เผยกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพของ Nissan ที่สร้างความได้เปรียบ
เหนือผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งสามของสหรัฐฯ
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ "3 ผู้ยิ่งใหญ่" หรือ Big Three ซึ่งหมายถึง 3
ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ คือ General Motors, Ford และ Chrysler
ต่างเร่งเครื่องอย่างหนักที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อไล่กวดคู่แข่งจากญี่ปุ่นอย่าง
Toyota, Honda และ Nissan ให้ทัน จนในที่สุด GM ก็ประสบความสำเร็จเมื่อโรงงานประกอบรถยนต์ที่ดีที่สุดของ
GM สามารถ เอาชนะโรงงานที่ดีที่สุดของ Toyota ไปได้แล้วในขณะนี้ แต่ทุกครั้งที่
3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง Detroit กำลังจะไล่ทันคู่แข่งจากแดนอาทิตย์อุทัยอยู่นั้น
อีกฝ่ายก็ดูเหมือนจะสามารถเร่งความเร็วหนีพ้นไปได้อีกทุกครั้งไป ดังนั้นเกมเล่นไล่จับนี้จึงยังคงดำเนินอยู่
Nissan เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างไม่ลดละมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน
ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Nissan เพิ่งเปิดโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ในเมือง
Canton รัฐ Mississippi โรงงานมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐแห่งนี้ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตอย่างสูง
และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ชาญฉลาด ตลอดจนมีฝ่ายบริหารที่มีอำนาจสิทธิขาดในการควบคุม
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานเดียวกับที่ใช้อยู่ในโรงงาน ที่เมือง Smyrna ในรัฐ
Tennessee โรงงานอายุ 20 ปีของ Nissan ที่ได้รับการยกย่องว่า มีประสิทธิภาพการผลิตดีที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือ มาหลายปีติดต่อกัน โดยโรงงานที่ Smyrna นี้สามารถสร้างรถยนต์ 1 คันได้ภายในเวลาต่ำกว่า
16 ชั่วโมง ซึ่งต่ำกว่าเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในโรงงานของ Honda และ Toyota 6 ชั่วโมง
และต่ำกว่า GM 8 ชั่วโมง รวมทั้งต่ำกว่า Ford 10 ชั่วโมง กำไรต่อคันของโรงงาน
Smyrna ซึ่งอยู่ที่ 2,069 ดอลลาร์ ก็เป็นผลกำไรที่ดีที่สุดในอเมริกาเหนือ
Nissan วางแผนจะให้โรงงาน Canton ผลิตรถที่แตกต่างกันถึง 5 โมเดล และมีแผนจะรุกตลาดรถปิกอัพและสปอร์ตอเนกประสงค์
(SUV) อย่างหนัก ซึ่ง Nissan สามารถทำได้อย่างสบาย เพราะมีส่วนต่างกำไรที่กว้างพอ
โดยเมื่อ Nissan เปิดตัวปิกอัพรุ่นใหม่ Titan ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
Nissan ได้ตั้งราคาไว้ที่ 22,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการตัดราคา Ford F-150
ถึง 2,000 ดอลลาร์เป็นอย่างน้อย โดยยังคงกินส่วนต่างกำไรได้อย่างสบายๆ
ความลับของ Nissan คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างไม่ลดละ การใช้แรงงานที่ไม่สังกัดสหภาพแรงงานซึ่งมีราคาถูกกว่าการจ้าง
supplier หลายรายประกอบส่วนย่อยๆ ของรถยนต์ และความยืดหยุ่นอย่างสูงในสายการประกอบรถยนต์
ที่ Nissan สามารถลดเวลาการทำงานในสายการผลิตแม้เพียงไม่กี่วินาทีก็มีความหมาย
เพราะการคิดเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคืองานประจำวันของ Nissan
Nissan ใช้แท่นเคลื่อนที่ได้ที่เรียกว่า lineside limo คนงานจะยืนทำงานบนแท่นนี้ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ไปได้รอบรถที่กำลังประกอบ
พร้อมกับบรรทุกอุปกรณ์เครื่องมือและชิ้นส่วนทุกอย่างที่คนงานต้องการใช้ไปด้วยได้
ทำให้คนงานไม่ต้องเสียเวลาเดินกลับไปกลับมาเป็นระยะทางประมาณ 20 ฟุต สามารถประหยัดเวลาการทำงานลงได้อย่างมาก
