UK Strategy Education and Training Means Business

โดย วิลาวรรณ ผคังทิว
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

จากข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.britishcouncil.org/ecs/pmi/ ระบุถึงการที่รัฐบาลอังกฤษได้ริเริ่มประกาศ Prime Minister's Initiative (PMI) แผนยุทธศาสตร์ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการดึงดูดนักเรียนต่างชาติให้เข้าไปเรียนในอังกฤษ ให้ได้เพิ่มขึ้น 75,000 คน ภายในปี 2548 โดยหวังให้คนเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์เชิงการค้าและการทูตในระยะยาวต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน Ministry for International Trade and Investment ของอังกฤษ มีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนว่า เฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของอังกฤษมีมูลค่าสูงประมาณ 8,000 ล้านปอนด์ ในแต่ละปี

การเดินหน้าโปรโมตธุรกิจการศึกษาให้กระจายครอบคลุมทั่วโลก จึงเป็นไปภายใต้แนวคิด "การศึกษาและการฝึกอบรมคือธุรกิจ" (Education and Training Means Business) โดยมีหน่วยงานต่างๆ เช่น Trade Partners UK รวมถึง British Council และ Department of Education and Skills ร่วมกันโปรโมตให้หน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ SMEs ไปจนถึงสถาบันการศึกษา ตระหนักถึงโอกาสและศักยภาพทางธุรกิจการศึกษาและฝึกอบรมที่อังกฤษเองมีอยู่เต็มเปี่ยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างประเทศของสินค้าในเซกเตอร์นี้มากยิ่งขึ้น

"อังกฤษมีความเชื่อมั่นว่าสามารถนำเสนอสินค้าด้านทักษะความรู้และผลิตภัณฑ์ อันเป็นที่ต้องการในตลาดโลก ซึ่งยังต้องการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจดี โดยมีชื่อเสียงด้านความเป็นเลิศทางการศึกษา มาตรฐานการฝึกอบรม นวัตกรรม สื่อการเรียนการสอน และซอฟต์แวร์ ตลอดจนการบริการลูกค้า เป็นจุดแข็งในการทำตลาด" เป็นวิสัยทัศน์ของ Minister for International Trade and Investment ที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.overseas-trade. co.uk

ตามแผนกลยุทธ์การค้าระหว่างประเทศด้านการศึกษาและฝึกอบรม อังกฤษมีแผนส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมในทุกๆ ด้านคือ การศึกษาระดับสูง การทำวิจัย การฝึกอบรมในองค์กร การศึกษาต่อเนื่อง การอบรมวิชาชีพ การศึกษาผู้ใหญ่ ระบบการจัดการบริหารโรงเรียน การฝึกอบรมครู อุปกรณ์การเรียนการสอน หนังสือ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนเนื้อหาหลักสูตร การส่งเสริมการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต ผู้เชี่ยวชาญการฝึกอบรมเฉพาะทาง (เช่น น้ำมันและก๊าซ, บริการทางการเงิน) การบริหารจัดการการศึกษาและฝึกอบรม และการเป็นที่ปรึกษาการปฏิรูประบบ ไปจนถึงการสอนภาษาอังกฤษ

ซึ่งสินค้าและการบริการนั้นรวมถึงนักเรียน นักศึกษานานาชาติ ที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมของอังกฤษ, การจัดฝึกอบรมวิชาชีพหรือการเพิ่มความเชี่ยวชาญทั้งในอังกฤษและในต่างประเทศ, การให้คำปรึกษาและการฝึกอบรมโดยบริษัทหรือองค์กรจากอังกฤษ, การส่งออกหนังสือ อุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ วัสดุ และเนื้อหา, หลักสูตรการศึกษาทางไกลและ e-learning, การทดสอบคุณสมบัติและให้การรับรอง และการวางมาตรฐานต่างๆ

