เรื่องราวของเสริมสิน สมะลาภา CEO ของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน)
บริษัทที่เพิ่งผ่านแผนฟื้นฟูกิจการและโครงสร้างใหม่
มีผู้ถือหุ้นกลุ่มใหญ่หลายฝ่ายกับรูปแบบการทำธุรกิจ
ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทยเป็น Case Study หนึ่งที่น่าสนใจ
การเปิดตัวบริษัทครั้งใหม่กับสาธารณชน ผ่านไปประมาณ 6 เดือน ในวันที่ 12
ธันวาคม 2546 รายงานการวิจัยเรื่อง "ภาพลักษณ์องค์กรของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
แนเชอรัล พาร์ค" ถูกส่งถึงมือผู้บริหาร
ผลการวิจัยส่วนหนึ่งระบุว่าหากเปรียบเทียบกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ
ที่มีอยู่ในเมืองไทยปัจจุบัน "Brand Image" ของแนเชอรัล พาร์ค มีค่าน้อยมาก
ในขณะที่บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็น "Top of Mind" ในเรื่องชื่อเสียง
แต่บริษัทแนเชอรัล พาร์ค กลับเป็นบริษัทที่ผู้คนยังจำได้ในเรื่องราวเก่าๆ
เช่น การเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ การเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นในขณะที่ภาพปัจจุบันคือ
จอมเทกโอเวอร์
กลยุทธ์การเข้าไปซื้อกิจการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเข้าไปรุกทุกเซกเมนต์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นจุดอ่อนที่สังคมไทยยังไม่คุ้นเคย และไม่เข้าใจว่าตกลงทำโครงการอะไรกันแน่ ทั้งๆ
ที่สินค้าเหล่านั้นอยู่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุด
ในรายงานยังระบุถึงองค์กรที่มีภาพพจน์ดีที่สุดในประเทศ องค์กรที่มีภาพพจน์ดีที่สุดด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
สิ่งที่จำได้เกี่ยวกับบริษัทแนเชอรัล พาร์ค และบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่อื่นๆ
จุดด้อย จุดแข็ง และ Brand Personality
การเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทที่เพิ่งผ่านแผนฟื้นฟูฯ มีนโยบายในการทำธุรกิจที่ดูก้าวร้าว
รุนแรง ในสไตล์ของ Capital Investment มากกว่าภาพของ Developper ที่คนไทยคุ้นเคยในขณะเดียวกันโครงสร้าง
ใหม่ยังประกอบไปด้วยผู้ถือหุ้นใหญ่หลายกลุ่ม น่าจะสร้างความกดดันให้เสริมสินพอสมควร
บทบาทของเขาจำเป็นอย่างมาก ที่ต้องทำความเข้าใจกับสาธารณชน ต้องสร้าง "ภาพพจน์"
ใหม่ขององค์กร คอยประสานความคิดของกลุ่มทุนให้ไปในทิศทางเดียวกัน และยังต้องผลักดันโครงการให้เกิดขึ้น
และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่วางแผนไว้ด้วย
เสริมสินเป็นสถาปนิกที่ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนของ Warren Buffett
อย่างมาก อิทธิพลทางความคิดที่มีเรื่องราวของ Buffett มีส่วนให้เขากล้าเข้ามาทำธุรกิจซื้อมาขายไปตั้งแต่สมัยเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในวัย 35 ปีกับตำแหน่ง CEO ของ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมีกลยุทธ์การ
เติบโตอย่างน่าสนใจ เสริมสินคือตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ผู้มีภูมิหลังจากครอบครัวข้าราชการธรรมดา
