกับแถมสิน
รัตนพันธ์ หรือ "ลัดดา" เจ้าของคอลัมน์ข่าวสังคมซุบซิบรุ่นปรมาจารย์ แต่เธอมาเกิดที่อำเภอบ่อยาง
จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่ออายุได้เพียง
5 ขวบก็ย้ายตามคุณพ่อ ซึ่งในช่วงนั้นทำงานธนาคาร มาเรียนประจำอยู่ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
ในกรุงเทพฯ และไปจบจากคณะสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียนจบคุณพ่อก็ฝากคนรู้จักให้เข้ามาทำงานในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เมื่อปี
พ.ศ.2517 จนถึงปัจจุบัน เป็นช่วงเวลายาวนานถึง 27 ปี
"เข้ามาแรกๆ ก็ยังไม่ได้เป็นนักข่าว ถูกจับให้เป็นเลขาคุณอุทรณ์ ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ใหญ่คนหนึ่ง
ต่อมาผู้ช่วยเลขาของคุณสมิต มานัสฤดี หัวหน้ากองบรรณาธิการในตอนนั้นลาออก
ก็เลยเข้าไปช่วยงานในกองบรรณาธิการเริ่มจากช่วยคัดเลือกภาพงาน ข่าวแจกและบรรยายใต้ภาพของหน้า
4 ซึ่งเป็นภาพข่าวสังคม พร้อมๆ กับไปช่วยทำข่าวหน้าบันเทิง"
ประจำอยู่กับหน้าที่ดังกล่าวประมาณ 8 ปี ก็เกิดคอลัมน์ คัทลียาจ๊ะจ๋าขึ้นมาแทนคอลัมน์ลัดดาซุบซิบ
ของแถมสินที่ลาออกไป ตามคำมอบหมายของสมิต
"เป็นอะไรที่หนักใจมากเหมือนกัน ร้องไห้แทบตายตอนนั้น เพราะตัวพี่ไม่ชอบข่าวสังคมเลย
อาจจะคุยเก่ง พูดสนุก ก็ต่อเมื่อ อยู่ในแวดวงคนใกล้ชิดเท่านั้น และที่สำคัญ
พี่เป็นชาวบ้านธรรมดา ที่มีสังคมของตัวเองเล็กๆ ไม่ได้อยู่ในแวดวงไฮโซ แต่เมื่อหัวหน้าเขามองว่าเราน่าจะทำได้
เราก็ต้องทำไปตามหน้าที่" คัทลียาเล่าย้อนความหลังให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เพราะตระหนักในคำว่าหน้าที่จะต้องรับผิดชอบนี่เอง เธอเลยสามารถสร้างคอลัมน์ใหม่นี้
ติดปากผู้คนในวงสังคมทั่วไปไม่ว่า ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ซึ่งคนอ่านอาจจะไม่รู้จักชื่อผู้ที่เธอเขียน
ถึงเลยด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังอดที่จะพลิกไปอ่านดูไม่ได้ เธอขายความอยากรู้อยากเห็นของคน
และมันก็ขายได้ดีเสียด้วย
ทั้งๆ ที่ตัวตนที่แท้จริงของเธอนั้นก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่ชอบอยู่บ้าน
ดูหนังยูบีซี อ่านหนังสือ บางวันก็นัดเจอเพื่อนฝูงกลุ่มที่รู้ใจ มาทานข้าวด้วยกัน
ซึ่งจะมีอยู่เพียงประมาณ 2-3 กลุ่มเท่านั้น และเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่เธอปฏิเสธเด็ดขาดไม่ยอมออกไปงาน
สังคมตามการ์ดเชิญที่แต่ละวันมีจำนวนมากมาย จากคนที่มีฐานข้อมูลในเรื่องข่าวสังคมที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์
เมื่อเทียบกับเจ้าของคอลัมน์ใหญ่อย่างลัดดาในสมัยนั้น คัทลียาก็เริ่มวางแผนการทำงานของตนเองทันที
"เริ่มแรกก็เอาข่าวจากแม่เพื่อนก่อน โชคดีที่เป็นนักเรียนประจำในโรงเรียนวัฒนามานานหลายปี
ซึ่งต้องยอมรับว่า เด็กวัฒนาส่วนใหญ่มีชื่อเสียงมาจากตระกูลที่ดี เป็นกลุ่มไฮโซที่อาจจะต่างกว่าที่อื่น
เพราะเด็กที่นี่ไม่มีการใช้เงิน ถูกห้ามใช้เครื่องประดับ ดังนั้นการซื้อของแพงๆ
เพื่ออวดร่ำอวดรวย หรือทำตัวฟุ้งเฟ้อก็อาจจะไม่ค่อยมี ข่าวที่ได้มาจากแม่เพื่อน
พี่เพื่อน น้องเพื่อน เหล่านี้ จึงค่อนข้างเป็นที่สนใจของกลุ่มคนทั่วไป"
จากนั้นเครือข่ายตรงนี้ก็ได้รับการขยายต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากสังคมกลุ่มผู้ใหญ่ก็เริ่มลงมาที่เด็กๆ
และที่สำคัญก็มีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้ว่า คัทลียาไม่ชอบออกงาน ก็จะช่วยเป็นหูเป็นตาหาข่าวมาให้