ทั้งนี้ภาวะตลาดด้านการศึกษาและฝึกอบรมในปี 2546 อังกฤษครองส่วนแบ่งตลาดนักเรียนนักศึกษานานาชาติอยู่ถึง 22% และมีอัตราการเติบโตถึง 11% ทั้ง ยังพบว่ามีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของอุปกรณ์การศึกษา สินค้าเกี่ยวเนื่อง หนังสือและวัสดุอุปกรณ์ และตลาดการศึกษาทางไกลและ e-learning มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขันในตลาดการศึกษาและฝึกอบรม อังกฤษเองก็ต้องเผชิญกับคู่แข่งที่สำคัญหลายราย คือกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษคือ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งกลุ่มประเทศในแถบชายฝั่งแปซิฟิกที่นับเป็นผู้ผลิตรายใหม่ในตลาดนี้ ได้แก่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย แต่การรักษาส่วนแบ่งตลาดยังคงทำได้เนื่องจากความต้องการในตลาดมีปริมาณสูง ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ข้อสอบของอังกฤษอยู่ราว 3 ล้านฉบับ และปัจจุบันมีนักศึกษานานาชาติเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาที่อังกฤษมากถึง 270,000 คนทีเดียว

ในประเทศไทยนั้น British Council เป็นองค์กรที่มีบทบาทหลัก ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ทำการตลาดให้กลุ่มเป้าหมายตระหนัก และยอมรับในคุณภาพการศึกษาและฝึกอบรมจากอังกฤษ, ช่วยหากลุ่มเป้าหมายให้กับผู้ส่งออกทั้งรายเก่าและรายใหม่, บริหารจัดการการให้ทุน Chevening Scholarships, จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศ, สร้างความร่วมมือด้านเทคนิค, จัดการเรียนการสอนหลักสูตร ร่วมกับระบบการศึกษาในอังกฤษ, จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาต่างๆ ตลอดจนการสนองภารกิจของรัฐบาลและจัดหาข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนโยบายต่างประเทศและการส่งเสริมโอกาสทางการค้าการลงทุนส่วนอื่นๆ ด้วย

จะเห็นได้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในแผนการดำเนินงานล่าสุดของ British Council ที่วางแผนขยาย สาขาใหม่ 3 สาขา ในภูเก็ต หาดใหญ่ ขอนแก่น ภายใน 15 เดือนข้างหน้า, การจัดนิทรรศการ Thai-UK Education Festival ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-12 กุมภาพันธ์ พร้อมกันทั้งในกรุงเทพฯ-เชียงใหม่-หาดใหญ่, การจัดเสวนากลุ่ม ย่อยกับบุคคลในกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อาทิ ครูนักกฎหมาย สถาปนิก นักออกแบบ และคนในวงการศิลปะและวรรณกรรม, การให้ทุน Chevening แก่นักเรียนไทย เพื่อศึกษาต่อในอังกฤษ หรือ แม้กระทั่งการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในห้องเรียนของ British Council อย่างเช่น Interactive Board เป็นต้น

Peter Upton ผู้อำนวยการ British Council ประจำประเทศไทย เคยกล่าวไว้ว่า "เราทุกคนปรารถนาให้บริติช เคานซิล เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวไทย และเราจะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยสู่ภายนอกด้วย... เราต้องการทำงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ตลอดชีวิตระหว่างประเทศไทยและอังกฤษ โดยผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความร่วมมือ"

นอกจากนั้น ยังมีการผนึกหลายองค์กรเข้ามาร่วมกันทำงาน ได้แก่ UK Trade & Investment, Department for Education Skills (DfES), Education and Training Export Group (ETEG), British Council, Support for Exhibitions and Seminars Aboard (SESA) และอีกหลายองค์กร รวมทั้งหอการค้าอังกฤษ (British Chamber of Commerce) ซึ่งมีคณะกรรมการย่อยเกี่ยวกับการค้า ด้านต่างๆ คอยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แก่นักลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ได้ภายในปี 2548



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.