คลังตีปีก จีดีพีปีวอก 8% ไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีปัจจัยบวกจากภาคส่งออก ที่คาดโตอย่างต่ำ
10% เพราะได้รับอานิสงส์จากการเจรจาเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคีกับหลายประเทศ และแนวโน้มค่าเงินหยวนที่ปรับตัวสูงขึ้น
บวกแรงส่งจากการขยายการลงทุนใหม่ของภาคเอกชน และการออกบอนด์ระดมทุนแทนการกู้จากแบงก์มากขึ้น
ส่วนภาคการบริโภค จำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงลง โดยรัฐจะลดโครงการเอื้ออาทรแต่เน้นเพิ่มความแข็งแกร่ง
เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
เริ่มต้นปี 2547 ด้วยข่าวดีจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นาย กิตติ ลิ่มสกุล
ที่มองแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ว่าจะยังขยายตัวได้ดี และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึง
8% ตามเป้าที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีปักธงไว้ได้อย่างไม่ยาก เนื่องจากมีปัจจัยบวกจากหลายประการเป็นแรง
ส่งที่สำคัญ
โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคการส่งออกและภาคการลงทุน การขยายตัวตลาดสินค้าและบริการที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
และอานิสงส์จากการที่รัฐบาลได้ทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยสามารถขยายฐานการส่งออกได้มากขึ้น
มั่นใจส่งออกขยายตัวไม่ต่ำกว่า10%
ทั้งนี้ มั่นใจว่าภาคการส่งออกในปีนี้จะมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องค่าเงินหยวนของประเทศจีนที่มีอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ
8-10% ก็ตาม แต่ที่ผ่านมา จีนได้รับรู้เป็นอย่างดีว่าค่าเงินหยวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศคู่ค้าทั้งในและนอกภูมิภาค
ซึ่งขณะนี้จีนกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ ดังนั้น การส่งออกของไทยจึงมีโอกาสในการแข่งขันได้มากขึ้น
"จีนรู้ว่าถ้าไม่ยอมปรับค่าเงินหยวนให้สูงสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น
ประเทศอื่นจะแย่หมด ดังนั้น จีนจึงพยายามจัดการทำให้ค่าเงินหยวนอยู่ในสภาวะที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
เพียงแต่ไม่ต้องการประกาศให้ชาวโลกได้รับรู้เพราะเกรงจะเสียหน้า"
รัฐปล่อยเอกชนขับเคลื่อนการลงทุน
สำหรับภาคการลงทุน ในปี 2547 ภาครัฐจะเข้าไปลงทุนน้อยลงจากปีที่ผ่าน มา แต่จะปล่อยภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่ต่อไป
โดยการลงทุนของภาครัฐในปีนี้จะเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นปัจจัยในการอำนวยความสะดวกในการขยายการลงทุน
เพื่อเป็นแรงจูงใจนักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การสร้างโครงข่ายถนน 21 สาย
ด้วยวงเงินประมาณ 3.4 แสน ล้านบาท
ดังนั้นในปีวอกนี้ จะได้เห็นการลงทุนของเอกชนอย่างแท้จริง แม้ว่ากำลัง การผลิตปัจจุบันจะอยู่ที่ระดับประมาณ
70% แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ๆและการลงทุนใหม่เกิดขึ้น โดยจะมีการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักร
ตัวใหม่มาใช้ในการผลิต ส่งผลให้ภาคการลงทุนขยายตัวได้มากขึ้นอย่างแน่นอน
ตลาดเงินฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจ
นายกิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเงินค่อนข้างเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เพราะเป็นภาคที่ยังมีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก
จึงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ โดยมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อเฉลี่ยน้อยกว่า
1% ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกู้ยืมเงินมาใช้ในการลงทุน
"ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็นคือ รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้เองเพื่อลดการพึ่งพาทุนจากตลาดเงิน
นอกจากนี้จะสนับสนุนให้มีการซื้อขายพันธบัตรระหว่างรัฐวิสาหกิจของแต่ละประเทศได้
โดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อเป็นการลดภาระหนี้ของภาครัฐลง"
ในปี 2547 จะเป็นปีรัฐบาลให้ความสำคัญกับการผลักดันเรื่องการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย
