"ทหารไทย"ควบ"IFCT"ฉงนหุ้นBTบวกอันดับ1


ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

รัฐบาลทักษิณมีมติควบรวม "ทหารไทย-ไอเอฟซีที-ดีบีเอสไทยทนุ" ดันเป็นแบงก์ขนาดใหญ่ให้บริการครบวงจร แฉเบื้องหลังคลังหักแบงก์ชาติ ไม่นำแบงก์ที่คลังถือหุ้นไปควบรวมกับแบงก์ที่กองทุนฟื้นฟูฯถือเหตุมีวาระซ่อนเร้นจาก"ไอ้โม่ง" ที่เป็นบิ๊กแบงก์ชาติ โบรกเกอร์งงหุ้นไทยธนาคาร(BT) พุ่งสวนข่าวร้ายถูกคลังเขี่ยทิ้งออกจากแผนควบไอเอฟซีที กลับบวกเกือบชนเพดานสร้างสถิติผลตอบแทนสูงสุดเมื่อวานนี้

ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วานนี้ (20 ม.ค.)ได้เห็นชอบร่างพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) พ.ศ. 2502 พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการควบรวมกิจการระหว่างไอเอฟซีทีกับธนาคารทหารไทย (TMB)เป็นไปตามแผนพัฒนา ระบบสถาบันการเงิน (Financial Masterplan) เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง

"การควบรวมในครั้งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งธนาคารทหารไทย(30%)และไอเอฟซีที (40.6%)และ มีคุณสมหมาย ภาษี รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานทั้งสองแห่ง" ร.อ.สุชาติกล่าว

แหล่งข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การ ควบรวมครั้งนี้นับเป็นการนำร่องที่แสดงให้เห็นแนวทางการควบรวมสถาบันการเงินของรัฐอย่างชัดเจนแล้วว่า แยกกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท. ออกจากกัน หรือถ้าจะควบรวมสถาบันการเงินของรัฐก็ให้พิจารณาผู้ถือหุ้นว่าคลังหรือกองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่เข้าข่ายมีการควบรวมมีความชัดเจนแล้ว ธนาคารกรุงไทย(KTB) นครหลวงไทย (SCIB)และไทยธนาคาร (BT)เข้าข่ายควบรวมกันเองเพราะเป็นกลุ่มที่กองทุนฟื้นฟูฯถือหุ้นใหญ่ 56.39%,84%,48.98% ตามลำดับ ส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ได้ดำเนินการแล้วก็คือการควบรวมธนาคารทหารไทยกับไอเอฟซีที

"เดิมทีไอเอฟซีทีจะควบรวมกับไทยธนาคารแต่หลังจากเริ่มดำเนินการพบอุปสรรคทั้งข้อกฎหมาย และฐานะทางการเงินของไทยธนาคารที่มีภาระจากการนำบงล.กรุงไทยธนกิจ (KTT)เข้ามาควบรวมเมื่อ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และที่สำคัญแม้เป็นของรัฐทั้งคู่แต่มีการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน นอก จากนี้ยังมีผู้ถือหุ้นเอกชนบางรายได้ประโยชน์จากการควบรวบไทยธนาคารกับไอเอฟซีที"

รายงานข่าวระบุว่า ผู้ถือหุ้นอันดับ 8 ในไทยธนาคาร คือ บริษัทคอมลิ้งค์ เป็นนอมินี (ตัวแทน) ของผู้บริหารระดับสูงของธปท. โดยถือหุ้นอยู่ 1.54% เรื่องดังกล่าวทำให้คลังไม่อาจควบรวมไอเอฟซีทีกับไทยธนาคาร

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจกับการตัดสินใจของกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารทหารไทยและไอเอฟซีที จึงขอปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นและกรรมการของธนาคารที่จะดำเนินการต่อไป

"ธปท.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากแบงก์ ไม่ได้ มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และมีเงินกองทุนเพียงพอต่อการทำธุรกิจ ขั้นตอนต่อไปคือ จะต้องสำรวจทรัพย์ สินและหนี้สิน ทำแผนฟื้นฟู และยื่นเรื่องมาที่ธปท. ต่อไป"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า การที่ไทยธนาคารซึ่งไม่ถูกนำมาควบรวมกิจการในครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นอิสระ และยังเป็นธนาคารพาณิชย์ต่อไป

