การต่อสู้ภายใน บล.เอกธำรง เคจีไอ ระหว่างกลุ่มคูส์กับผู้บริหารคนไทยจบลงด้วยฝ่ายหลังต้องลาจากบริษัทเมื่อปลายปีที่แล้ว
วันนี้ผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวได้กลับมาทำงาน ที่ตนเองถนัดอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ที่เดิม
บล.ทรีนีตี้ คือ ชื่อบริษัทใหม่ที่เกิดจาก การซื้อใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์
มาจาก บล.เอสซีบี บุคคลัภย์ ด้วยมูลค่าประมาณ 123 ล้านบาท
บริษัทนี้ก่อตัวขึ้นแตกต่างจากบริษัท หลักทรัพย์อื่นๆ เพราะเกิดจากกลุ่มคนที่
ต้องการทำงานโดยมีภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์, กัมปนาท โลหเจริญวนิช และขนิษฐา
สรรพอาษา เป็นแกนนำร่วมกับพนักงานอีกประมาณ 40 คนที่ลาออกจาก บล.เอกธำรง
เคจีไอ ร่วมกันดำเนินงาน
ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคูส์ สถาบัน การเงินสัญชาติไต้หวันกับผู้บริหารดั้งเดิมที่ทำงานใน
บล.เอกธำรง เคจีไอ (อดีตชื่อ บล. เอกธำรง : S-ONE) เกิดขึ้นมาจากผลแห่งวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปลายปี
2539 ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถยืนอยู่ได้จึงจำเป็นต้องหาพันธมิตร มาร่วมกอบกู้สถานการณ์
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทหลัก ทรัพย์ในขณะนั้น เกิดขึ้นจากทางการขอร้องไม่ให้โบรกเกอร์บังคับลูกค้าขายหุ้นออกไป
(force sell) "เพราะการบังคับขายจะขาดทุนไม่มาก และบริษัทขนาดใหญ่ๆ อย่างเรา
ขาด ทุนแบบ force sell มันรับได้อยู่แล้ว" ขนิษฐา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
หลังจากทางการขอร้อง ประกอบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ดิ่งลงต่อเนื่อง ผลก็คือ
บรรดาบริษัทหลักทรัพย์ขาดทุนลงไปทุกวันๆ "เหมือนการตัดสินใจผิดพลาด" ขนิษฐา
บอก "จริงๆ แล้วธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ควรเสีย หายเช่นนี้ ซึ่งราคาหุ้นก็ตกลงเร็วมาก
พวกเรา เลยรับไม่ทัน รวมไปถึงมาตรการของรัฐบาลที่ผิดพลาด"
เมื่อทุกอย่างล่มสลาย บล.เอกธำรง ต้องดิ้นรนด้วยการพยายามมองหาพันธมิตรเข้ามาร่วมกอบกู้สถานการณ์
ผู้บริหารของบริษัทออกไปเจรจากับสถาบันการเงินต่างประเทศประมาณ 3-4 แห่ง
สุดท้ายมาลงเอยที่กลุ่มคูส์
"มันเป็นจังหวะ และไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายขนาดนี้ และทุกคนคาดหวังในแง่บวกกันหมด"
ขนิษฐากล่าว
เหตุผลที่ บล.เอกธำรงตัดสินใจเลือกกลุ่มคูส์ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจในไต้หวัน
ของครอบครัวนี้มั่นคงมาก และไม่ใช่กลุ่มธุรกิจที่ไม่มีหลักการ พวกเขาอยู่ในวงการสถาบันการเงินและเป็นกลุ่มธุรกิจคนจีนที่รักษาชื่อเสียงของตนเองมาตลอด
อีกทั้งกลุ่มคูส์ดำเนินธุรกิจอยู่ในภูมิ-ภาคนี้มานานและแข็งแกร่ง อาทิ
ไต้หวัน ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดที่มีการพัฒนาไปเร็วกว่า ตลาดไทย ดังนั้นหากไทยต้องการขยายตลาด
ทุน หรือแม้กระทั่งจะขยายไปทิศทางไหน ก็ต้องไปดู 2 ประเทศนี้เป็นแบบอย่าง
ผู้บริหารฝ่ายไทยคิดในใจว่า หากได้คนจากกลุ่มคูส์มาร่วมงานจะดีมากๆ เพราะ
พวกเขาเข้าใจความเป็นเอเชียมากกว่านักลง ทุนตะวันตก ก็เลยตัดสินใจเลือกและกว่าจะลงตัวก็คุยกันหลายเดือน
หลังจากที่ทั้งสองทำงานร่วมกัน ก็ไม่ปรากฏสัญญาณว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดี
ทั้งสองทำงานไปด้วยกันค่อนข้างราบรื่น โดยเฉพาะแนวคิดในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ
เพราะมองว่าหากรอตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวอย่างเดียวคงจะลำบาก
ทิศทางการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ผู้บริหารฝ่ายไทยก็สนับสนุน แม้กระทั่งกลุ่มคูส์
ขอเพิ่มทุนเพื่อนำเงินไปลงทุน หน้าที่ของภควัติและทีมงาน คือ การขออนุมัติเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น
นโยบายการลงทุนในต่างประเทศของ ทั้งสองฝ่าย ไม่มีความขัดแย้ง ปมความขัดแย้งอยู่ตรงที่กลุ่มคูส์เรียกร้องให้ขายหุ้น
บล. เอกธำรงให้บริษัทลูกของกลุ่มคูส์ ประเด็นนี้ผู้บริหารฝ่ายไทยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
การดำเนินการของกลุ่มคูส์ดังกล่าว กลุ่มผู้บริหารฝ่ายไทยมองทะลุว่า นี่คือการเทกโอเวอร์
บล.เอกธำรง เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้บริหารฝ่ายไทยแนะนำให้ไปขออนุมัติจาก ผู้ถือหุ้น
กรณีความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว ส่ง ผลให้มีการถกเถียงในที่ประชุมคณะกรรมการ
บริษัท จนกลายเป็นประเด็นร้อนและดูเหมือน กลุ่มคูส์มองว่าผู้บริหารฝ่ายไทยไม่ให้ความร่วมมือในสิ่งที่ตนเองต้องการ
"พวกเขาต้องการทำเช่นนี้อยู่แล้ว แต่ เราแย้งว่าหากทำเช่นนั้นภาพพจน์ของบริษัท
จะเสียหาย ก็บอกไปว่าหากจะทำธุรกิจในไทย ก็ต้องทำให้คนเชื่อถือไว้วางใจ เพราะหากใช้อำนาจดำเนินการก็ย่อมทำได้
แต่ทำได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น"
แม้ว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้น แต่กลุ่ม ผู้บริหารฝ่ายไทยยังมองว่าไม่ใช่เป็นการถูกหลอก
เพราะไม่รู้ว่าแนวความคิดการเทกโอเวอร์มีมาก่อนจะเข้ามาหรือเป็นความคิดที่ต่อเนื่องมาหลังจากเข้ามาทำงานแล้ว
ประเด็นดังกล่าว กลุ่มคูส์อ้างในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทว่า เกิดขึ้นในช่วงที่ออกไปเจรจาการลงทุนในสิงคโปร์
ซึ่งต้องการเห็นโครงสร้างใน บล.บล.เอกธำรง เคจีไอ แบบเบ็ดเสร็จ ขณะที่ผู้บริหารฝ่ายไทย
เห็นตรงข้าม
อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งดังกล่าวทั้งสองฝ่ายมองว่าเป็นเชิงธุรกิจมากกว่าเรื่องส่วน
ตัว แต่ฝ่ายเสียเปรียบหนีไม่พ้นฝ่ายไทย ที่ต้อง เป็นฝ่ายออกไปปะทะกับผู้ถือหุ้น
จึงเกิดความ รู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่แย่หากต้องอธิบายกับ ผู้ถือหุ้นถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างกะทันหัน
กระนั้นก็ตาม จนถึงวันนี้ยังไม่ปรากฏ ความเสียหายในเชิงการดำเนินงานภายในบล.เอกธำรง
เคจีไอ เพราะความขัดแย้งถึงจุดแค่การเปลี่ยนทีมผู้บริหารและโครงสร้างบริษัทเท่านั้น
จึงยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าความ เสียหายอยู่ตรงไหน
"วันนี้บอกได้ว่าเลือกพาร์ตเนอร์ไม่ผิด แต่แทนที่กลุ่มคูส์จะมาช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤติ
พวกเรากลับต้องมาเจอวิกฤติเสียเอง" ขนิษฐาบอก
หลังจากกลุ่มคูส์ยึด บล.เอกธำรง เคจีไอเบ็ดเสร็จแล้ว นอกจากภควัติ, กัมปนาท
และขนิษฐา ยังมีพนักงานที่โดนไล่ออกในรอบ แรก 30 คน ส่วนรอบหลังกลุ่มคูส์ให้พักร้อน
9 คน ทั้งที่ไม่มีความผิดอะไร เพียงแต่นั่งอยู่ในตำแหน่งที่กลุ่มคูส์อยากจะให้คนของตนเองมานั่งเท่านั้น
หลังจากนั้นทุกคนเริ่มมองอนาคต โดยเฉพาะ 3 แกนนำ ในการหาผู้สนับสนุนทางการเงิน
