ทิสโก้เป้าแบงก์เฉพาะแนวคิดเล็กพริกขีหนู


ผู้จัดการรายวัน(15 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

บง.ทิสโก้ (TISCO) เตรียมพร้อมเป็นแบงก์ขนาดเล็กที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche Bank) เหตุบริษัทยังมีขนาดเล็ก ที่ยังแข่งกับแบงก์ใหญ่ไม่ได้ในแง่ขนาดสินทรัพย์ แต่เชื่อว่าแข่งขันได้ในแง่ต้นทุนดำเนินงานที่ต่ำกว่าแบงก์มาก ยันไม่ควบรวมกับใคร แต่จะรวมกับไลเซนส์ อดีต บง.ไทยซากุระ ที่บริษัท ซื้อไว้ 2 ปีที่แล้ว "ปลิว" ยันกลุ่มทิสโก้พร้อมเดินหน้าทำธุรกิจที่กลุ่มได้เปรียบ ถนัด และพร้อมแข่งขัน รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ หลักทรัพย์ บลจ. ด้วยคอนเซ็ปต์"เล็กพริก ขี้หนู"(Small is beautiful)

บง.ทิสโก้เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่ในไทยกลุ่มแรก ๆ ที่ประกาศตัวพร้อมยก ฐานะเป็นแบงก์ที่มีลักษณะเฉพาะ (Niche Bank) โดยนายปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการ บริษัทเงินทุนทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ประกาศวานนี้ (14 ม.ค.) ว่าบริษัท ของเขาพร้อมขอใบอนุญาตประ-กอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดให้ขอได้เป็นทางการประมาณกลาง ก.พ.นี้

เขากล่าวว่า ที่จริงกลุ่มทิสโก้เป็นนักฉวยโอกาส (Opportunist) เมื่อไรก็ตามที่โอกาสเปิด เพราะกลุ่มพร้อมทำธุรกิจด้านตลาดเงิน-ตลาดทุนครบ เพราะถือหุ้น 100% ทั้ง บล.ทิสโก้ และ บลจ.ทิสโก้ ซึ่งปีที่แล้ว 2 ธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้กลุ่มก้าวกระโดด

ขณะที่เขายืนยันว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วยหลายธนาคาร ไม่จำเป็นต้องถอนหุ้นออกจากบริษัท เพราะกลุ่มธนาคารผู้ถือหุ้นเหล่านี้ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นเพื่อหวังส่วนต่าง ราคาหุ้น TISCO ไม่มีตัวแทนร่วมเป็นกรรมการบอร์ดของบริษัทแต่อย่างใด ขณะที่อีกหลาย ราย ถือหุ้นบางส่วนเป็นผล โดยถือหุ้นต่อจากการ ที่กลุ่มแบงเกอร์ทรัสต์ จากฮ่องกง ถอนหุ้นออกจากบริษัทก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ บง.ทิสโก้ไม่ขาดคุณสมบัติที่จะขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์

ผู้ถือหุ้นใหญ่ บง.ทิสโก้ ณ วันที่ 4 เม.ย.2546 ที่ทุนชำระแล้ว 11,702 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ซีดีไอบี และหุ้นส่วน (CDIB & Partners Investment Holding (Cayman) Ltd. ซึ่งจดทะเบียนที่หมู่เกาะเคย์แมน 16.8% ธนาคารมิซูโฮ (Mitzuho Corporate Bank Ltd.) จากญี่ปุ่น ซึ่งเดิมชื่อธนาคารไดอิชิ คังเงียว 7.6% ธนาคารดอยช์ จากเยอรมนี (Deutsche Bank) 5.2% ธนาคารกสิกรไทย 2.8% และอื่น ๆ 67.6%

นายปลิวกล่าวว่าขณะนี้ถึงอีก 2 ปีข้างหน้า บริษัทยังคงมุ่งเน้นทำธุรกิจที่บริษัทถนัดต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ หลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งเขายังคาดว่า ภาวะหุ้นกระทิงยังสิงตลาดหุ้นไทย ปีนี้

