ก.ล.ต.ทุบหุ้นวูบ3%ลงแส้โบรกบิดเบือน


ผู้จัดการรายวัน(16 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทิงเริ่มอ่อนแรงวานนี้ หลังลือกระฉ่อนห้องค้า ก.ล.ต.เตรียมงัดมาตรการห้าม "คุณ เน็ต" เพ่นพ่านในตลาดหุ้น แถมออกคำเตือนค่าพีอีตลาดหุ้นไทย ที่เผยแพร่ ณ สิ้นปี 46 ที่ 13.63 เท่า ต่ำ กว่าความเป็นจริง ที่ควรเป็น 17.68 เท่า ขณะที่ต่างชาติขายสุทธิอีก 4.5 พันล้านบาท ส่งผลหุ้นไทยวานนี้ วูบเกือบ 3% ปิด 767.39 จุด ด้วยวอลุ่มสูงถึง 5.68 หมื่น ล้านบาท คาดดัชนีเดินหน้าลงทดสอบ 750 จุด ก่อนดีดกลับ ด้านก.ล.ต.เตรียมลงแส้นักวิเคราะห์-มาร์เกตติ้งหุ้นที่บิดเบือนข้อมูลลงทุน ส่วน "กิตติรัตน์" รอฟังมติเลื่อนใช้เสรีค่าคอมฯ

ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (15 ม.ค.) ดัชนีปรับตัวลดลง ค่อนข้างแรง โดยเปิดตลาด 793.20 จุด ลดลง 2.36 จุด ก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด 794.30 จุด จากนั้น มีแรงขายหุ้นมาร์เกตแคปใหญ่ต่อเนื่อง ทั้งพลังงาน แบงก์ โบรกเกอร์ขนาดใหญ่ ต่อเนื่องส่งผลดัชนีปิดตลาด 767.39 จุด ลดลง 23.45 จุด ลด 2.97% มูลค่าซื้อขายรวม 56,786.55 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิอีก 4,525.96 ล้านบาท

โบรกเกอร์แห่งหนึ่งกล่าวว่า ปัจจัยลบหลาย อย่าง ที่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงวานนี้ โดยระหว่างซื้อขายระหว่างวัน มีข่าวลือสะพัดในห้องค้า ว่าสำนักงาน ก.ล.ต.จะห้ามซื้อขายหุ้นแบบหักกลบลบหนี้ในวันเดียวกัน (Net settlement) ส่งผลนักลงทุนเทขายหุ้น จนกระทั่งดัชนีหลุดแนวรับ 780 จุด ทำให้แรงขายยิ่งตามมากขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นอื่น ๆ ในเอเชียก็ลดลง

นายจักรกริช เจริญเมธากุล นักวิเคราะห์ บล.ไอบี กล่าวว่าช่วงนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้น ไทยสุทธิมาก เป็นการขายทำกำไรหลังจากตลาด หุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงปลายปีที่แล้ว และนักลง ทุนกังวลข่าวลือในห้องค้ามาตรการที่ ก.ล.ต. เตรียมออก ว่าจะห้ามการซื้อขายแบบเน็ต เซทเทิลเมนต์ ซึ่งเป็นผลลบจิตวิทยาการลงทุน กดดัชนีลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ระยะยาวตลาด หุ้นไทยยังน่าสนใจสำหรับนักลงทุนต่างประเทศและไทย คาดว่าดัชนียังชะลอตัว แนวรับ 750 จุด ก่อนดีดกลับ

นอกจากนั้น นักลงทุนยังวิตกการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนกของประเทศในเอเชีย หลังองค์การอนามัยโลกเตือนว่า การระบาดของไข้หวัดนก อาจร้ายแรงกว่าโรคทางเดินหายใจรุน แรงเฉียบพลัน (ซาร์ส) ประกอบกับไก่ในประเทศไทยตายหลายแสนตัว แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไก่ ไทยไม่มีการ ติดเชื้อไข้หวัดนกก็ตาม

ส่วนการเตือนการคำนวณสัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (P/E) ตลาดหุ้นไทยของ ก.ล.ต. ว่าไม่ได้นำตัวเลขขาดทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) มาคิด มีผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนบ้าง เพราะนักลงทุนอาจมองว่า P/E ตลาดหุ้นไทยแพงแล้ว