และก็ได้กลุ่มบริษัทคอม-ลิงค์ กลุ่มธุรกิจผู้รับสัมปทานในองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) ที่มีผู้ถือหุ้นระดับยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย อาทิ ธนินท์ เจียร-วนนท์
แห่งซีพี, บัณฑูร ล่ำซำ ที่ถือหุ้นในนาม ส่วนตัว และคนในตระกูลรวมไปถึงธนาคารกสิกรไทยด้วย,
สันติ ภิรมย์ภักดี เจ้าพ่อเบียร์ สิงห์ หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เมื่อผู้สนับสนุนการเงินลงตัว
ต่อไปเป็นหน้าที่ของภควัติที่จะต้องไปเจรจาหาบริษัทหลักทรัพย์ ในที่สุดก็มาลงเอยที่
บล.เอส ซีบี บุคคลัภย์ เป็นธุรกิจการร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารซันวาแห่งญี่ปุ่น
จาก บล.เอสซีบี บุคคลัภย์กลายมาเป็น บล.ทรีนีตี้ ใช้เวลาเพียง 4 เดือนในการปรับโฉมใหม่
และองค์กรนี้ก่อตัวขึ้นแตกต่าง จากบริษัทหลักทรัพย์อื่น เพราะเกิดจากกลุ่ม
คนที่ต้องการทำงาน
"คุณภควัติกับผมคุยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นของคนไทยและเป็นผู้บริหารเพื่อทำงานให้ลูกค้าคนไทย"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
กลุ่มบริษัทดังกล่าวจะมีโครงสร้างใน รูปแบบของโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นแห่งแรกของบริษัท
หลักทรัพย์ไทยที่ดำเนินการแบบนี้ โดยมีทรีนีตี้ วัฒนา เป็นบริษัทโฮลดิ้ง
ถือหุ้นโดยคอม-ลิงค์ จำนวน 83% ที่เหลือเป็นพนักงานของ ทรีนีตี้
ทรีนีตี้ วัฒนา จะเข้าไปถือหุ้นใน 3 บริษัท ได้แก่ บล.ทรีนีตี้, บริษัททรีนีตี้
อินฟอร์ เมชั่น และบริษัททรีนีตี้ แอ๊ดไวซอรี่ 2001 โดยถือหุ้นจำนวนเท่าๆ
กัน 99.99%
"การจัดโครงสร้างโฮลดิ้งจะทำให้มีความคล่องตัวในการขยายงาน โดยเราจะใช้
โฮลดิ้งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน" ภควัติ กล่าว
ขณะที่สถาบันการเงินแห่งอื่นตกต่ำ บางแห่งต้องยุบรวมหรือปิดกิจการ แต่การเปิด
ตัวใหม่ล่าสุดของบล.ทรีนีตี้ จึงกลายเป็นการ สวนกระแสตลาดอย่างมาก ที่สำคัญยังเป็น
การประกาศศักยภาพการวางแผนระยะยาวในการก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในแบบผสมผสาน
"เราอยากเห็นแนวทางการลงทุนของ ลูกค้าเป็นแบบพอร์ตโฟลิโอที่ผสมผสานระหว่างตราสารหนี้และหุ้นทุน
ที่มีการปรับลดสัดส่วนตามภาวะเงิน ตลาดทุนและเศรษฐกิจ" ภควัติชี้
การรุกสู่ธุรกิจผสมผสาน หมายความ ว่า ต้องการลดการพึ่งพิงเฉพาะรายได้ส่วนค่า
คอมมิชชั่น ทั้งยังต้องเพิ่มศักยภาพในส่วนธุรกิจหลักทรัพย์และทักษะในด้านวาณิชธนกิจ
สังเกตได้จากหันมาเน้นความสนใจและความ ต้องการของลูกค้าเป็นอันดับแรก "เรามั่นใจทีมงานด้านการตลาด
ค้าตราสารหนี้และวาณิชธนกิจที่มีประสบการณ์ในวงการกว่า 10 ปี"
ที่สำคัญ ทรีนีตี้ยังมุ่งเน้นนโยบายการดำเนินงานโดยอาศัยความสัมพันธ์ฉันมิตร
กับลูกค้าเก่า ขณะเดียวกันยังจะเพิ่มความเป็น อิสระในการทำงาน และพวกเขาไม่ต้องการเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด
แต่ต้องการ เป็นผู้ที่เข้าใจตลาดได้ดีและสามารถให้บริการ ลูกค้าได้ในขอบข่ายที่กว้างขวาง
สิ่งที่ท้าทายของบริษัทจากนี้ไป คือ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง จึงเป็นที่มาของปรัชญาที่ว่า
มุ่งมั่นด้วยศรัทธา สร้างสรรค์ด้วยปัญญา นำพาสู่ความสำเร็จ แต่จะทำได้ มากน้อยแค่ไหนนั้น
ขึ้นอยู่กับความพยายาม อย่างไรก็ดี กลุ่มคนที่โดนไล่ออกจาก บล. เอกธำรง เคจีไอ
ครั้งนี้ กลายเป็นพระเอกใน สายตาของนักลงทุนไปโดยปริยาย