พระเอกของตลาดหุ้นปี 47


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อาจจะเป็น speech ส่งท้ายสำหรับปี 2546 ของกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่สามารถฉายภาพของตลาดทุนในปี 2547 ได้ค่อนข้างกระจ่าง

"บทบาทพระเอกของตลาดทุนในปีนี้ จะอยู่ที่ตลาดแรก คือตลาดที่ธุรกิจนำหุ้นออกมากระจายขายให้กับประชาชนโดยตรง ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นตลาดรอง และเคยเป็นพระเอกมาในช่วง 2 ปีที่แล้ว จะกลายเป็นพระรองไป" กิตติรัตน์กล่าวบนเวที ในฐานะผู้บรรยายรับเชิญในหัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทยในปี 2547"

การบรรยายดังกล่าว เป็นรายการพิเศษของงานเลี้ยงขอบคุณสื่อมวลชน ของบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ ซึ่งจัดขึ้นที่ห้อง Oasis บนชั้นที่ 37 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ในตอนเที่ยงของวันคริสต์มาส ที่เพิ่งผ่านมา

ซึ่งภายในงาน นอกจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ประมาณ 80 คนแล้ว ยังมีผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง ร่วมรับฟังอยู่ด้วยอย่างใจจดใจจ่อ

กิตติรัตน์เริ่มต้นบรรยายด้วยการฉายภาพให้เห็นถึงพัฒนาการของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วง 2 ปีแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งอาจถือได้ว่าเขาเป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ค่อนข้างโชคร้ายที่สุด เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำงานได้เพียง 1 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ช็อกโลก คือการก่อวินาศกรรม อาคารเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์ ใจกลางมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

หลังจากนั้นไม่นาน ก็ยังเกิดปัจจัยจากภายนอกที่เข้ามากระทบกับบรรยากาศการซื้อขายหุ้นอยู่เป็นระลอก ทั้งสงครามรอบใหม่ในตะวันออกกลาง วิกฤติศรัทธาต่อธรรมาภิบาลของผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีในตลาดหุ้นนิวยอร์ก รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส

"แต่ปัจจัยทั้งหมด ไม่อาจหยุดยั้งการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนแล้วว่าวงจรขาขึ้นของเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ได้กลับมาแล้ว"

กิตติรัตน์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ไว้ตั้งแต่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ว่าสิ่งที่เขาต้องการเห็นในระหว่างที่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ คือตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสามารถทำงานเป็นกลไกสำคัญของตลาดทุนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จดังกล่าว คือการใช้ตลาดทุน เป็นกลไกในการระดมเงินทุนให้กับภาคธุรกิจ เพื่อใช้ในการขยายกิจการ

ในการบรรยายพิเศษครั้งนี้ เขายังย้ำในจุดเดิม โดยได้กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้พยายามทำทุกอย่าง เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจในการกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ซึ่งจากมาตรการต่างๆ ที่ได้ทำมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พิสูจน์ได้จากดัชนีราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นจาก 200 กว่าจุดมาถึง 700 จุด มูลค่าการซื้อขายหุ้น ที่เพิ่มขึ้นมาเฉลี่ยวันละ 1.8 หมื่นล้านบาท

ที่สำคัญที่สุด คือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่จากวันแรกซึ่งเขาเข้ารับตำแหน่ง ยังไม่ถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่า 4 ล้านล้านบาท

ความคึกคักของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปี ย่อมส่งผลต่อตลาดแรกที่ภาคธุรกิจจะสามารถเข้ามาใช้ปัจจัยนี้ ในการออกหุ้นใหม่ขายกับประชาชนทั่วไปโดยตรงเพื่อระดมทุน ก่อนที่จะนำหุ้นจำนวนนั้นเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

"ดังนั้นแนวโน้มของตลาดทุนในปี 2547 ไฮไลต์จะอยู่ที่ตลาดแรก เพราะจะเป็นปีที่ธุรกิจมีการขยายงาน และจะมีการระดมทุนโดยตรงจากประชาชนกันเป็นจำนวนมาก"

ซึ่งจากแนวโน้มนี้ เขามองว่าองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการออกหุ้นใหม่ขายกับประชาชนโดยตรงของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์ฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงหน่วยงานที่จะต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุน จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ เพื่อทำให้การระดมทุนสามารถทำได้โดยสะดวก และโปร่งใส

โดยเฉพาะการจัดสรรหุ้นออกใหม่ของบริษัทหลักทรัพย์ ควรจะต้องกระจายไปถึงผู้มีเงินออมโดยตรง มิใช่ให้เฉพาะผู้ที่เป็นลูกค้าเดิม ซึ่งมีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์อยู่แล้ว เพราะจะเป็นการทำให้เงินที่เป็นสภาพคล่องล้นอยู่ในระบบของธนาคารพาณิชย์ ไม่สามารถระบายออกมาได้

แต่ที่สำคัญ หน่วยงานที่กำกับดูแล น่าจะต้องมีการปรับกระบวนการพิจารณาการนำหุ้นออกมาขายให้กับประชาชนทั่วไปใหม่

"หากหนังสือชี้ชวน ยังต้องทำให้หนาเท่ากับสมุดโทรศัพท์ กว่านักลงทุนจะอ่านได้จบ ก็ไม่ทันจองแล้ว กระบวนการเหล่านี้จะต้องมีการปรับเปลี่ยน" เป็นการทิ้งท้ายที่ค่อนข้างชกตรงหมัดที่สุด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.