เพื่อนของเพื่อนก็อาจจะไปตั้งเครือข่าย ไปตั้งกลุ่มที่ไว้ใจ ได้ต่อไปอีกที
"แต่ตัวพี่เองก็ต้องระวังในการเขียนเพราะอาจจะมีคนไม่หวังดี คนไหนที่ชอบส่งข่าวแบบบิดเบือน
ข่าวไม่จริงมา เราก็ต้องตัดออกจะเหลืออยู่เฉพาะข่าวที่มา จากกลุ่มที่เชื่อได้ว่าเป็นจริง
เมื่อก่อนตอนเด็กก็อาจจะมีบ้างที่ไม่ระวังตัว และไม่ทันคิดถึงความยิ่งใหญ่ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ไม่ทันคิดว่า ข่าวถ้าผิดลงไป ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นมันมากกว่าที่เราคาดเพราะจำนวนคนอ่านเยอะมาก
ดังนั้นข่าวบางเรื่องที่ไม่กระทบใครแหย่เล่นกันสนุกสนานก็อาจจะไม่ต้องเช็กข่าวใหม่
แต่บางข่าวหากมันแรงไปก็ต้องเช็กกันหน่อยเหมือนกัน"
ข่าวในคอลัมน์คัทลียา จ๊ะจ๋า จึงไม่ค่อยมีการผิดพลาด หากพลาดก็จะเป็น เพราะตัวเธอเองเสียมากกว่า
ที่อาจจะจำชื่อคนผิดไป เช่น ชื่อของพ่ออาจจะสลับ กับชื่อลูก นามสกุลของบางคนเปลี่ยนไปแล้วแต่เธอยังเขียนนามสกุลเก่า
ทั้งๆ ที่รู้ แต่ก็ลืม ซึ่งเธอบอกว่า เป็นเพราะหน่วยความจำในสมองของเธออาจจะเริ่มเต็มแล้วก็ได้
เพราะข้อมูลส่วนใหญ่เธอไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นระบบนัก
ทำไปทำมาข่าวมันก็ไหลมาเรื่อยโดยไม่ติดขัด แล้วสร้างอิทธิพลบางอย่าง ให้เกิดขึ้นโดยเธอเองแทบไม่รู้ตัว
"เมื่อตอนสาวๆ เวลาออกงาน พี่จะเจอคนอยู่ 2 ประเภท อย่างแรกพอเห็นหน้าเรารู้ว่าเราเป็นใครก็จะรังเกียจทันที
ไม่กล้าที่จะพูดจะคุยด้วย กับอีกพวกคือ เอาอกเอาใจเรามากเกินไป มาพูดคุยด้วย
ตักโน่นตักนี่ให้ทาน แหม! พี่อายมากเลยนะ ทำไมต้องทำกันขนาดนี้ บางทีก็จะเล่าให้เราฟังสารพัดเรื่องเพื่อให้เราเก็บเอามาเขียน
ซึ่งไม่ชอบเลยทั้ง 2 แบบ"
ดังนั้น ทุกวันนี้ การทำงานจริงๆ ของเธอจะนั่งอยู่ชั้น 3 บนสำนักงานของกองบรรณาธิการ
ใกล้ๆ กับห้องทำงานของคอลัมนิสต์คนอื่นๆ ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เช่น ไต้ฝุ่น
หรือนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง ชัย ราชวัตร ที่นี่เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการใหญ่โดยจะนั่งรับข่าวทางโทรศัพท์เอง
หรือส่งสายหาเพื่อนกลุ่มโน้น กลุ่มนี้ เริ่มเข้าทำงานตอนสายๆ ปิดต้นฉบับเสร็จเย็นๆ
ค่ำๆ ก็กลับบ้าน ไปพักผ่อนดูหนัง ฟังเพลง กับสุนัขตัวโปรด 2 ตัว จิบไวน์
จิบวิสกี้ไปเงียบๆ
คัทลียามีลูกชายเพียงคนเดียวที่โตเป็นหนุ่มอายุ 25 ปี กำลังทำปริญญาโทอยู่ที่อเมริกา
ในความเป็นแม่ เธอมีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนเหมือนผู้หญิงทั่วไป เพราะแม้แต่ลายมือลูกที่เขียนไว้ที่ไวท์บอร์ดข้างโต๊ะทำงาน
นานถึง 2 ปีแล้วยังไม่ลบออกเลย "เอาไว้อ่านเวลาคิดถึงเค้า" เธอบอก และเล่าว่าเธอเลี้ยง
ลูกแบบให้ความสนิทสนมกันมาก พูดคุยได้แทบทุกเรื่อง รวมทั้งกอดคอทานเหล้าด้วยกันแบบเพื่อน
ดังนั้นช่วงที่มีความหมายมากในชีวิตก็คือ เมื่อได้บินไปเยี่ยมลูก หรือช่วงเวลาที่ลูกชายกลับมาเยี่ยมบ้าน
และในวันไหนอากาศดีๆ ฟ้าโปร่งๆ ก็พากันขับรถไปพักผ่อนนั่งเล่นดนตรีใต้ถุนบ้านที่ซื้อไว้ที่เขาใหญ่
บางเวลาก็จะนั่งอ่านหนังสือขายหัวเราะคลายเครียด สลับกับการเปิดหน้าสังคมของแมกาซีนเล่มต่างๆ
เพื่อดูรูปคนดังในวงสังคม
"จะได้รู้ว่าหน้าตาคนที่เราเขียนถึงเป็นอย่างไร แซวเขาไว้มากๆ เวลาเจอกันจะได้หลบฉากได้ทัน"
เธอพูดติดตลก
ว่าแต่ว่ามีใครสักกี่คนที่จะรู้ว่า คัทลียา หน้าตาเป็นอย่างไร เดินไปชนเลยก็คงไม่เป็นไรมังคะ