ขณะที่เขาเชื่อว่า แผนแม่บทการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยเพิ่มการ แข่งขันระหว่างสถาบันการเงินทุกประเภท ทั้ง บง. ธนาคาร เครดิตฟองซิเอร์ โดยจุดมุ่งหมาย ต้อง การให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงผู้บริโภค ได้ประโยชน์สูงสุด

นายปลิวกล่าวอีกว่า บง.ทิสโก้พร้อมยื่นขอ ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบกับ ธปท. ทันทีที่เปิดให้ขอกลาง ก.พ.นี้ โดยไม่จำเป็นต้องควบรวมกับใคร เพราะบริษัทซื้อใบอนุญาต อดีตบง.ไทยซากุระเตรียมไว้แล้ว ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เพื่อเตรียมการยกฐานะบริษัทเป็นธนาคาร ระยะแรก บริษัทหวังขยายฐานลูกค้าผ่าน ใบอนุญาตแบงก์ รวมถึงเปิดบริการธนาคาร เช่น ให้ ลูกค้าใช้เช็ค ที่ปัจจุบันบริษัทต้องพึ่งธนาคารพาณิชย์อยู่

แต่หลังจากบริษัทยกฐานะเป็นธนาคาร จะไม่ทำธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือธุรกิจการเงินด้านนำเข้า-ส่งออกแน่ เพราะไม่ถนัด

"เราเชื่อว่า การยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องใหญ่ เราเชื่อในแนวคิด Small is beautiful ซึ่งจะทำให้บริษัทมีต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบ กับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่มีสาขามาก ซึ่งหมายถึงต้นทุนคงที่ที่มากด้วย" เขากล่าว

กำไรพุ่ง 64%

ขณะที่อรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล หัวหน้าสายวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง บง.ทิสโก้ กล่าวถึงผลดำเนินงานปี 2546 บริษัทเงินทุน และ บริษัทย่อย สิ้นสุด ณ 31 ธ.ค. 2546 กำไรสุทธิ 1,890.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63.8% เทียบกำไรสุทธิ 1,154 ล้านบาทปี 2545

คิดเป็นกำไรต่อหุ้นปรับลด (Diluted earning per share) 2.60 บาท เพิ่มขึ้น 62.5% เป็น ผลจากการขยายตัวสินเชื่อเช่าซื้อ รายได้ค่านายหน้า และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ส่วนสินทรัพย์รวม 60,263.25 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้น 10,721.11 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเฉลี่ยรายปี (ROE) 21.4%

ด้านธุรกิจเงินทุน บง.ทิสโก้ ขยายปริมาณสินเชื่อเช่าซื้อได้ต่อเนื่อง เป็นผลปริมาณสินเชื่อเช่าซื้อโดยรวมของกลุ่ม 32,619.35 ล้านบาท เพิ่ม 39% เมื่อเทียบ 23,473.97 ล้านบาท ปี 2545

ด้านธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา รับรางวัล SET Awards 2003 ถึง 2 รางวัล คือ "Best Brokerage Service" และ "Best Research House" และมูลค่าขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นปี 2546 ส่งผลธุรกิจหลักทรัพย์ทิสโก้ รายได้ค่านายหน้าเพิ่มจากปีก่อน 133.4% เป็น 824.86 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 3.4% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ บล.ทิสโก้ เพิ่มจากปี 2545 เป็น 167.52 ล้านบาท เพิ่ม 167.3%

ด้านธุรกิจจัดการกองทุน บลจ.ทิสโก้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่ม 94.3% เป็น 409.95 ล้านบาทเทียบปีก่อน เนื่องจาก บล.ทิสโก้ลูกค้าเพิ่มขึ้น ทั้งกองทุนส่วนบุคคล กองทุนรวม ซึ่งรวมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่ง บลจ. ทิสโก้ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ณ 30 พ.ย.2546 สิ้นปี 2546 บลจ. ทิสโก้ สินทรัพย์ภายใต้บริหารรวม 56,459.42 ล้าน บาท เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง บง.ทิสโก้ตามมาตรฐาน BIS 21.4% เงินกองทุนสภาพคล่อง สุทธิธุรกิจหลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ 35.1%



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.