ปรับราคาสื่อโรงหนัง20%ชี้แห่ผุดอีก70จอกวาดเงิน


ผู้จัดการรายวัน(12 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มโรงหนัง ได้ทีปรับราคาสื่อโฆษณาในโรงหนังรับเศรษฐกิจขาขึ้น เอสเอฟหัวขบวนปรับขึ้น 20% หลังอั้นราคาเดิมมานาน เผย ปีนี้ตลาดรวมผุดโรงหนังขึ้นอีก ย้ำเป็นช่องทางสร้างรายได้โฆษณาเป็นเงาตามตัว ด้าน อีจีวี เมเจอร์ฯอีกสองค่ายยังจดๆ จ้องๆ มั่นใจตลาดรวมสื่อ โรงหนังปีนี้โต 15-20%

นายสุพัฒน์ งามวงศ์ไพบูลย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เอสเอฟ ซีเนม่าซิตี้ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ส่งผลให้ธุรกิจสื่อโฆษณาในโรงหนังมีความคึกคักเพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าตลาดสื่อโฆษณาโรงหนังจะมีประมาณ 400 กว่าล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงไม่ถึง 1% จากมูลค่าตลาดรวมสื่อโฆษณาทั้งระบบที่มีมากกว่า 70,000 ล้านบาทก็ตาม ซึ่งเป็นโอกาสและบ่งบอกถึงแนวโน้มการเติบโตในอนาคตของสื่อโฆษณาโรงหนังที่ยังมีอีกมาก

นอกจากนั้นในปีนี้ผู้ประกอบการโรงหนังรายใหญ่แต่ละรายมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนโรงมาก ขึ้นทำให้จำนวนจอเพิ่มเป็นเงาตามตัว ส่งผลให้ช่องทางการทำเงินสูงตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นสื่อโฆษณาที่มีราคาต่ำ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงตามความต้องการ

นายสุพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปีนี้เอสเอฟได้ปรับราคาค่าสื่อโฆษณาในโรงหนังเพิ่มขึ้นประมาณ 20% หลังจากที่ไม่ได้ปรับราคามา 2-3 ปีแล้ว จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ย 8,000-10,000 บาท ต่อสัปดาห์ ต่อโรงต่อสปอต 30 วินาที ซึ่งขึ้นอยู่กับทำเลด้วย ราคาใหม่คาดว่าจะมีความเหมาะสม กับสภาพตลาดที่เติบโตและดีขึ้น ซึ่งลูกค้าที่ซื้อสื่อโฆษณามี 2 แบบคือ เจ้าของสินค้าซื้อโดยตรง กับการซื้อผ่านเอเยนซี่ ทั้งนี้เอสเอฟยังคงดำเนิน นโยบายเดิมคือ การให้บริษัท แฮททริค จำกัดเป็นผู้บริหารและรับผิดชอบการขายสื่อโฆษณาโรงหนัง

อย่างไรก็ตาม เอสเอฟยังคงจำกัดระยะเวลาการโฆษณาไว้เท่าเดิมคือ โฆษณาสินค้าประมาณ 5-7 นาทีต่อรอบ และโฆษณาหนังตัวอย่างอีกไม่ถึง 10 นาทีต่อรอบ รวมแล้วไม่เกิน 15 นาทีต่อรอบ

เมื่อปีที่แล้วเอสเอฟมีรายได้จากสื่อโฆษณา โรงหนังประมาณ 120 ล้านบาท จากมูลค่าตลาด รวมที่มีตัวเลขเก็บไว้ประมาณ 400 กว่าล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 200 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมที่จะเพิ่มเป็น 600 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 60% ซึ่งสัด ส่วนรายได้จากสื่อโฆษณาคิดเป็น 10% จากรายได้รวมของเอสเอฟที่มีประมาณ 1,200 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดโรงหนัง 28% เมื่อสิ้นปีที่แล้วและคาดหวังเพิ่มมาร์เกตแชร์เป็น 32% ในปีนี้

จากการสำรวจของ "ผู้จัดการรายวัน" พบว่า ตัวเลขล่าสุดของทั้งสามรายใหญ่ในตลาดโรงหนังในเวลานี้มีมากกว่า 200 จอ คือ เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์มีประมาณ 130 โรง หรือจอ จำนวน 33,000 ที่นั่ง อีจีวีมีประมาณ เกือบ 100 จอ ส่วน เอสเอฟซีเนม่ามีประมาณ 49 โรง ซึ่งไม่นับรวมสาขาภาคตะวันออก

ทั้งนี้ เมเจอร์ฯเพิ่งจะเปิดสาขาใหม่สองแห่ง ที่นนทบุรีและอุดรธานี เมื่อไม่นานนี้ และมีแผน ที่จะเปิดสาขาเพิ่มอีกในปีนี้ด้วยอย่างต่ำ 2-3 สาขา ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนโรงเพิ่มขึ้นอีกไม่ ต่ำกว่า 20-30 โรง ขณะที่อีจีวีมีแผนเปิดอีกไม่ต่ำกว่า 2 สาขาขนาดใหญ่ และนอกจากนั้นจะมีอีกที่เป็นโรงประเภทดิจิตอลที่เรียกว่าดีไซน์

