5บล.ขอเป็นที่ปรึกษาฯนำอสมท.เข้าตลาดหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(21 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

อ.ส.ม.ท.คึกคักรับมติครม.อนุมัติแปรรูปเข้าตลาดหุ้นได้ เปิดโผ 5 รายบริษัทหลักทรัพย์คั่วงานที่ปรึกษา-อันเดอร์ไรเตอร์ พร้อมเร่งปรับโครงสร้างใหม่รองรับ เตรียมเปิดโครงสร้างใหม่ของสำนักข่าวไทยเดือนหน้า เผยรายได้เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2546 โกยรายได้เกินเป้าหมายได้ 200 กว่าล้านบาทต่อเดือน

แหล่งข่าวจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรืออ.ส.ม.ท.เปิดเผย "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้อ.ส.ม.ท.ทำการแปรรูปองค์กรเพื่อพร้อมเป็นบริษัทมหาชนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้นั้น หลังจากนี้ไปอ.ส.ม.ท.ต้องดำเนินการจัดหาบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามารับผิดชอบดำเนินการ ในการศึกษารายละเอียดต่างๆ

ความคืบหน้าล่าสุดขณะนี้คณะกรรมการจัดจ้างที่ อ.ส.ม.ท.ตั้งขึ้นได้กำหนดให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน 5 รายไว้แล้วให้เข้ามาเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการ เงินและมีสิทธิ์ที่จะยื่นข้อเสนอในการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (อันเดอร์ไรเตอร์) ต่อ อ.ส.ม.ท.ได้ ประกอบไปด้วย 1.บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ 2.บล.ไทยพาณิชย์ 3.บล.ธนชาติ 4.บล.ภัทร 5.บล.แอสเซทพลัส อย่างไรก็ตาม อาจจะเหลือเพียงรายเดียวหรือหลายรายก็ได้แต่จะคัดเลือกให้เร็วที่สุด

"อ.ส.ม.ท.จะต้องเข้าตลาดหุ้นให้ได้ภายในปีนี้ ตามนโบายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ประกาศไว้ชัดเจนว่า หากรัฐวิสาหกิจใดที่มีผลการดำเนินงานดีก็ให้เข้าตลาดหุ้นในปีนี้ให้ได้"

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เข้าตลาดหุ้นแล้ว คาด ว่า รัฐบาลยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยผ่านทางกระทรวงการคลังซึ่งถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ส่วนที่เหลือ กระจายให้กับบุคคลภายนอกรวมทั้งพนักงานของ อ.ส.ม.ท.เองด้วย แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนว่าเป็นเท่าใด ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการ จะมีการประชุมและพบ ปะกับพนักงานอ.ส.ม.ท.เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการนำองค์กรเข้าตลาดหุ้นด้วย ซึ่งรูปแบบคงจะคล้าย กับการบินไทย หรือทิพยประกันภัยที่รัฐบาลยังคงถือหุ้นใหญ่แต่เป็นบริษัทมหาชน นอกจากนั้นแล้วจะนำอ.ส.ม.ท.เข้าตลาดโดยตรง จากเดิมที่เคยคิดว่าจะเอาบริษัทลูกเข้าแทน

นอกจากนั้น อ.ส.ม.ท.เองก็จำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับการเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งบางส่วนได้เริ่มทยอยปรับไปบ้างแล้วและบางส่วนรอการปรับอยู่ เช่น ล่าสุดเตรียมที่จะประกาศปรับโครงสร้างในส่วนของสำนักข่าวไทย ซึ่งปัจจุบันนี้นายมิ่งขวัญยังรักษาการอยู่ นอกนั้นก็เพิ่งประกาศยกระดับฝ่ายกฎหมายกับฝ่าย การตลาดขึ้นเป็นระดับสำนัก เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนตำแหน่งระดับรองผู้อำนวยการยังมีอยู่ 3 คน ประกอบด้วย นางอรัญรัตน์ อยู่คง รองผอ.ฝ่าย การบริหารงานบุคคล วิทยุ 2.นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองผอ.ดูแลทางด้านสถานีโทรทัศน์เป็นหลัก 3.นายสิทธิศักดิ์ เอกพจน์ รองผอ.ดูแลทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีเป็นหลัก นอกนั้นจะมีตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยซึ่งเทียบเท่ากับรองผอ. โดยอ.ส.ม.ท.มีพนักงานทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 1,100 คน โดยแบ่งเป็นส่วนกลางประมาณ 70% และที่เหลือกระจายอยู่ในต่างจังหวัด

สำหรับผลประกอบการของอ.ส.ม.ท.นั้น เมื่อปีงบประมาณ 2546 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 -30 กันยายน2546 มีรายได้ประมาณ 1,600 ล้านบาท มีผลกำไรประมาณ 842 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วน 70% มาจากทีวี และ 30% มาจากวิทยุ ขณะที่ปีงบประมาณ 2547 นี้ตั้งเป้าหมายรายได้ไว้ประมาณ 2,000 กว่าล้าน บาทและคาดผลกำไรประมาณ 1,500 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ผลประกอบการช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้คือ ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ปรากฏว่าทำรายได้มากกว่า 200 ล้านบาทต่อเดือนแล้ว เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม อ.ส.ม.ท.ยังคงต้องนำส่งกำไรอย่างน้อย 40% ให้กับรัฐบาล ทั้งๆที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันอ.ส.ม.ท.ได้ส่งเงินเกินสัดส่วนที่เคยปฏิบัติมา โดยส่งไปประมาณ 60% จากยอดกำไรให้กับรัฐบาลเพราะผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นหลัง จากการปรับสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เป็นโมเดิร์นไนน์ทีวี

การเข้าตลาดหุ้นของอ.ส.ม.ท.เหตุผลหลักคือการสร้างความพร้อมในการแข่งขันกับธุรกิจโทรคมนาคม โดยเฉพาะทีวีกับวิทยุ ซึ่งในอนาคตจะมีการเปิดเสรีกันมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันยิ่งรุนแรงกว่า นี้มาก อีกทั้งเม็ดเงินโฆษณาในระบบของธุรกิจโทรทัศน์นั้นมีมากกว่า 60% จากมูลค่าตลาดโฆษณารวม กว่า 70,000 ล้านบาท เป็นบ่อทองที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ต่างก็จดจ้องที่จะโกยส่วนแบ่งให้มากที่สุดไม่เว้นแม้แต่อ.ส.ม.ท.เองด้วย

นอกจากนี้ ยังเป็นการปรับตัวเพื่อต่อสู้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว เพราะปัจจุบันนี้วงการทีวีแทบจะแบ่งขั้วคู่ต่อสู่กันอย่างชัดเจนว่า ช่อง 3 แข่งกับช่อง 7 ส่วนช่องไอทีวีแข่งกับโมเดิร์นไนน์ทีวีของอ.ส.ม.ท. ดังนั้นเมื่อไอทีวีเข้าตลาดหุ้นได้แล้ว โมเดิร์นไนน์จึงต้องเข้าตลาดหุ้นด้วยเหมือนกันกับไอทีวี

อีกทั้งยังเป็นการระดมทุนเพื่อนำมาขยายงานต่างๆ ซึ่งในแผนระยะยาวของอ.ส.ม.ท.กำหนดไว้ที่จะลงทุนอีกมากถึงปี 2550 เช่น ลงทุนระบบโกลบอลเทเลวิชั่นเน็ตเวิร์กประมาณ 2,000 ล้านบาท ลงทุนการ ส่งสัญญาณระบบโทรทัศน์ออกอากาศในระบบดิจิตอล 1,000 ล้านบาท เป็นต้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.