N-Park's Growth New Strategy Old Tactics

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ทันทีที่แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) บริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวกว่าหมื่นล้านบาท ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ เม็ดเงินจากการระดมทุนครั้งใหม่ถูกหว่านออกไปซื้อบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรุกเข้าสู่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ทุกเซกเมนต์ ตาม New Consumption Pattern ภายใต้ Business Model ใหม่ เกิดคำถามมากมายว่า คุณเป็นใคร Operater Deal Maker or Investor ท่ามกลางความกดดัน เสริมสิน สมะลาภา CEO คนใหม่ จะมีวิธีการจัดการอย่างไร ยุทธศาสตร์ครั้งใหม่นี้จึงน่าสนใจอย่างมาก

ยุคแรกเมื่อปี พ.ศ.2536 บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสไตล์การทำธุรกิจธรรมดาไม่หวือหวา เช่นเดียวกับตัวตนของทศพงศ์ จารุทวี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว

ทศพงศ์ และบริษัทแนเชอรัล พาร์ค เริ่มมีเรื่องราวและสีสันมากขึ้นเมื่อไปซื้อโครงการ สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์ ของปัญญา ควรตระกูล สนามกอล์ฟวิลสันของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และสันติ ภิรมย์ภักดี เมื่อปี 2538 เป็นเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท พร้อมๆ กับเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวจัดสรรหลายโครงการ ทศพงศ์เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟที่ไม่เล่นกอล์ฟ แต่เขาซื้อด้วยจิตวิญญาณของนักธุรกิจ ที่หวังว่าจะได้พัฒนาที่ดินรอบๆ สนามกอล์ฟ (จากเรื่อง "ฝ่ามรสุม ปัญญา ควรตระกูล" โดยอรวรรณ บัณฑิตกุล ฉบับเดือนธันวาคม 2538)

ความหวังของเขาไม่ทันเริ่มต้นเศรษฐกิจก็พังทลาย ชื่อของเขาดังขึ้นมาวูบเดียวแล้วหายไป ส่วนบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลด้วยหนี้สินกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2543

3 มิถุนายน 2546 บริษัทแนเชอรัล พาร์ค เปิดตัวครั้งใหม่อย่างใหญ่โตที่โรงแรม เลอ รอยัล เมอริเดียน ในโอกาสปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จ และผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ทศพงศ์ จารุทวี ซึ่งยังปรากฏชื่อเป็นกรรมการไม่ได้เข้าร่วมเปิดตัวในวันนั้น มีแต่ทีมงานบริหารชุดใหม่คือ เสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ เถาถวัลย์ ศุภวานิช กรรมการบริหารฝ่ายการเงิน และ คนเก่าแก่อย่าง ไพศาล ตั้งยืนยง เป็นกรรมการบริหารฝ่ายก่อสร้าง เป็นผู้ร่วมแถลงข่าว

วันนั้นสาธารณชนได้รับรู้ว่าในเดือน มกราคม 2546 แนเชอรัล พาร์ค สามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แล้ว 1,908 ล้านบาท และอีก 1,947 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม เงินทุนใหม่ได้ถูกนำไปซื้อโครงการในซอยหลังสวนและถนนชิดลม 2 โครงการมาพัฒนาต่อเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และอาคารสำนักงานรวมทั้งไปซื้อที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต มาเตรียมสร้างเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว

หลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สิน ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของแนเชอรัล พาร์ค มีโครงการอพาร์ตเมนต์ แนเชอรัล พาร์ค ในซอยสุขุมวิท 39 เพียงโครงการเดียว

เดือนพฤศจิกายน 2546 แนเชอรัล พาร์ค สามารถระดมทุนได้อีก 4,029 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท

ตามโครงสร้างใหม่แนเชอรัล พาร์ค มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ทศพงศ์ จารุทวี กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ สว่าง มั่นคงเจริญ และกลุ่ม E-Street Properties

E-Street Properties เป็นกองทุนของ Michael Sofaer ชาวอังกฤษ ซึ่งได้เข้ามาซื้อบ้านในอมันบุรี และรู้จักกับ Adrian Zecha ผู้ก่อตั้ง "อมันบุรี รีสอร์ท" ที่โด่งดังไปทั่วโลก Adrian คือผู้ก่อตั้งบริษัท GHM บริหารโรงแรม รีสอร์ต และสปาชั้นนำของโลก และเป็นผู้สร้างเชน Setai และ Chedi ซึ่งมาทำโรงแรมหรูให้กับแนเชอรัล พาร์ค ที่เชียงใหม่ และภูเก็ต Adrian เป็นคน แนะนำกลุ่มนักลงทุนนี้ให้กับผู้ใหญ่ คนหนึ่งของกลุ่มแนเชอรัล พาร์ค

ส่วนสว่าง มั่นคงเจริญ คืออดีตผู้บริหาร บงล.ไทยรุ่งเรืองทรัสต์ ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มเจ้าหน้าที่ บริหาร บมจ.สยามซินเท็ค คอนสตรัคชั่น

ท่ามกลางสายตาของสาธารณชน และสถาบันการเงินที่จับ ตาดูอย่างไม่กะพริบ สว่างกับทศพงศ์ คงไม่เหมาะแน่นอนในการขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กรส่วนเสริมสิน คือคนหนุ่มรุ่นใหม่จบจากสถาบัน MIT ที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน การลงทุน สามารถคุยกับกลุ่มทุนต่างประเทศได้

โมเดลใหม่นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย การเริ่มต้นภาคใหม่ของแนเชอรัล พาร์ค จึงน่าศึกษาอย่างมาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.