ส่วนเอสเอฟเองปีนี้เตรียมเพิ่ม จำนวนโรงหนังอีกหลายแห่งเช่นที่ ภูเก็ต 2 สาขารวมกว่า 15 โรง คือที่เซ็นทรัลภูเก็ตจะเปิดประมาณเดือน สิงหาคมและที่ป่าตองภูเก็ตเปิดประมาณปลายปีนี้ นอกจากนั้นในช่วงตรุษจีนนี้จะเปิดบริการเพิ่มอีก 5 โรงที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน และช่วงกลางปีเปิดอีก 5 โรงที่เดอะมอลล์บางกะปิ และไตรมาส ที่ 3 เปิดเพิ่มอีก 2 โรงที่เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เบ็ดเสร็จแล้วปีนี้คาดว่าจะมีโรงหนังเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70-80 โรง

ทางด้านอีจีวี นายประสงค์ รุ่งสมัยทอง ผู้อำนวยการบริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ 2 บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวทำนองเดียวกันว่า สื่อโฆษณาในโรงหนังมีโอกาส เติบโตอีกมาก ขณะเดียวกันอีจีวีเองก็ยังมีโอกาส ที่จะขยายสื่อตัวอื่นเพิ่มขึ้นด้วยไม่ว่าจะเป็นสื่อจอแอลอีดี หน้าตึกเมโทรโพลิสเป็นจอใหญ่ขนาด กว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร หรือแม้แต่สื่ออื่นเช่น วิดีโอวอลล์ โปสเตอร์แอด ทริปเปิ้ลแอด เป็นต้น ซึ่งมีโอกาสที่จะขายดีมากขึ้นด้วย โดยในปีนี้อีจีวี ได้เตรียมปรับลดสัดส่วนรายได้จากสื่อโรงหนังเหลือเพียง 60% ส่วนที่เหลือมาจากสื่ออื่น

นายประสงค์ ย้ำกับ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า การแข่งขันด้านสื่อโฆษณาโรงหนังในปีนี้จะมีความเข้มข้นมากขึ้น แม้ว่าจะมีหนังฟอร์มใหญ่เข้ามามาก แต่ในแง่ของการหาลูกค้าหรือสปอนเซอร์เข้ามาก็ต้องแข่งเหมือนเดิมเพื่อให้ลูกค้ามาลงโฆษณาที่ค่ายของแต่ละรายให้มากที่สุด ดังนั้นกลยุทธ์การขายสื่อปีนี้จะมีรูปแบบใหม่ มีส่วน ลด และรูปแบบการทำตลาดร่วมกับพันธมิตรที่จะมีมากขึ้น

โดยอีจีวีคาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากการขายสื่อในโรงหนังเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% จากปีที่แล้ว ที่อีจีวีทำยอดรายได้ 182 ล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวมที่อีจีวีประเมินว่ามี 840 ล้านบาท

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะอีจีวีมีการเพิ่มปริมาณ โรงหนัง อีกทั้งมาจากการปรับทีมการทำงานใหม่ ของการขายสื่อโฆษณาโดยปรับมาใช้ระบบ ไอเอ็มซี เพื่อให้การทำงานมีศักยภาพและความครบวงจรในการนำเสนอสื่อโฆษณาให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีทั้งการขายตรงประมาณ 30% และขายผ่านเอเยนซี่ประมาณ 70%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่ายเอสเอฟจะปรับราคาไปแล้ว แต่อีจีวียังคงอัตราเดิมไม่เปลี่ยน แปลงในช่วงนี้ เนื่องจากอีจีวีมั่นใจว่าราคาที่คิดอยู่นี้เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว คือ เฉลี่ยประมาณ 8,000 บาทต่อโรงต่อสัปดาห์ ต่อสปอต 320 วินาทีในกรุงเทพฯ ส่วนที่สาขาเมโทรโพลิสและ แกรนด์อีจีวีประมาณ 12,000 บาทต่อโรงต่อสัปดาห์ต่อสปอต 30 วินาที ขณะที่สาขาในต่างจังหวัด ประมาณ 6,000 บาท ขณะนี้อีจีวียังตรึง ราคาเดิมไว้ แต่ไม่แน่ว่าอนาคตอันใกล้นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาอีกหรือไม่

สำหรับค่ายเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งชูกลยุทธ์เดียวกับอีจีวีด้วยการบริหารธุรกิจนี้เอง ก็เป็นค่ายที่มีความน่ากลัวไม่น้อย เนื่องจากมีจำนวนจอมากที่สุด ดังนั้น อำนาจการต่อรองย่อมมีมาก กว่าค่ายอื่น อีกทั้งยังมีสาขากระจายในต่างจังหวัด มากกว่าค่ายอื่นด้วย โดยมีมาร์เกตแชร์ในตลาด นี้มากกว่า 50% ขณะที่รายได้จากการขายโฆษณา มีประมาณ 7% จากรายได้รวมของเมเจอร์ฯ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.