หรือเอเชียบอนด์อย่างเต็มที่ โดยความคืบหน้ากรณีที่สถาบันการเงินต่างประเทศ อาทิ
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี และกองทุนความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิก
จะออกพันธบัตรสกุลเงินบาท(บาทบอนด์)นั้น เป็นเรื่องที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับการปรับตัวของตลาดใดตลาด หนึ่ง เนื่องจากทั้ง
3 ตลาด ซึ่งได้แก่ ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ มีความสัมพันธ์กัน ที่ผ่านมาดอกเบี้ยตลาดเงินอยู่ที่ประมาณ
1% จากผลกระทบ ของหนี้เสีย และธนาคารไม่ยอมเพิ่มทุน ส่วนตลาดตราสารหนี้ระยะยาว
10 ปี อยู่ที่ 5.1%
ตลาดทุนขยายตัวเพิ่มขึ้น
ขณะที่ตลาดทุนมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 10% เพราะบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีกำไรดี
ดังนั้น เม็ดเงินลงทุนจึงไหลเข้าสู่ตลาดทุนเป็นจำนวน มาก โดยคาดว่า ในปีนี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดตราสารหนี้
ที่จะขยับ อายุตราสารจากระยะยาวเป็นระยะสั้นเพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น
ในส่วนของตลาดทุนยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีบริษัทและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากเข้าจดทะเบียน
ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีผลประกอบการที่ดี จึง เชื่อว่าตลาดทุนน่าจะสามารถเติบโตต่อไปอีกได้และจะทดแทนตลาดเงินได้
แต่จะถึง 1,000 จุดได้หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการระดมทุนในตลาดฯ
สำหรับภาคการบริโภคภายในประเทศ ในปีนี้รัฐบาลจะลดบทบาทการกระตุ้นลง หลังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมา
2 ปี ดังจะเห็นได้จากปี 2546 ที่ผ่านมามีกระแสเอื้ออาทรออกมามิได้หยุด เริ่มตั้งแต่
บ้านเอื้ออาทร คอมพิวเตอร์เอื้ออาทร จักรยานเอื้ออาทร ทีวีเอื้ออาทร ซึ่งเมื่อรวมกับโครงการ
ประชานิยมหลายโครงการที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2545 อาทิ โครงการกองทุนหมู่บ้าน
โครงการธนาคารประชาชน โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และมาสิ้นสุดส่งท้ายปี 2546 ด้วยการแจกบำเหน็จดำรงชีพ
ให้กับข้าราชการบำนาญเพื่อเป็นของขวัญวันคริสต์มาสแล้ว ในลำดับต่อไปรัฐจะหันมาเน้นส่งเสริมความมั่นคงในการครองชีพมากขึ้น
รัฐบาลงดออกโครงการเอื้ออาทร
ผู้ช่วย รมว.คลัง กล่าวว่า ในปีนี้จะไม่มี อะ เดย์ ออฟ ซานตาครอส หรือ โครงการลักษณะเอื้ออาทรออกมาอีก
หรือถ้ามีก็ควรจะมีน้อยที่สุด ด้วยเหตุผลว่า ของแจกเป็นสิ่งที่ควรมี แต่ต้องมีขอบเขตจำกัด
อย่างการให้เงินสนับสนุนภาคการศึกษาจะมีความรัดกุมมากขึ้น คือ จะมอบเป็นลักษณะการมอบเงินแห้ง
โดย จะใช้วิธีการมอบให้ทางโรงเรียนไปจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ไม่ใช่ลักษณะเงินสดผ่านระบบเอทีเอ็มเช่นที่ผ่านมา
ชะลอความร้อนแรงการบริโภค
นอกจากนี้ รัฐจำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของการบริโภคลง โดยที่ผ่าน มาทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)
ได้ดูแลระดับการใช้เครดิตเพื่อการบริโภค อย่างใกล้ชิด ขณะที่กระทรวงการคลังมีมาตรการทางภาษีเป็นปัจจัยในการรักษา
เสถียรภาพโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายภาษี
และจะดำเนินมาตรการทางการคลังในลักษณะรักษาวินัยทางการคลังมากขึ้น
ภาครัฐได้มีการเฝ้าระวังเรื่องภาวะฟองสบู่เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้มี มาตรการหลายๆ
ด้านที่เข้าไปแตะเบรกเพื่อไม่ให้เกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่หวือหวาหรือร้อนแรงจนเกินไป
และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจด้วย
แม้ว่ารัฐบาลจะลดของแจก แต่อย่าลืมข่าวดีต้นปี ที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศที่มีความเดือดร้อน
อาทิ ไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน มีหนี้สินล้นพ้น เป็นบุคคลเร่ร่อน หรือถูกต้มตุ๋นหลอกลวง
ฯลฯ มาลงทะเบียนไว้กับรัฐบาล แต่ วันที่ 5 มกราคม-31 มีนาคม 2547 หลังจากนั้นรัฐบาลจะนำผลการลงทะเบียนทั้งหมดมาประมวลเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป