RATCHไม่เพิกถอนจากตลท.


ผู้จัดการรายวัน(9 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตไฟฟ้า ราชบุรีโฮลดิ้ง ยืนยันคงสถานภาพ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้ว่ากฟผ. จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ถึง 60% ภายหลังซื้อหุ้นกับกลุ่มบ้านปู และทำเทนเดอร์ฯซื้อหุ้นคืนจากรายย่อยตามระเบียบ ก.ล.ต.ในช่วงมีนาคมนี้ก็ตาม ขณะเดียวกันก็ยอมรับดีลซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจากบ้าน ปูแห้วแน่นอน แต่จะหันไปลง ทุนในโครงการอื่นแทน

จากกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ทำสัญญาบันทึกความเข้าใจกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) และ บริษัท CLP Power เมื่อวันที่ 5 มกราคม เพื่อซื้อหุ้นของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)(RATCH) จากกลุ่มบ้านปูทั้งหมด 14.9% และจะขายหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCOMP) จำนวน 25%ให้กับบ้านปู และ CLP Power นั้น หากการ เจรจาดังกล่าวประสบความสำเร็จ กฟผ.จะถือหุ้นใน RATCH สูงถึง 59.9% ซึ่งตามกฎระเบียบ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กฟผ.จะต้องทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หุ้น RATCH คืนจากรายย่อย

นายบุญชู ดิเรกสถาพร กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ได้หารือกับนาย สิทธิพร รัตโนภาส ผู้ว่าการ กฟผ.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่า กฟผ.ไม่มีเจตนาที่จะเพิกถอน RATCH ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพราะต้องการให้บริษัทฯ เป็นกลไกในการขยายการลงทุนเพื่อเสริมสร้างการเติบโตให้กฟผ.

ทั้งนี้ การลงนามสัญญาระหว่างบ้านปูและ กฟผ.ยังเป็นข้อตกลงเบื้องต้น หากเจรจาประสบ ความสำเร็จจะลงนามสัญญาซื้อขายหุ้นในปลายเดือนนี้ หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาโอนหุ้นและ ชำระค่าหุ้นในเดือนถัดไป ส่งผลให้ กฟผ.เข้ามาถือหุ้นในRATCH เพิ่มขึ้นจาก 45% เป็น 59.9% หลังจากนั้นภายใน 7 วัน กฟผ.จะต้องทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ หรือเสนอซื้อคืนหลักทรัพย์คืนจากรายย่อย ในราคาหุ้นละ 43.8569 บาทเท่ากับราคา ที่ซื้อจากบ้านปูในช่วงเดือนมีนาคม หากรายย่อย ไม่ขายหุ้นจนทำให้ กฟผ.มีหุ้นไม่ถึง 90% บริษัทฯ ก็จะไม่ถูกเพิกถอนจากตลาดฯ

แต่ถ้าผู้ถือหุ้นรายย่อยขายหุ้นจนทำให้ กฟผ.ถือหุ้น RATCH ถึง 90% จะส่งผลให้ RATCH ต้องออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปโดยปริยาย แต่ กฟผ.มีทางเลือกอื่น คือ สามารถเปิด โอกาสให้ผู้ร่วมทุนรายอื่นเข้ามา เพื่อคงสถานะการเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป ไม่เช่นนั้นคงต้องปล่อยให้ RATCH เป็นบริษัทนอกตลาด หรือยุบบริษัทเข้ามาอยู่ใน กฟผ.

นอกจากนี้ กฟผ.สามารถยื่นขอผ่อนผันไม่ทำเทนเดอร์ฯต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วยเหตุผลว่าการเข้าถือหุ้นเพิ่มขึ้นครั้งนี้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุมกิจการ เพราะที่ผ่านมา กฟผ.ถือหุ้นใหญ่ถึง 45%อยู่แล้ว นอกจากนี้ หาก ผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมเสียงได้เกิน 10% สามารถยื่นคัดค้านการเพิกถอนบริษัทฯออก จากตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย

หากดีลดังกล่าวประสบความสำเร็จ กฟผ. จะเข้ามาถือหุ้นใน RATCH เพิ่มขึ้นเป็น 59.9% ส่งผลให้ RATCH กลายเป็นรัฐวิสาหกิจประมาณ 2-3 เดือนในช่วงที่กฟผ.ยังไม่ได้แปรรูปเป็นบริษัท (มหาชน) แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อ การดำเนินงานของบริษัทฯ เพราะจะขอผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบรัฐวิสาหกิจ

"จากกรณีดังกล่าวได้สร้างความสับสนให้กับผู้ถือหุ้นย่อยมาก เพราะคิดว่าดีลดังกล่าวมีผลแล้ว และเชื่อว่ากฟผ.จะเพิกถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย จึงได้มีการเทขายหุ้น RATCH ออกมาอย่างต่อเนื่องจนทำให้ราคาหุ้นปรับลดลง เพราะหากกฟผ.ทำเทนเดอร์ฯ จะรับซื้อหุ้นคืนในราคาเดียวกับบ้านปู คือหุ้นละ43.8569 บาท ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอยู่ในระดับใกล้ เคียงกัน" นายบุญชูกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทฯจะนำเสนอข้อสรุปเกี่ยวกับผล ดีหาก RATCH คงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯต่อที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัทฯในวันที่ 12 มกราคมนี้ เนื่องจากบริษัทฯ มีความสำคัญในการเป็นเครื่องมือทำกิจกรรมบางอย่างที่คล่องตัวกว่าการอยู่ในรูปของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งบอร์ดบริษัทฯจะนำข้อเสนอดังกล่าวยื่นต่อกฟผ.ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