และมีเพียง "ทุน" ของตัวเอง พ่อของเขาคือ ประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นชาวจังหวัดระยอง ผู้เรียนเก่งจนสามารถสอบเข้าเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ ประเสริฐเคยเป็นลูกศิษย์อาจารย์อรุณ ชัยเสรี เป็นรุ่นพี่ของ
อนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์
"ผู้จัดการ" มีโอกาสพบเขาในเช้าวันหนึ่งที่บ้านในซอยจอมพล ถนนลาดพร้าว
เป็นบ้านดั้งเดิมที่อยู่มาตั้งแต่เกิด และปัจจุบันยังเป็นลูกคนเล็กที่คอยดูแลพ่อแม่
ส่วนสรรเสริญ พี่ชายเพียงคนเดียวแต่งงาน แยกบ้านไปแล้ว แต่คงแวะเวียนมาพร้อมภรรยาและลูกวัย
4 ขวบด้วย
การพูดคุยในวันนั้นได้สะท้อนวิธีคิด และการใช้ชีวิตอีกด้านหนึ่งของเขา
เสริมสินเริ่มเล่าย้อนชีวิตในวัยเด็กให้ "ผู้จัดการ" ฟังท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่น
บ้านรูปตัวแอลหลังนี้มีพื้นที่ไร่ครึ่ง ปลูกสร้างมานานเกือบ 40 ปี เป็นบ้านหลังที่
3 ของซอยนี้ ต้นมะม่วง ต้นกระท้อน หรือชมพู่มะเหมี่ยวหลายต้น จึงได้แผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต
ท่ามกลางสวนหย่อมเล็กๆ ที่ดูเป็นระเบียบ สวยงาม
เขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นในตอนนั้น
ซึ่งเป็นคนดังในวันนี้ คือ จักรภพ เพ็ญแข วสุ แสงสิงแก้ว นันทนา บุญหลง แต่ละคนมีความสามารถโดดเด่นตั้งแต่เล็ก
ในขณะที่เขาบอกว่า ตนเองไม่มีอะไรเด่นเลย เรียนหนังสือก็ไม่เก่ง โชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ในเรื่องของการศึกษา
เพราะเชื่อว่าเหมือนทรัพย์สินที่ยิ่งแบ่งแล้วยิ่งมีมากขึ้น รวมทั้งหาโอกาสพาลูกชาย
2 คน ไปเปิดหูเปิดตาในต่างประเทศ และสถานที่ต่างๆ ตลอดเวลา
การสนใจในเรื่องการลงทุน และพัฒนาที่ดินของเสริมสิน เริ่มขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนิสิต
หน้าใสของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงนั้นเป็นยุคทองของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลูกศิษย์ของบรรดาปรมาจารย์ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย เช่น รังสรรค์ ต่อสุวรรณ มานพ พงศทัต กฤษฎา อรุณวงษ์ฯ เขาก็เลยได้มีโอกาสเข้าร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน
เรื่องการลงทุนทางด้านพัฒนาที่ดินด้วย
"คุณพ่อให้เงินสมัยเรียนจุฬาฯ เดือนละ 3 พันบาท ไม่พอหรอกครับ แล้วผมก็ชอบเที่ยวและรู้จักรุ่นพี่ต่างคณะเยอะ ตอนนั้นเศรษฐกิจบูมมาก ผมเรียนปี 2 ปี
3 ก็ไปรับงานเขียนแบบมาทำ ตัดกระดาษทำโมเดล เขียนแบบหามรุ่งหามค่ำทำหมด ได้เงินมาทีก็เก็บไว้บ้าง เที่ยวบ้าง"
พอย่างเข้าชั้นปีที่ 4 เขาก็ตั้งบริษัท "ไอดีล อาคิเทค" นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการรับงานเขียนแบบกับเพื่อนๆ
"ตอนตัดสินใจไปเรียนต่อที่เมืองนอก ผมก็เลิกทำบริษัท ได้เงินมาในตอนนั้น
8-9 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เงินที่ได้ก็เอาไปลงทุนในตึกที่พวกรุ่นพี่จ้างให้เขียนแบบ
ขอเป็นหุ้นเล็กๆ 1 เปอร์เซ็นต์ 2 เปอร์เซ็นต์บ้าง เคยได้คอนโดมาห้องหนึ่ง
ขายได้เงินมาก็ลงทุนต่อในโครงการที่ซอยทองหล่อ ก็สะสมเงินมาพร้อมกับไปลงทุนในหุ้นโน้นหุ้นนี้"
การไปศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยี แห่งแมสซาชูเซตต์ (MIT) ได้ตอกย้ำให้เขาเข้าใจคำว่า เรียลเอสเตท ได้ชัดเจนขึ้น ที่นั่นเขายังได้เป็นลูกศิษย์ของ
