อวสานของเพจเจอร์ แต่ฮัทชิสันเพิ่งเริ่มต้น

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

เสียงปี๊บๆ ของอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ กำลังเริ่มเลือนหายไปจาก ความต้องการของผู้ใช้ ทำให้ผู้ประกอบการ ต้องเริ่มปฏิวัติตัวเอง เพื่อหาธุรกิจใหม่มาทดแทน

เราเห็นภาพนี้มานานแล้ว" อาจกิจ สุนทรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ และบริษัทล็อกซเล่ย์ เพจโฟน บอกถึงสภาพของธุรกิจวิทยุติดตาม ตัวที่ต้องเผชิญกับปัญหาผู้ใช้งานที่ลดลงไปเรื่อยๆ

การถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้ดีกว่า ที่ราคาและค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการวิทยุ ติดตามตัวเริ่มเปลี่ยนแปลงไป

"ทุกวันนี้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทดแทนการใช้งานของเพจเจอร์ได้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความหรือข้อมูล ค่าบริการรายเดือนก็ถูกกว่า" ผู้คร่ำหวอดในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็น

ก่อนหน้านี้ วิทยุติดตามตัวได้เข้ามามีบทบาทกับผู้บริโภคชาวไทยเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยบริษัทแปซิฟิกเทเลซิส ผู้ให้บริการวิทยุติดตามตัวรายแรก ภายใต้ ชื่อ "แพคลิงค์" เป็นรายแรกที่ได้รับสัมปทาน จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งกลุ่มชินคอร์ปเองก็เคยเป็นผู้ถือหุ้น ก่อนจะถอนหุ้นออกไป

ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ก็ให้สัมปทานแก่เอกชน เริ่มจากโฟนลิ้งค์ของกลุ่มชินคอร์ป ตามมาด้วยบริการฮัทชิสัน ซึ่งเป็นการร่วม ทุนระหว่างฮัทชิสันวัมเปา และล็อกซเล่ย์ ที่เปิดให้บริการในเวลาไล่เลี่ยกัน ถัดจากนั้นก็มีกลุ่มเลนโซ่ และกลุ่มยูคอม เป็นอีก 2 กลุ่มที่เข้าสู่ธุรกิจนี้

และในอีกไม่กี่ปีต่อมา วิทยุติด ตามตัวก็ได้กลายเป็นสัมปทานแรกๆ ที่มีการเปิดให้บริการโดยเสรี ไม่ต้องจ่ายค่า สัมปทาน จ่ายแต่เพียงค่าใบอนุญาต รูปแบบการใช้งานของวิทยุติดตาม ตัวของผู้บริโภคชาวไทยมีลักษณะเฉพาะตัว คือ การใช้งานจะเป็นการส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์ หรือที่เรียกว่า ระบบอัลฟ่านิวเมอริก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะเป็นแค่การส่งเลขหมายโทร-ศัพท์ให้ผู้รับโทรกลับ

การลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจของไทย นอกเหนือจากตัวระบบที่ต้องให้บริการได้ทั่วประเทศแล้ว เม็ดเงินส่วนใหญ่ยังต้องใช้ไปกับการจ้างโอเปอเรเตอร์ เป็นจำนวนมาก รวมถึงคู่สายโทรศัพท์เพื่อรอง รับกับความต้องการของผู้ใช้บริการ

แต่แล้วพัฒนาการของเทคโนโลยี และอัตราค่าบริการ และเครื่องลูกข่ายของ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พีซีที ก็ส่ง ผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจวิทยุติดตามตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเริ่มมาตั้งแต่แปซิฟิกเทเลซิสขายกิจการแพคลิ้งค์ ให้กับกลุ่มเลนโซ่ ตามมาด้วยการคืนสัมปทาน "เวิลด์เพจ" ให้กับ ทศท. ซึ่งต่อมาก็ได้อนุมัติสัมปทานนี้ไปให้กับกลุ่มบริสเทล

ก่อนหน้านี้ ธุรกิจวิทยุติดตามตัว เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับฮัทชิสันมาตลอด เริ่มทำกำไรตั้งแต่ปี 2537 โดยที่ในปี 2539 มีลูกค้ามากถึง 1.6 แสนราย แต่พอมาถึงปี 2543 ยอดผู้ใช้เริ่มตกลงไปเรื่อยๆ

การคาดการณ์ฐานลูกค้าที่มีอยู่ 80,000 เครื่อง ในปีที่แล้ว จะลดลงเหลืออยู่เพียงแค่ 35,000 เครื่อง จากตลาดรวม 3 แสนเครื่อง เช่นเดียวกับรายได้จากธุรกิจเพจเจอร์จากที่เคยทำได้ 500 ล้านบาทในปีที่แล้ว จะลดลงเหลือเพียงแค่ 300 ล้านบาทในปีนี้

