2กลุ่มทุนยักษ์"สหวิริยา-สวัสดิ์"ชิงผุดโรงงานเหล็กขั้นต้น3แสนล.


ผู้จัดการรายวัน(20 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ผลิตเหล็กค่ายยักษ์ "สหวิริยา" และ "เอ็น.ที.เอส." กลุ่มสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ชิงลงทุนตั้งโรงถลุงเหล็กมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท หลังนโยบายพินิจ จารุสมบัติ ประกาศให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ขณะที่ ทักษิณŽ เน้นปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองรัฐดูห่างๆ มอบสศช.ศึกษาอีกทาง "สหวิริยา" ยอมรับกำลังศึกษาและจีบ JFE คอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่นอยู่

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กสนับสนุนแนวทางให้เกิดโรงงาน เหล็กต้นทุนในประเทศ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กในภาพ รวมที่ยังคงต้องนำเข้าวัตถุดิบเหล็กมาผลิตจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนสูง ขณะที่ความต้องการก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลให้ทาง ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ต่างให้ความ สนใจที่จะเสนอผ่านกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันให้เกิดโรงงานถลุงเหล็ก

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอ รายงานถึงแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กต่อที่คณะรัฐมนตรีไปแล้วและทางพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษารายละเอียดและได้มอบนโยบายที่จะสนับสนุนให้เอกชน เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดโดยรัฐบาลจะไม่สนับสนุนใดๆ เป็นพิเศษยกเว้น แต่ในเรื่องที่เหมาะสมเช่น ระบบสาธารณูปโภค ฯลฯ

สำหรับการตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้น ล่าสุดมีผู้ยื่นเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม 2 กลุ่มคือ กลุ่มเอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด ของกลุ่มนายสวัสดิ์ หอรุ่งเรืองที่ขณะนี้ได้รวมตัวกันภายใต้บริษัทเมเลเนียมสตีล กับค่ายปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นอยู่ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อเน้นป้อนอุตสาหกรรมเหล็กในบริเวณดังกล่าว ขณะที่อีกรายคือ บริษัทสหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI โดยมีแผนที่จะดำเนินการตั้งโรงงานถลุงเหล็กที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีแผนลงทุน สูงถึง 3 แสนล้านบาทโดยจะมีการ ลงทุนในส่วนของท่าเรือน้ำลึก และส่วนอุตสาหกรรมเหล็กต่อเนื่องโดยจะทยอยแบ่งเป็นเฟส

แหล่งข่าวจากบริษัทสหวิริยา สตีลอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) หรือ SSI กล่าวว่า บริษัทฯมีความพร้อมที่ จะลงทุนในโรงงานถลุงเหล็กแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐบาลจะสนับสนุนในเรื่องของระบบสาธารณูปโภค สิทธิประโยชน์มากน้อยเพียงใดด้วยเพราะต้องลงทุนสูงถึง 3 แสนล้านบาท ซึ่งหากมีความชัดเจนจากภาครัฐบาลการเจรจากับพันธมิตรร่วมทุนก็คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะขณะนี้มีการหารือกันในขั้นต้นแล้วกับบริษัท JFE คอร์ปอเรชั่น จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็น ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นและขณะนี้ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทุน กับบริษัทอยู่แล้ว

"การลงทุนค่อนข้างสูงเพราะจะแบ่งเป็นเฟสและโรงถลุงจะเป็นเทคโนโลยีระดับสูง ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะได้ Pig Iron มีกำลังการ ผลิต 10 ล้านตันต่อปี ดังนั้นหากจะเกิดโรงงานยอมรับว่าส่วนหนึ่งรัฐบาล คงจะต้องสนับสนุนเพราะไม่เช่นนั้นก็ทำให้ไม่มั่นใจเพราะลงทุนสูงมาก"

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ก่อนหน้านี้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยก็ได้ว่าจ้างแมคแคนซี ศึกษาปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กไทยและได้เสนอให้ตั้งโรงงานเหล็กขั้นต้นขนาดเล็กที่ลงทุนไม่เกินหมื่นล้านบาทหรือ Mini Blast Furnace ขึ้น ซึ่งเอกชนก็สนับสนุนแนวทางดังกล่าว แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าท้ายสุดแล้วจะสนใจร่วมทุนกันจริงจังมากน้อยเพียงใดเพราะนโยบายรัฐบาลชัดเจนว่าจะไม่ลงทุนเอง

นายซูโตมุ ยามาดะ ประธานบริษัทสยามยูไนเต็ดสตีล จำกัด (มหาชน)หรือ SUS กล่าวว่า การสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือโรงถลุงเหล็กในไทยนับเป็น เรื่องที่ดีต่อวงการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเพราะจะทำให้ครบวงจรขึ้น ซึ่งเหล็กนั้นยังคงเป็นวัตถุดิบสำคัญของ อุตสาหกรรมต่อเนื่องแม้ว่าจะมีการ หันมาใช้พลาสติกทดแทนก็ตาม และ ขณะนี้ราคาวัตถุดิบก็สูงขึ้นมากเพราะ ความต้องการที่สูงขึ้นขณะที่ซัปพลาย ได้ลดต่ำลงเพราะการปิดกิจการเหล็ก ช่วงเกิดวิกฤติ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.