"ในฐานะที่กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จนถึงวันนี้ยังไม่มีแผนนำไทยธนาคารไปควบรวมกับธนาคารใด เนื่องจากมีผลการดำเนินการที่ดีอยู่แล้ว" ผู้ว่าฯธปท.กล่าว

ไอ้โม่งดันหุ้น BT ขึ้น 27% เย้ยคลัง

ทันทีที่มติครม.ล้มแผนการควบรวมกิจการไทยธนาคารกับไอเอฟซีทีและร.อ.สุชาติแถลงเวลา 13.30น.ว่า จะนำไอเอฟซีทีไปควบกับธนาคารทหาร ไทยแทน ส่วนไทยธนาคารต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะควบรวมกับสถาบันการเงินใด

ปรากฏว่าทันทีที่ตลาดหุ้นเปิดทำการช่วงบ่าย (14.30 น.) หุ้นBT ซึ่งตามมติครม.และถ้อยแถลงของร.อ.สุชาติน่าจะเป็นผลเสียเพราะขาดความชัดเจน ที่สำคัญยังต้องควบรวมโดยไม่ได้เป็นแกน เพราะธนาคารกรุงไทยกับนครหลวงไทยอยู่ในฐานะแกนนำการควบรวมธนาคารที่กองทุนฟื้นฟูถือหุ้น กลับกลายเป็นว่าหุ้นBTเคลื่อนไหวเป็นบวกโดยเฉพาะตั้งแต่เปิดตลาดช่วงบ่าย

"ราคาหุ้นBT เปิดเมื่อวานนี้ 6.8 บาท มาปิดตลาดที่ 8.1 บาท หรือบวก 1.30 บาท คิดเป็น 19.12% แต่เคลื่อนไหวขึ้นไปบวกสูงสุด 8.7 บาท คิดเป็น 27% เกือบชนเพดานสูงสุด (ceiling) นอกจากนี้ ยังเป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนต่อหุ้นสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของวัน ส่วนมูลค่าซื้อขายติดหนึ่งใน 10 หรือ 685.16 ล้านบาท" โบรกเกอร์รายหนึ่งกล่าว

โบรกเกอร์ยังแสดงความแปลกใจต่อการขึ้นของหุ้นไทยธนาคารด้วยว่า หากไม่มีข่าวดีที่เป็นอินไซด์หรือมีการรู้ข้อมูลว่าไทยธนาคารกำลังจะได้เป็นแกนนำควบรวม ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะนำนครหลวงไทยมายุบรวมให้ไทยธนาคาร หุ้นจะไม่มีทางขึ้น ยกเว้นมีขบวนการปั่นหุ้นจากเจ้ามือที่ถูกมอบหมายมาให้ดำเนินการเพราะผิดหวังที่ไม่ได้ควบรวมกับไอเอฟซีที

"ผู้ที่เสียประโยชน์จากการล้มดีลไทยธนาคารกับไอเอฟซีทีน่าจะอยู่เบื้องหลังการขึ้นของหุ้น BT เพื่อแสดงให้เห็นว่า BT เป็นธนาคารที่ดีสังเกตราคาหุ้น ผู้เสียประโยชน์คงจะสื่อให้เห็นว่า คลังคิดผิดที่แยกกลุ่มผู้ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ของรัฐเป็น กลุ่มคลังกับกองทุนฟื้นฟูฯและคิดผิดที่ไม่เลือก BT"

ด้านราคาหุ้นTMB,IFCTและดีบีเอสไทยทนุ (DTDB) ซึ่งต้องควบรวมกัน ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย H (Halt) หรืองดซื้อขายชั่วคราวในช่วงบ่าย โดยก่อน ถูกแขวน ราคาหุ้น TMB เพิ่ม 25 สตางค์ เพิ่ม 4.58% ปิด 5.70 บาท หุ้น DTDB ราคาลด 5 สตางค์ ลด 0.99% ปิด 5 บาท ส่วน IFCT ราคาไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.10