Nissan เริ่มติดตั้งแท่น lineside limo นี้ตั้งแต่ 13 ปีก่อนตามคำแนะนำของคนงานในสายการผลิต
GM และผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ รายอื่นๆ ก็ได้นำแท่น limo นี้มาใช้เช่นกัน
แต่ไม่ให้ความสำคัญนัก
Nissan ใช้แรงงานนอกสหภาพแรงงาน ซึ่งนอกจากจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแล้ว
พวกเขายังได้รับสวัสดิการต่ำกว่าคนงานประกอบรถยนต์ของ Big Three ซึ่งสังกัดสหภาพแรงงานรถยนต์สหรัฐฯ เป็นเงิน
3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ ยังใช้กลยุทธ์ outsourcing หรือการจ้าง supplier
หลายๆ รายประกอบส่วนย่อยๆ แต่ละส่วนของรถยนต์ คือ โครงรถ แผงหน้าปัด ที่นั่ง
ระบบไฟฟ้าและประตู โดยคนงานของ supplier เหล่านี้สามารถทำงานเสร็จเร็วกว่าที่
Nissan ทำเอง ทั้งยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่ Nissan ต้องจ่ายให้แก่คนงานในสายการผลิตของตนถึง
3 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ช่วยให้ Nissan ประหยัดเงินได้มากถึง 15-30%
ส่วน Big Three กลับไม่มีอิสระในการใช้การ outsource ได้อย่างใจเหมือน
Nissan เพราะต้องเจรจากับสหภาพแรงงานเสียก่อน ซึ่งไม่ค่อยเต็มใจให้บริษัท
outsource เท่าใดนัก และต้องการให้บริษัทเลือกใช้แต่ supplier ที่เป็นมิตรกับสหภาพเท่านั้น
การมีสายการผลิตที่ยืดหยุ่นอย่างสูงกล่าวคือ สามารถใช้สายการผลิตเดียวประกอบรถยนต์ได้ทุกประเภทหรือมากกว่า
1 ประเภท คือ ข้อได้เปรียบที่สำคัญมากของบริษัทญี่ปุ่น เนื่องจากทำให้ทั้ง
Nissan, Toyota และ Honda ใช้ความสามารถในการผลิตได้เต็ม 100% หรือมากกว่า
(ในกรณีการทำงานล่วงเวลา) ยกตัวอย่างเช่น หากดีมานด์ในรถรุ่น Titan เพิ่มขึ้น
Nissan ก็สามารถลดการผลิตรถรุ่น Altima ซึ่งดีมานด์เริ่มแผ่วได้เพื่อเพิ่มการผลิต
Titan แทน เนื่องจากใช้สายการผลิตเดียวกัน ทำให้ คนงานของ Nissan ไม่เคยที่จะอยู่ว่างๆ
ส่วน Big Three ใช้ความสามารถในการผลิตเพียง 85% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม
GM กำลังเปลี่ยนให้สายการผลิตครึ่งหนึ่งของตนที่มีอยู่ 35 แห่งในอเมริกาเหนือ
สามารถประกอบรถยนต์ได้มากกว่า 1 ประเภท โดยมีโรงงานประกอบรถ Cadillac ในเมือง
Lansing รัฐ Michigan ซึ่งสามารถประกอบรถยนต์หรูได้ 3 รุ่นคือ CTS, STS Sedan
และ SRX SUV เป็นโรงงานต้นแบบ สำหรับการยกเครื่องโรงงานอื่นๆ ต่อไป
กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่า Big Three จะสามารถไล่ทันบริษัทญี่ปุ่นในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการจ่ายเงินชดเชยแก่คนงานที่จะถูกลอยแพ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินชดเชย
75% ของค่าจ้าง
แต่ก็ใช่ว่า Nissan จะมีแต่ข้อได้เปรียบ Big Three อยู่ร่ำไป จุดอ่อนของ
Nissan คืออัตราการบาดเจ็บของแรงงาน ซึ่งสูงถึง 31 รายต่อคนงาน 1,000 คน
ในปี 2001 หรือสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของ Big Three ถึง 2 เท่า ซึ่ง Nissan ไม่ปฏิเสธตัวเลขนี้
แต่แจ้งว่า ได้ดำเนินมาตรการลดอัตราการบาดเจ็บหลายอย่างแล้ว เช่น ให้คนงานทำงานที่แตกต่างกัน
4 อย่างในระหว่างชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงต่อกะ เพื่อลดการบาดเจ็บที่เกิดจากการทำงานซ้ำๆ
และอ้างว่าสามารถลดอัตราการบาดเจ็บลงได้ 60% แล้วในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา นอกจากนี้จุดอ่อนอีกอย่างอยู่ที่รถยนต์ที่ประกอบเสร็จของ
Nissan ซึ่งยังถูกจัดอันดับด้านคุณภาพต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
แปลและเรียบเรียงจาก
BusinessWeek, December 22, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์