บง.ฟินันซ่าฝันหวาน หวังยกฐานะเป็นแบงก์ หลัง ครม.ไฟเขียวแผนแม่บทตลาดเงินไทย
ที่ต้องการให้แบงก์ควบรวมกัน เพื่อให้แข่งขันกับแบงก์ต่างชาติได้ ขณะที่บริษัทแม่
ฟินันซ่า พร้อมบริษัท Japan Asia Investment (JAIC) และธนาคาร Aozora ร่วมกันตั้งกองทุน
The Asian Debt Fund, Ltd (TADF) เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 46 ด้วยยอดจองขั้นแรกทั้งหมด
เป็นเงิน 22.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
TADF เป็นกองทุนเปิดที่มีเป้าหมายลงทุนตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องในประเทศเอเชีย
นอกจากญี่ปุ่น โดยช่วงเริ่มต้น จะมุ่งเน้นไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยกองทุนฯ
มุ่งจะเจาะกลุ่มหนี้สินที่มีสภาพคล่องตัวสูง และมีหลักประกัน รวมถึงลงทุนระยะยาวในบริษัทที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้
และมีสถานภาพระดมทุน ปัจจุบันกองทุนฯ คัดเลือกบริษัทดังกล่าวไว้แล้ว
กองทุนฯ แต่งตั้งบริษัท ฟินันซ่า สิงคโปร์ บริษัทย่อยบริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน)
บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เป็นที่ปรึกษากองทุน
นายโม อิบราฮิม ตัวแทนบริษัท ฟินันซ่า สิงคโปร์ อดีตผู้ก่อตั้งสำนักงานบริหารหนี้เสียแห่งสิงคโปร์ให้บริษัท
Lazard Freres เชื่อว่าช่วงนี้ เป็นเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับกองทุนฯ เพราะขณะนี้
ยังมีหนี้เสียเหลือมากในระบบในช่วงเศรษฐกิจเอเชียฟื้นฟูนี้ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย
ต่างพยายามจะปรับบัญชีงบดุลของตน เพื่อ ให้สามารถรองรับการกู้ยืมใหม่ๆ ได้
นอกจากบริษัทที่ปรึกษาจะมีฐานแข็งแกร่งในประเทศ ยังประกอบด้วยประสบการณ์ยาวนานกลุ่มบริษัทผู้สนับสนุน
ซึ่งครอบคลุมพนักงานทั้งหมดประมาณ 300 คนสำนักงาน 12 แห่งทั่วเอเชีย
นายอิจิโร่ คาวาดะ ประธานกรรมการ JAIC Indonesia กล่าวว่า รากฐานที่แข็งแกร่ง
และเครือข่ายการทำงานที่ครอบคลุม เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการหาข้อตกลงเพื่อลงทุน
อีกทั้งจะช่วยทำให้กองทุนฯ เห็นโอกาสการลงทุนน่าสนใจต่อเนื่อง
จุดเด่นอีกอย่างของกองทุนฯ นี้ คือโครงสร้าง เป็นกองทุนเปิด เน้นผลตอบแทนสูงสุด
ซึ่งนักลงทุนรายใหม่สามารถลงทุนกองทุน TADF ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์
ได้วันแรกของทุกเดือน หวังว่ากองทุนฯ จะจ่ายเงินปันผลได้ทุกปี
ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์สุทธิกองทุน จะประกาศ ทุก 2 สัปดาห์ โดย Bank of Bermuda
ดูแลผลประโยชน์กองทุนฯ
นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บมจ. ฟินันซ่า (FNS) เปิดเผยว่า FNS มีแผนจะเพิ่มทุน
บริษัทลูก บง.ฟินันซ่า จากปัจจุบัน 500-600 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับเป็นธนาคาร
ขนาดใหญ่ หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเมื่อวันอังคาร (6
ม.ค.)
เงินเพิ่มทุนดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะมาจากการใช้สิทธิแปลงสภาพวอร์แรนต์ (FNS-W1)
ของนักลงทุน ซึ่งเมื่อแปลงสภาพทั้งหมดแล้ว บริษัทจะได้เงินทั้งหมดประมาณ 2,700
ล้านบาท อีกส่วน จะมาจากการเพิ่มทุนของบริษัท รวมทั้งการมีพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้
จะสรุปได้ภายในไตรมาส 1/2547
"หากวิเคราะห์แล้ว จะพบว่า ประเทศไทยจะเหลือแบงก์ไม่เกิน 20 แบงก์ ซึ่งน่าสนใจ
เพราะการแข่งขันจะไม่สูงมากนัก และทำให้เกิดเสถียรภาพทางธุรกิจ แต่ในระยะยาว การแข่งขันระหว่าง
20 แบงก์ด้วยกันเองนั้น อาจจะได้เห็นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า" นายวราห์กล่าว
นายวราห์กล่าวถึงแผนการตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ว่าขณะนี้ รออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ก.ล.ต.) ซึ่งหากได้รับอนุมัติ จะเปิดดำเนินการได้ทันที เพราะปัจจุบัน FNS บริการกองทุนต่างประเทศอยู่แล้ว
ส่วนธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ปีนี้ มั่นใจว่าจะเป็นที่ปรึกษาการเงินให้บริษัทใหม่
ที่ต้องการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 6-7 บริษัท โดยบริษัทแรกปีนี้ คือ
บมจ.สหโคเจน (SCG) หุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งเปิดเทรดวันแรก ด้วยราคาสูงกว่าราคาจอง
100%