พร้อมทั้ง ขอแนะนำให้ผู้ถือหุ้น RATCH พิจารณาผลตอบแทนจากการถือหุ้น ซึ่งนับจากนี้อีกไม่นาน บริษัทจะจ่ายปันผลในอัตราไม่น้อย กว่า 40% ของกำไรสุทธิ รวมทั้งหากกฟผ. ทำเทนเดอร์ฯ หุ้น RATCH เท่ากับราคาของ BANPU ที่ 43.8569 บาท ผู้ถือหุ้นรายย่อย จะมีกำไรมาก กว่าการขายหุ้น RATCH ออกไปในช่วงเวลานี้ที่ระดับประมาณ 42 บาทต่อหุ้น และอาจมีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะกำหนด วันXDก่อนหรือหลังการทำเทนเดอร์ฯ

แห้วถือหุ้นบีแอลซีพี

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของบริษัทภายหลังกฟผ.แปรรูปเป็นบริษัท(มหาชน) ว่า เนื่อง จากบริษัทมีที่ดินในบริเวณโรงไฟฟ้าราชบุรี หลัง จากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหินกรูดขนาด 1,400 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งเพียงพอต่อการขยายโรงไฟฟ้า ได้อีก 700 เมกะวัตต์ และในส่วนของพื้นที่โรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ก็มีความสามารถก่อสร้างได้อีก 700 เมกะวัตต์เช่นกัน ซึ่ง RATCH ถือหุ้นอยู่ 37.5%

ส่วนกรณีที่เจรจาซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี กำลังผลิตประมาณ 1,400 เมกะ วัตต์จากบ้านปูนั้น นายบุญชู คาดว่า บ้านปูคงไม่ คิดจะขายหุ้นโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจำนวน 35% ให้กับRATCHตามสัญญาบันทึกช่วยจำ(เอ็มโอยู) ที่เคยทำไว้ เนื่องจากบ้านปูจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCOMP) จึงอาจดึงให้ EGCOMP เข้ามาซื้อหุ้นดังกล่าวแทนทำให้มีผลต่อการเติบโตของ RATCH เล็กน้อย แต่บริษัทฯก็มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าไอพีพีอื่นเพิ่มเติม โดยเข้าไปถือหุ้นแทนต่างชาติที่จะถอนการลงทุนออกไป คาดว่าจะมีความชัด เจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้านี้

ปัจจุบัน RATCH มีการลงทุนใน 3 บริษัท มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 68,356.75 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ผู้ดำเนิน งานโรงไฟฟ้าราชบุรี ขนาดกำลังผลิต 3,645 เมกะวัตต์ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก และบริษัท บ้านปูแก๊สเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 37.5 ในบริษัท ไตรเอนเนอร์จี้ จำกัด ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอร์จี้ ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนในโครงการใหม่อีกประมาณ 1 โครงการ กำลังผลิต ประมาณ 1,400 เมกะวัตต์

สำหรับผลการดำเนินงานของ RATCH ใน ปี 2546 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 2545 ที่มีกำไรสุทธิ 4,700 ล้านบาท เนื่องจากปี2546 เป็นปีแรกที่ RATCH มีกำลังการผลิตเต็มจำนวน คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลได้สูงกว่าปี 2545 ที่จ่ายปันผลไป 1.50 บาท โดยครึ่งแรกของปี 2546 บริษัทฯได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วหุ้นละ 0.75 บาท

"บุญชู" ยันไม่มีอินไซด์ขายหุ้น RATCH

นายบุญชู กล่าวยืนยันว่า ตนได้ขายหุ้น RATCH ออกไป 2 ล็อต จำนวน 2.9 หมื่นหุ้นในช่วงวันที่ 30-31 ธันวาคม 2546 เป็นการขายด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะเห็นว่าราคาหุ้นปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่สูง โดยไม่รู้ว่ากฟผ.ได้เจรจาซื้อหุ้น RATCH จากบ้านปู โดยได้รับแจ้งจากผู้ว่าฯกฟผ.ในวันที่ 3 มกราคม 2547 ว่าจะส่งจดหมายมาให้ RATCH และ EGCOMP เพื่อขอให้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯขอระงับการซื้อขายหุ้น (SP)เป็นการชั่วคราว เนื่องจากจะมีการเซ็นเอ็มโอยูการซื้อขายหุ้นกับบ้านปูและ CLP ดังที่กล่าวมาข้างต้น

สำหรับราคาขายหุ้นทั้ง 2 ล็อตอยู่ที่ 48.3 บาท และ49.72 บาท หลังจากนั้นได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯให้รับรู้ แต่เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่ ทำให้การเผยแพร่ต่อสาธารณชนเกิดในช่วงเปิดตลาดต้นปี 2547 ขณะที่เราขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯห้ามการซื้อขายหุ้นเป็นการชั่วคราวในวันที่ 5 มกราคม และเปิดทำการซื้อขาย อีกครั้งในวันที่ 6 มกราคม 2547 ยืนยันว่าการขายหุ้นครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการอินไซเดอร์แน่นอน และล่าสุด ตนยังคงเหลือRATCHอยู่ประมาณ 6.9 หมื่นหุ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.