ขุมทรัพย์ N-Park

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

รายได้หลักของแนเชอรัล พาร์ค ในอนาคต ถูกกำหนดไว้ 2 ส่วน คือจากการขาย และรายได้จากการเช่า ซึ่งปัจจุบันมีที่มาสำคัญจากสองบริษัท คือ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน)

ทั้ง 2 บริษัทมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว

บริษัทแสนสิริ เดิมทีมาจากการรวมตัวกันทำธุรกิจของตระกูลพี่ตระกูลน้องสองตระกูล คือ จูตระกูล และล่ำซำ โดยมีอภิชาติ ลูกชายคนที่ 2 ของชนาทิพย์ น้องสาวบัญชา ล่ำซำ ที่แต่งงานกับโชติ จูตระกูล และเศรษฐา ลูกโทนของชดช้อย จูตระกูล ซึ่งแต่งงานกับอำนวย ทวีสิน เป็นตัวแทนคนรุ่นที่ 2 ทำหน้าที่ในการบริหารบริษัทของตระกูล (จากเรื่อง แสนสิริ Turn Around โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเมษายน 2542)

น้องสาวคนหนึ่งของโชติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของอภิชาติ แต่งงานกับ ดร.ประภาส จักกะพาก มีลูกชายคนหนึ่งชื่อปิ่น ดังนั้น อภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการบริษัทแสนสิริ คือลูกผู้พี่ของปิ่น จักกะพาก นี่คือที่มาอันเชื่อมโยงไปถึง "ข่าวลือ" ที่ว่า การซื้อหุ้นของแนเชอรัล พาร์ค ได้มาจากเงินของปิ่น จักกะพาก

ในขณะเดียวกัน ทศพงศ์ จารุทวี อดีตกรรมการของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด ก็คือน้องเขยของเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ เพราะน้องสาวของหมอพักตร์พิไล ทวีสิน คืออดีตภรรยาที่เลิกรากันมานานของทศพงศ์

ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ 2 ผู้บริหารหนุ่มจากแสนสิริ ใช้กลยุทธ์บุกสร้างโครงการอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับปิ่นที่กำลังสร้างอาณาจักรลูกโป่งที่เอกธนกิจ เมื่อฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 แสนสิริมียอดหนี้สินถึง 3,618 ล้านบาท จนในที่สุดต้องยินยอมให้บริษัทสตาร์วูด แคปปิตอล กรุ๊ป จากสหรัฐฯ เข้ามาร่วมทุน มีผลให้สัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 2 ตระกูลในเวลานั้นจาก 72 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 13 เปอร์เซ็นต์

ต่อมากลุ่มสตาร์วูดได้ขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง และแนเชอรัล พาร์ค ไปซื้อหุ้นตัวนี้ต่อมาจากกลุ่มนั้นเมื่อประมาณเดือนมกราคม 2546

ปัจจุบันแสนสิริเป็นบริษัทที่กำลังเติบโตอย่างมาก มีโครงการที่อยู่อาศัย หลายโครงการที่อยู่ในระหว่างการขาย ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมในเมือง และคอนโดตากอากาศที่หัวหิน

ส่วนบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ คือผลพวงการทำธุรกิจแบบ "นักล่าซื้อกิจการ" และการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบ "แบ็กดอร์ลิสติ้ง" ของวินัย พงศธร นักลงทุนชื่อดังในอดีต เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คลาสสิกอย่างมากของวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทย

เดิมทีบริษัทนี้มีมหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซีย ลิมซูเหลียง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาขายให้กับวินัย พงศธร กรรมการผู้จัดการของบริษัทเฟิสท์ แปซิฟิค แลนด์ ในขณะนั้น

สไตล์การทำงานของบริษัทคือ นักซื้อกิจการ ซื้อมาขายไป มากกว่านักพัฒนาที่ดิน เช่น ซื้ออาคารทานตะวัน มาปรับปรุงในราคา 600 ล้าน แต่ปล่อยขายให้กับคีรี กาญจนพาสน์ ในราคา 1,000 ล้านบาท ซื้อตึกสหกลแอร์ จากนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ พัฒนาเป็นตึกวันแปซิฟิค เข้าไปถือหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ ในโครงการที่แหลมพันวา ภูเก็ต ซื้อกิจการโรงแรมภูเก็ต ยอช์ทคลับ และโรงแรมเลอเมอริเดียน ของ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล

หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2535 กลุ่มนี้ได้ลดความหวือหวาลง และต่อมาวินัยได้ขายหุ้นทั้งหมดออกไป กลุ่มวิงไทย กรุ๊ป อินเตอร์แนเชอรัล จากไต้หวันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และในปีที่ผ่านมา

กลุ่มนี้ก็ได้ขายให้กับแนเชอรัล พาร์ค ทรัพย์สินของแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ ในปัจจุบันคือ โรงแรมเลอเมอริเดียน ภูเก็ต บีชรีสอร์ท โรงแรมรอยัล เมอริเดียน ภูเก็ต ยอช์ทคลับ และโรงแรมเลอรอยัล เมอริเดียน บ้านตลิ่งงาม ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวอยู่ในทำเลที่สวยงามมาก เพราะ ม.ล.ตรีทศยุทธ เจ้าของเดิมนั้นเป็นนักพัฒนาที่ดินรายแรกๆ ที่เข้าไปเลือกหาซื้อที่ดินเพื่อทำโรงแรมหรูในจังหวัดภูเก็ต และยังมีอาคารสำนักงานอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น พันธุ์ทิพย์ คอร์ท อาคารสำนักงาน วัน และทู แปซิฟิค เพลส และอาคารนายเลิศ

ในปี 2546 สิ้นเดือนกันยายน บริษัทนี้มีรายได้จากค่าเช่า 633 ล้านบาท จากที่เคยทำได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ในปี 2544

แนเชอรัล พาร์ค กำลังวางแผนปรับปรุงทุกโรงแรมใหม่ เพื่อหวังต่อยอดรายได้ให้เพิ่มขึ้นในเร็วๆ นี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.