Sam Zale Chairman ของกองทุนอสังหาริมทรัพย์หลายกองทุนที่ใหญ่มากในสหรัฐฯ
"รายได้ของกองทุน Sam Zale มาจากการเช่าอย่างเดียวเขาเล่าว่า ตอนธุรกิจอสังหาฯ พัง ได้ระดมเงินไปซื้อหนี้เสียมาทำต่อ ผมก็เลยตั้งใจว่าเรียนจบกลับมาจะหาโอกาสระดมทุนกับเพื่อน
ตอนนั้นคิดซื้อตึกเล็กๆ สัก 1-2 ตึก เป็นการซื้อหนี้มาทำต่อ"
จบ MIT กลับมา เสริมสินไปเป็นอาจารย์สอนวิชาการเงินอสังหาริมทรัพย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์การบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามคำชวนของ รศ.มานพ พงศทัต
เป็นอาจารย์หนุ่มรูปหล่อที่สอนเก่ง จนรู้จักกันดีทั้งคณะ และยังสอนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเรื่องการจราจร
และผังเมืองอีกด้วย พร้อมๆ กับการตั้งบริษัทดิจิตอล แอสเซ็ท เจ้าของระบบ
"มิสเตอร์ โฮม สวัสดีครับ" ให้บริการข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ทางอินเทอร์เน็ต
และโทรศัพท์ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาระบบนี้เป็นต้นแบบของบริษัท ดอทคอมต่างๆ
ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์
ต่อมาดิจิตอล แอสเซ็ท ถูกขายให้กับเครือเนชั่น บริษัทที่เสริมสินเคยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
1 ใน 20 รายแรกอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนกลายเป็นบริษัทไทยแลนด์ ดอทคอม
วันนี้เขากำลังวางแผนจะซื้อไทยแลนด์ ดอทคอม กลับมาทำต่อโดยหวังว่าจะได้ร่วมหุ้นกับรัฐบาล
ที่น่าจะใช้ประโยชน์จากเว็บไซต์นี้ได้ดีที่สุด
บุคลิกของนักวิชาการที่มีความรู้ทางด้านการเงินของการพัฒนาที่ดิน ผนวกรวมกับความสุภาพอ่อนน้อม ทำให้เขาเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกจับตามอง และเสนอชื่อให้เป็นกรรมการคนหนึ่งของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
บทบาทตรงจุดนั้นสร้างโอกาสให้เขาได้ทำงาน ร่วมกับเจ้าของโครงการดังๆ ของเมืองไทยมากมาย
และทำให้เขาได้รู้จัก ทศพงศ์ จารุทวี หรือคนที่เขาเรียกติดปากว่า "พี่เบ้ง"
ในเวลาต่อมา
เมื่อช่วงวิกฤติเศษฐกิจเกิดขึ้นโอกาสของเสริมสินก็มาถึง เขาตั้งใจจะเข้าไปซื้อหนี้เสียมาทำต่อ
ตามคำสอนของ Sam Zale และตามหลักทฤษฎีของ Warren Buffett แต่ "พี่เบ้ง" กลับแนะนำว่า
"ระดมทุนคนเดียวไปไม่รอดหรอก มันต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้วย เพระทุนต้องใช้ตลอด ทำไมไม่หาทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยล่ะ เอาไหม
แนเชอรัล พาร์ค ตอนนี้มีแต่เปลือก มีกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมอยู่หน่อย แล้วคุณเข้ามาสวมตรงนี้เลย"
นี่คือจุดเริ่มต้นในการเข้ามาบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ตามคำบอกเล่าของเสริมสิน
โดยวิธีการนี้ แน่นอนทำให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้เร็ว เพิ่มทุนได้เร็ว พันธมิตรแต่ละกลุ่มก็เลยเกิดขึ้น
โดยเขาได้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 และนับตั้งแต่นั้นมาคือช่วงเวลาที่ทำงานหนักที่สุดในชีวิต
การจัดการบริหารองค์กรที่มีทั้งคนเก่าคนใหม่ ปะปนกันโดยแต่ละคนก็มาจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน
เป็นเรื่องหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญ
เสริมสินได้ว่าจ้างบริษัท KPMG มาเป็นที่ปรึกษาปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท
ดูศักยภาพของคนทั้งหมด รวมทั้งศึกษาโครงสร้างเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นๆ ในสายธุรกิจเดียวกัน
คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่กำลังทยอยเข้ามา โดยเสริมสินเป็นผู้คัดเลือก
"การได้คนเก่งเข้ามามันช่วยให้งานเดินไปแล้วระดับหนึ่ง ผมคัดเลือกคนใหม่เอง
พวกรุ่นน้องที่เคยเรียนที่ MIT คนไหนเก่ง เก่งด้านไหน ถูกตามตัวมา การที่วัยไม่ห่างกันมากนัก
ทำให้ผมเข้าใจเขาได้ระดับหนึ่ง รู้ว่าเขาต้องการงานที่ท้าทายทำ ในขณะเดียวกัน
ก็ต้องได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วย จะหวังให้มากัดก้อนเกลือกินคงไม่ได้ และที่สำคัญ
คนรุ่นนี้ยึดมั่นในเรื่องสัญญามาก"
นโยบายการสร้างพันธมิตรกับบริษัทที่เข้าไปร่วมทุน ทำให้แนเชอรัล พาร์ค
มีคนที่มีความสามารถกระจัดกระจายตามบริษัทต่างๆ จำนวนหนึ่ง บุคลากรเหล่านี้แบ่งออกเป็น
2 ส่วนใหญ่คือ คนในโครงการสร้างเพื่อขายกับให้เช่า ซึ่งเสริมสินกำลังศึกษาดูว่าคนของบริษัทในเครือทั้งหมด
ใครมีความสามารถทางด้านไหนก็เอามารวมกันแทนที่จะต่างคนต่างทำ โครงสร้างใหม่จะเสร็จภายใน
2 เดือนนับจากนี้
พื้นฐานและการเลี้ยงดูของครอบครัวคนชั้นกลาง ทำให้เสริมสินเป็นคนหนุ่มที่มีท่าทีอ่อนน้อม มีลักษณะของการประนีประนอมสูง มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และเขายังเป็นคนที่ไม่หยุดนิ่งกับการแสวงหาความรู้ใหม่
โดยเฉพาะเรื่องไอทีและการลงทุน
"ผมเป็นคนธรรมดามาก มีไปเที่ยวบ้างกับพวกน้องๆ ที่บริษัท ถ้าไม่ไปก็กลับบ้าน
มานอนอ่านหนังสือ จะได้ไปพักผ่อนจริงๆ กับครอบครัวปีละประมาณ 2 ครั้ง เปลี่ยนที่ไปเรื่อยตามสถานที่ที่เขานิยมไปนั่นล่ะ" และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาปฏิเสธการไปเล่นกอล์ฟ กีฬาที่ใช้เวลามาก
แต่กีฬาที่เขาให้ความสำคัญทำเป็นกิจวัตรทุกเช้า เพื่อบริหารสมองให้ปลอดโปร่งคือวิ่งอย่างน้อยวันละ
30 นาที โดยอาจจะวิ่งบนเครื่องวิ่งที่บ้าน โปโลคลับ หรือที่สวนลุมพินี
ในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมานี้ เสริมสินแทบไม่มีเวลาว่างในวันเสาร์-อาทิตย์
เพราะวันดังกล่าวถูกกำหนดเป็นวันเยี่ยมไซต์งานตามโครงการต่างๆ ในต่างจังหวัด
โดยเฉพาะโครงการที่ภูเก็ต เกาะสมุย และเชียงใหม่ รวมถึงการเดินทางไปต่างประเทศ
ดูงานโรงละคร รถไฟฟ้าใต้ดิน และโครงการตึกสูงต่างๆ
ไม่แปลกใจเลยว่า ท่ามกลางใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง
มีวี่แววแห่งความเหนื่อยล้าฉายวูบขึ้นมาเป็นระยะ
เสร็จสิ้นจากการพูดคุย และถ่ายภาพ เสริมสินขอตัวไปซื้อของขวัญวันเกิดให้คุณพ่อ
ก่อนจะไปสนามบินดอนเมืองเดินทางต่อไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อดูสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่เมืองโอซากา
โดยมีกำหนดเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้ทันการประชุมในเช้าวันจันทร์
ก่อนที่จะเดินทางต่อไปดูงานในตึกแฝด "เปโตรนาส" ในวันอังคารที่ประเทศมาเลเซีย