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์วานนี้ ดัชนีค่อนข้างผันผวน โดยเปิดที่ 776.64 จุด เพิ่มขึ้น 1.97 จุด และ แกว่งตัวทั้งแดนบวกและลบช่วงเช้าการซื้อขาย จากนั้น ช่วงบ่ายมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์หนาแน่น ส่งผลภาพรวมตลาดหุ้นดีขึ้น ดัชนีปรับตัวขึ้นสูงสุด 778.41 จุด เพิ่มขึ้น 3.74 จุด ก่อนลงมาปิด 771.88 จุด ลดลง 2.79 จุด มูลค่าซื้อขาย 28,018.01 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ขึ้นเครื่องหมาย H (Halt) หรืองดซื้อขายชั่วคราว หุ้น BT ทั้งๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ แผนควบรวมที่ครม. มีมติออกมา ส่วน่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาฯ ก.ล.ต.อดีตรองผู้ว่าฯธปท.นั่งคุมอยู่น่าจะเข้าไปตรวจ สอบการขึ้นของหุ้น BT เมื่อวานนี้ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าการซื้อขายที่ผิดปกติหรือไม่

ด้านราคาหุ้นTMB,IFCTและดีบีเอสไทยทนุ (DTDB) ซึ่งต้องควบรวมกัน ได้ถูกขึ้นเครื่องหมาย H ในช่วงบ่าย โดยก่อน ถูกแขวน ราคาหุ้น TMB เพิ่ม 25 สตางค์ เพิ่ม 4.58% ปิด 5.70 บาท หุ้น DTDB ราคาลด 5 สตางค์ ลด 0.99% ปิด 5 บาท ส่วน IFCT ราคาไม่เปลี่ยนแปลงที่ 5.10

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์วานนี้ ดัชนีค่อนข้างผันผวน โดยเปิดที่ 776.64 จุด เพิ่มขึ้น 1.97 จุด และ แกว่งตัวทั้งแดนบวกและลบช่วงเช้าการซื้อขาย จากนั้น ช่วงบ่ายมีแรงซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์หนาแน่น ส่งผลภาพรวมตลาดหุ้นดีขึ้น ดัชนีปรับตัวขึ้นสูงสุด 778.41 จุด เพิ่มขึ้น 3.74 จุด ก่อนลงมาปิด 771.88 จุด ลดลง 2.79 จุด มูลค่าซื้อขาย 28,018.01 ล้านบาท

จับ TMB ควบ DTDB ก่อน

การควบรวมไอเอฟซีทีกับทหารไทยยังมีธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ของดีบีเอสแบงก์ สิงคโปร์ ด้วย โดยความคืบหน้าล่าสุดธนาคารดีบีเอสไทยทนุอยู่ระหว่างประชุมคณะกรรมการก่อนจะมีการลงนามร่วมกันและประกาศให้ทราบในสัปดาห์หน้า

"ไอเอฟซีที มีความเชี่ยวชาญทางด้านการปล่อย กู้โครงการและบริษัท ส่วนทหารไทยมีเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าขนาดกลางกับรายย่อย ขณะที่ดีบีเอสฯมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงินและมีความเป็นสากลเชื่อว่าเมื่อการควบรวมของทั้ง 3 แห่งเสร็จ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 3 เดือน ทหารไทยจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพ เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ" ร.อ.สุชาติ กล่าว

นายสมหมาย กล่าวว่า การควบรวมอาจจะมี 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก คือ A (ทหารไทย)+B(ดีบีเอสฯ)+C(ไอเอฟซีที)=D(แบงก์ใหม่)และแนวทางที่ 2 A+B+C=A(ทหารไทย) ซึ่งในส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางที่ 2 มากกว่า เนื่องจากสามารถเอาผลขาดทุน สะสมมาหักภาษีได้

วันนี้(21 ม.ค.)นายสมหมาย ภาษี จะเปิดแถลง ข่าวดังกล่าวที่ สำนักงานใหญ่ไอเอฟซีที ถนนเพชรบุรี เวลา 11.00น.

ร.อ.สุชาติ กล่าวว่า หลังการควบรวม ธนาคาร ทหารไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากขณะนี้เมื่อรวมสินทรัพย์ของทั้ง 3 แห่งแล้ว มีประมาณ 690,000 ล้านบาท ส่วนรายละเอียดการควบรวมอาจจะ สวอปหุ้นหรือออกเป็นหุ้นใหม่ก็ได้ ต้องตั้งคณะ กรรมการขึ้นมาใหม่ในการดูแลเรื่องดังกล่าวให้มีความเรียบร้อยมากขึ้น

"เรื่องพนักงานคงไม่มีปัญหา เพราะเมื่อมีการควบรวมกันเกิดขึ้นก็จะต้องมีงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้คนมากขึ้นเช่นกัน"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.