แนวโน้มตลาดหุ้นวันนี้ (16 ม.ค.) คาดว่าดัชนียังปรับตัวลงต่อ โดยคาดนักลงทุนยังขายทำกำไรเพื่อรอกลับเข้าซื้ออีกครั้งช่วงใกล้ประกาศ ผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 4/46 ซึ่งหากดัชนีปรับตัวลดลงหลุด 750 จุด อาจมีการดีดกลับได้ โดยมีแนวรับ 756 จุด และแนวต้าน 776-780 จุด

ก.ล.ต.เผยวิธีคิดพีอี

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า P/E ถือเป็นตัวเลขสำคัญ ที่สามารถช่วยบอกเบื้องต้นว่า ราคาหลักทรัพย์สูงเกินปัจจัยพื้นฐานมากน้อยเพียงใด ดังนั้น ผู้ลงทุน จึงควรเข้าใจความหมายสัดส่วน P/E ชัดเจน

โดยการคำนวณ P/E ของตลาดรวม (Market P/E Ratio) ที่คำนวณโดยตลาดหลักทรัพย์ประเทศต่างๆ ในเอเชีย มี 2 วิธี ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย ตลาดหุ้นไทย จีน และฟิลิปปินส์ คำนวณโดยไม่รวมตัวเลขบริษัทที่ขาดทุน

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย คำนวณโดยรวม ตัวเลขบริษัทที่ขาดทุนด้วย

กรณีตลาดหุ้นไทย หากคำนวณโดยรวมตัวเลขบริษัทที่ขาดทุนไว้ด้วยเช่นเดียวกับประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ สำนักงาน ก.ล.ต. เห็น ว่าตัวเลข Maket P/E Ratio ณ สิ้นปี 2546 จะเพิ่มขึ้นจาก 13.63 เป็น 17.68 เท่าโดยประมาณ ขณะที่พีอีตลาดหุ้นไทยวานนี้ 13.64 เท่า ดังนั้น ผู้ลงทุนที่เปรียบเทียบ Maket P/E Ratio ระหว่างประเทศ ควรคำนึงถึงปัจจัยนี้ด้วย

ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) แห่งหนึ่ง ให้ความเห็นว่าส่วนกองทุน จะทราบอยู่แล้วว่า ตลาดหุ้นไทยใช้วิธีคำนวณ พีอีอย่างไร ซึ่งหากจะพิจารณาลงทุนเทียบกับตลาด หุ้นประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะคำนวณใหม่

โดยนำตัวเลขบริษัทจดทะเบียนที่ขาดทุนรวมด้วย ขณะที่นักลงทุนรายย่อยไม่น่าจะทราบ วิธีคำนวณ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าตลาดหุ้นไทยถูกกว่าที่อื่น ทั้งที่ความจริง ใช้ฐานคำนวณต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้วิธี คำนวณโดยไม่นำบริษัทที่ขาดทุนรวมด้วย ไม่ถือ ว่าผิด เนื่องจากการคำนวณ มีหลายรูปแบบ เพียง แต่ต้องเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบเท่านั้น

ด้านแหล่งข่าววงการหลักทรัพย์ ให้ความเห็นว่าการคำนวณค่า P/E โดยรวมของตลาดหุ้น ไทย โดยไม่นำตัวเลขบริษัทที่ขาดทุนคำนวณ ทำ ให้นักลงทุนเข้าใจผิด คิดว่าค่า P/E ตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบ P/E ตลาดหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาค ยังต่ำอยู่ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง หุ้นบริษัทที่ผลประกอบการขาดทุน ก็ซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น

ฉะนั้น ควรจะนำตัวเลขขาดทุนของบริษัทคำนวณด้วย เพื่อให้ค่า P/E ตลาดหุ้นไทย เป็นไปตามระบบสากล เพราะค่า P/E ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ที่มีขนาดใกล้เคียงตลาดหุ้น ไทย ก็นำตัวเลขบริษัทที่ขาดทุนมาคิดเช่นกัน

"นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประ-เทศเอง ก็มีการจัดคำนวณค่า P/E เอง เพราะไม่เชื่อถือค่า P/E ของไทยเท่าไร อย่างไรก็ตาม หากตลาดหลักทรัพย์นำผลขาดทุนบริษัทคำนวณ ค่า P/E ระยะสั้น อาจส่งผลกระทบภาวะการลง ทุนในตลาดหุ้นได้ เพราะนักลงทุนอาจเข้าใจว่า ค่า P/E ตลาดหุ้นไทยแพงขึ้น แต่ระยะยาว เชื่อว่าจะมีผลดีต่อตลาดฯ โดยรวม ซึ่งนักลงทุนไม่ควรใช้ค่า P/E ตัดสินใจลงทุนเพียงอย่างเดียว ควรวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร และพื้นฐานบริษัทประกอบด้วย"

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยวานนี้ กรณีสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จะหารือ ตลท. กรณีขอเลื่อนเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ว่า ตลท. พร้อมจะปฏิบัติตามมติ ที่ทำร่วมกันระหว่าง สมาคม บล.และ ก.ล.ต.

ทั้งนี้ การกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำซื้อขายหลักทรัพย์ 2 ปีที่ผ่านมา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือขัดกลไกตลาดฯ แต่ข้อดี คือลดการแข่งขันตัดราคา ทำให้โบรกเกอร์แต่ละแห่งให้ความสำคัญคุณภาพบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ แทน

"ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัท ปฏิบัติตามระเบียบในการเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเรื่องที่ยาก บริษัทหลักทรัพย์หลายๆ แห่ง มีการแข่งขันหรือแอบลดค่าธรรมเนียม และมีการกล่าวหากัน แต่ตลาดฯ ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดได้ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติงานในช่วงที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์พอใช้" นายกิตติรัตน์กล่าว

แนวทางดำเนินงานปีนี้ จะทำแบบพหุภาคี คือช่วยกันคิด อาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย ตลท. หวังว่าจะมีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดบัญชีเพิ่มอีกปีนี้ โดยต้องเตรียมพร้อม ทั้งบุคลากร และให้ความรู้นักลงทุน

กรณีส่งคำสั่งซื้อขายของนักลงทุน เขากล่าว ว่า ตลท.จะพิจารณามาตรการควบคุม เนื่องการส่งคำสั่งซื้อขายใน ตลท.จะสั่งผ่านเจ้าหน้าที่การตลาด (marketing/trader) และสั่งผ่านคอม-พิวเตอร์ ออนไลน์ แบบแรก เมื่อส่งคำสั่งซื้อขายผิดปกติ อาจก่อเกิดการบิดเบือนราคา หรือมีคำสั่งไม่เหมาะสม อาจพิจารณาโทษปรับ พักงาน สำหรับวิธีส่งคำสั่งซื้อขาย online กรณีมีคำสั่งไม่เหมาะสม จะไม่มีเจ้าหน้าที่ช่วยดูแล

ขณะนี้ ตลท.กำลังหารือวิธีดูแลการส่งคำสั่งซื้อขายให้เหมาะสม อาจใช้ซอฟต์แวร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการลงทุน ซึ่งนายกิตติรัตน์เชื่อ ว่าจะแก้ปัญหา 2 มาตรฐานได้ กรณีมีเจ้าหน้าที่กับไม่มี คาดว่าจะให้ทีม IT ตลท. ศึกษา และจะเสร็จภายใน 3 เดือน

ด้านนายรพี สุจริตกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า โบรกเกอร์จะหารือ เลขาธิการก.ล.ต.คนใหม่ ภายใน 22 ม.ค. นี้ ประเด็นเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ทั้งนี้ ก.ล.ต.ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และต้องรับฟังความ เห็นสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ด้วย แต่หวังว่า ภายในไตรมาสแรกปีนี้ จะหาข้อสรุปได้ ตามที่สมาคมฯคาดหวัง

ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะคำนึงปัจจัยหลายด้าน ทั้งฐานนักลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่ที่ต้องพิจารณา ส่วนจำนวนบัญชีที่เหมาะสมกับการเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่น ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ ภายในปีนี้ ก.ล.ต.จะขึ้นทะเบียนนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อควบคุม และสร้างมาตรฐาน ติดตาม ลงโทษ หากพบว่าข้อมูลที่วิเคราะห์ไม่ชัดเจน หรือ ไม่สามารถชี้แจงที่มาข้อมูลได้

จะกำหนดบทลงโทษผู้ทำผิด เช่น เจ้าหน้า ที่การตลาด จะสั่งพักใบอนุญาตชั่วคราว จนถึงเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.