ขึ้นเครื่องบิน 99 บาท


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ใช้เครื่องบินเป็นพาหนะเพื่อการเดินทาง โดยประหยัดค่าใช้จ่าย จึงเป็นที่มาของโครงการสายการบินราคาถูก (Low-Fare Airline)

หลังเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง แอร์สาวสวย 2 คนในชุดเสื้อนอกสีแดงแขนแค่ศอก คอตั้ง มีซิปด้านหน้า สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวด้านใน กระโปรงสีแดง สวมรองเท้าคัตชูส้นสูงสีดำ เปิดประตูออกมาต้อนรับผู้โดยสาร

เป็นการจำลองห้องบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล ลาดพร้าว ให้เป็นห้องโดยสาร ในงานเปิดตัวขายตั๋วครั้งแรกของสายการบินแอร์เอเชีย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา

รูปแบบการจัดงานเน้นไปที่สีขาวและแดงเป็นหลัก อาทิ โต๊ะแถลงข่าวสีขาว พื้นเวทีสีแดง ฉากหลังที่เป็นป้ายโฆษณารูปเครื่องบินสีขาวพื้นแดง แฟ้มข่าวสีแดง พิธีกรในชุดเสื้อขาว กระโปรงสีแดง ลูกโป่งที่ติดราคา 99 บาท เป็นราคาบัตรโดยสารเครื่องบิน โปรโมชั่นพิเศษในช่วงเปิดสายการบินที่มีให้จองได้เพียง 2 หมื่นที่นั่งภายในวันที่ 19 มกราคม 47 นั้น ยังคงเน้นไปที่สีขาวและแดง เช่นกัน

ด้วยความร่วมมือของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ AirAsia แห่งประเทศมาเลเซีย โดยมีการเซ็นสัญญาความร่วมมือไปเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2546 ภายใต้ชื่อ สายการบิน แอร์เอเชีย (AirAsia) โดยมุ่งหวังจะเป็นสายการบินแห่งประเทศ แต่หลังจากนั้นได้มีการจดทะเบียนบริษัทใหม่ในชื่อ บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด เพื่อตอกย้ำถึงการเป็นสายการบินของคนไทย ด้วยปรัชญาการดำเนินการ ใคร ใคร...ก็บินได้ (Everyone Can Fly)

สายการบิน แอร์เอเชีย จะเริ่มบินเที่ยวแรกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ในเส้นทาง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และจะเปิดเส้นทางการบินไปขอนแก่น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดยเลือกเครื่องโบอิ้ง 737-300 มี 148 ที่นั่ง มีชั้นโดยสารชั้นประหยัดเพียงชั้นเดียวมาให้บริการ และมีศูนย์การบินอยู่ที่กรุงเทพฯ

ทัศพล แบเลเว็ลค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า แอร์เอเชียเป็นสายการบินราคาประหยัดจึงจำเป็นต้องมีการบริหารค่าใช้จ่าย ด้วยการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป เช่น อาหาร บัตรโดยสารเครื่องบิน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 40 ล้านบาทต่อผู้โดยสาร 1 ล้านคน และคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 8-10 เดือน

อัตราค่าโดยสารในราคาปกติจะต่ำกว่าราคาตลาด 20-50% ขึ้นอยู่กับจำนวนที่นั่งที่เหลือในเที่ยวบินนั้น โดยจะเป็นบัตรโดยสารเที่ยวเดียว เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีโอกาสเลือกวัน เวลา และวิธีการเดินทางที่สะดวกที่สุด

บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น และประธานกรรมการ บริษัท ไทย แอร์เอเชีย จำกัด กล่าวว่า จากผลการสำรวจในปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ใช้เครื่องบินเดินทางภายในประเทศเพียง 7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชาชนภายในประเทศ อีก 90% ที่เหลือไม่สามารถจ่ายเงินค่าเดินทางโดยเครื่องบินได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นฐานลูกค้าสำคัญของเรา โดยในปี 47 ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีผู้มาใช้บริการ 1 ล้านคน

การสำรองที่นั่งทำได้ 4 วิธี คือ ผ่านศูนย์บริการลูกค้า ที่หมายเลข 0-2515-9999, ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต www.airasia.com, ศูนย์บริการลูกค้า AIS เฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และเคาน์เตอร์แอร์เอเชีย สนามบินดอนเมือง

หลังจากพิธีกรเชิญบุญคลี ปลั่งศิริ และคณะผู้บริหารร่วมกันกดปุ่ม โดยใช้เสียงเครื่องบินเป็นสัญญาณบอกถึงการเปิดจองบัตรโดยสารเครื่องบินอย่างเป็นทางการแล้ว ลูกโป่งสีขาวและแดง ที่เขียนคำว่า AirAsia และตัวเลข 99 ไว้ข้างลูกโป่ง ตามด้วยกระดาษสีต่างๆ ถูกลมเป่าให้ลอยขึ้นมาในอากาศ ซึ่งเป็นกิมมิคสุดท้ายของการเปิดตัวในวันนั้น

ความพิเศษของงาน นอกจากโปรโมชั่นบัตรโดยสารเครื่องบินราคาพิเศษ 99 บาท ราคาเดียวทุกเที่ยวบิน (ยังไม่รวมค่าภาษีสนามบิน 50 บาท ค่าประกันชีวิต 50 บาท ค่าธรรมเนียมการจอง 50 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ยังได้มีการโชว์โฆษณาในชุด ใคร ใคร...ก็บินได้ และเปิดเพลง ใคร ใคร...ก็บินได้ ที่แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และขับร้องโดยเทียรี่ เมฆวัฒนา เป็นครั้งแรก ซึ่งสะท้อนถึงปรัชญาการดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมายของแอร์เอเชียอย่างชัดเจน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.