"ลูกค้าที่ใช้บริการวิทยุติดตามตัวเวลา นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประเภทองค์กร ที่ยัง มีความจำเป็นต้องใช้งานจริงๆ" อาจกิจเชื่อว่าจำนวนผู้ใช้บริการเพจเจอร์ลดลงเหลืออยู่ 10,000-20,000 ราย ซึ่งนับเป็นจำนวนต่ำสุดของการให้บริการ

ทางออกของฮัทชิสัน รวมถึงผู้ให้บริการเพจเจอร์ทุกรายเวลานี้คือ การแสวงหา ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมาชดเชยกับรายได้ที่หายไป

การ re-invet การลงทุนใหม่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว สำหรับอาจกิจ นี่คือ "การสร้าง ฐานใหม่ให้กับฮัทชิสันอีกครั้ง"

ภายใต้การลดขนาดของธุรกิจเพจ เจอร์ที่จะเหลือเพียงแค่การรักษาระบบให้รอง รับกับผู้ใช้บริการยังคงเหลืออยู่ เงินกำไรที่ได้จากธุรกิจเพจเจอร์จะถูกนำไปใช้ในการลงทุนใน 3 ธุรกิจใหม่ ที่ใช้เงินไปแล้ว 50 ล้าน บาทในปีที่แล้ว

ธุรกิจให้บริการ call center นับเป็นทางเลือกแรกของผู้ให้บริการวิทยุติดตามตัวเกือบทุกราย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมันสามารถใช้ประโยชน์จากฐานธุรกิจเดิม ทั้งโอเปอเรเตอร์ บริการ call center เริ่มเข้ามามีบทบาทในไทยหลายปีมาแล้ว ใช้ในการขายตรง เช่น งานวิจัย หรือการแจกสินค้าตัวอย่าง เวลานั้นยังเป็นธุรกิจไม่ใหญ่มาก และเริ่มมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

สิ่งที่ฮัทชิสันวางไว้ก็คือ การขยายผลของธุรกิจ call center ทั้งในรูปแบบบริการใหม่ๆ เช่น บริการส่งสินค้าถึงบ้าน บริการส่ง ข้อความเพื่อโปรโมตสินค้า และเป็นส่วนหนึ่ง ของบริการ customer relation management รวมไปถึงการขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ จะมีความต้องการมากขึ้น และจะส่งผลให้บริ- การ call center เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จะว่าไปแล้ว การเคลื่อนไหวของผู้ให้ บริการรายนี้ มีขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2542 นั่นก็คือ การเปิดเว็บไซต์เลมอนออนไลน์นอกเหนือจากการเห็นความสำคัญของอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ต้องตกยุค new economy แล้ว "เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก" คือ ที่มาของ การก้าวเข้าสู่ธุรกิจ portal web ในเวลานั้น

ธุรกิจให้บริการข้อมูล หรือบริการ loxnews เป็นบริการขายข้อมูลทางเพจเจอร์ เป็นบริการเสริมที่ฮัทชิสันให้บริการเมื่อ 7 ปี ที่แล้ว เริ่มมาจากแนวคิดง่ายๆ คือ "เป็นธุรกิจที่ไม่ใหญ่ แต่สร้างรายได้" อาจกิจบอก

ทุกวันนี้ ฮัทชิสันมีลูกค้าในมือ 4,000 ราย ที่เสียค่าบริการเดือนละ 1,000 บาท เพื่อ แลกกับการได้รับข่าวสารที่ฮัทชิสันซื้อมาจาก สำนักพิมพ์ และนำมาจัดทำเป็นข้อมูลที่เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเอง

"เราเชื่อว่า นี่คือ 3 ธุรกิจที่ซ่อนอยู่ใน ธุรกิจเพจเจอร์ที่เราเชื่อว่าจะทำได้ดี ภายใต้สภาพของธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน" อาจกิจ บอก "ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน มาก แต่เริ่มได้จากเล็กๆ"

บริษัทอาเธอร์ แอนด์เดอร์สัน ถูกว่าจ้างมาสำหรับการจดทะเบียนบริษัทใหม่ที่จะมารองรับธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการ re-invest การลงทุนใหม่ ซึ่งถูกคาดการณ์ไว้ว่า รายได้มากกว่าครึ่งหรือประมาณ 300 ล้าน บาท จะมาจากธุรกิจใหม่ ที่จะชดเชยรายได้ของบริการวิทยุติดตามตัว

ถึงแม้ว่า อวสานของเพจเจอร์ยังมาไม่ ถึง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า อีกไม่นาน อุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ กำลังจะหายไป จากตลาดไม่ช้าก็เร็ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.