แบงก์งัดกลยุทธ์แย่งเค้กรายย่อยปีวอกจ้องปล่อยกู้"บ้าน-บุคคล"


ผู้จัดการรายวัน(5 มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ปีวอก แบงก์ยึดธุรกิจบ้าน ประกาศเดินกลยุทธ์สู้ทุกรูปแบบ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการ ดอกเบี้ย ไม่หวั่นมาตรการสกัดธุรกิจอสังหาฯ จากทางการ มองแนวโน้มธุรกิจโตถึง 25% ด้านสินเชื่อ บุคคลเพิ่มสีสันมีผู้เล่นรายใหม่ลงสนาม

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจมาเมื่อปี 2540 ซึ่งผลของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเกิดจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่อง ของมาตรการด้านภาษีอัตราดอกเบี้ยต่ำติดดิน ภาพรวมของเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯเติบโตประมาณ 30% ผลจากการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มมีช่องทางการดำเนินธุรกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำขึ้น

ในช่วง 2 ปีถือว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นตัวนำของการทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์และมีแนวโน้มที่จะนำต่อไปอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นแผนปีนี้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทุกแห่งจึงมุ่งมาที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก โดยคาดว่าทั้งระบบ ธนาคารพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อดังกล่าวมากกว่า 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโต 25%

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจน้องใหม่ที่จะเข้ามาเสริมในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์คือ สินเชื่อบุคคล โดยเชื่อมมาจากนโยบายของรัฐบาลที่กระตุ้นให้ประชาชนมีการใช้จ่าย จึงเป็นช่องทางการหารายได้ในรูปแบบของสินเชื่อบุคคล ที่สรรหาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และมีผู้ประกอบการในตลาดจำนวนมาก ทั้งธนาคาร พาณิชย์ และ NON-BANK เป็น การแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากที่สุด

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวถึงแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2547 ว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะมีการขยายตัวได้ดีกว่าปี 2546 หรือมียอดปล่อยกู้โดย สถาบันการเงินประมาณ 170,000 -200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 20-25% เนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น จะส่งผลให้รายได้ของประชาชนดีตามไปด้วย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในระบบ ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีความต้องการที่จะกู้เงินเพื่อมาซื้อที่อยู่อาศัย

โดยรูปแบบของการแข่งขันในปีหน้านั้น จะยังคงอยู่ในรูปแบบ เดิมๆคือ การใช้อัตราดอกเบี้ยคง ที่(Fixed Rate)เพราะคาดว่าอัตรา ดอกเบี้ยในระบบน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปี ในขณะเดียวกันการออกแคมเปญด้าน การตลาดใหม่ๆก็ยังไม่ได้มีผลในการกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อได้จริง จากการที่ธนาคารพาณิชย์มีช่องทาง ในการกระตุ้นความสนใจสำหรับ สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากนัก

กรุงศรีอยุธยาเดินหน้าลุยสินเชื่อบ้านต่อ

นางชาลอต โทณวนิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัด การใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อ ที่อยู่อาศัยถือว่าเป็นสินเชื่อหลักของรายย่อย โดยมีความปลอดภัย มีความเสี่ยงน้อยกว่าสินเชื่อบุคคล อีกทั้งเป็นฐานการเติบโตจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 2544-2546 และในปีหน้าธนาคาร ได้ตั้งเป้าขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 22% ซึ่งจะเติบโตไปพร้อมๆกับตลาด ในปีที่ผ่านมาตลาด อสังหาริมทรัพย์ขยายตัวประมาณ 43% เป็นยอด การขอสินเชื่อโตประมาณ 41% เป็นการโตสุทธิประมาณ 17% มองว่าธนาคารไทย สินเชื่อทีอยู่อาศัยเป็นสินเชื่อหลัก เพราะมองถึงระยะยาว แต่ถ้าแบงก์ต่างชาติจะมองธุรกิจอะไรที่เป็นระยะสั้นและมีผลตอบแทนที่ง่าย มองสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นผลระยะยาวทำยาก

ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ทำได้เกินเป้า เชื่อว่าสิ้นปีจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 14,000 ล้านบาท ทั้งปี 2547 สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงเป็นตัวนำของการปล่อยสินเชื่อธนาคาร โดยทำแผน 5 ปี จากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 10% ของสินเชื่อทั้งหมด มองว่าการทำธุรกิจแบงก์ครบวงจร ดังนั้นมองว่าจะต้องใหญ่กลางเล็ก มีการเติบโตในแนวเดียวกัน ดังนั้นมองตัวเลขแล้ว สินเชื่อรายย่อยหรือบุคคลยังคงมีช่องทางการขยายอีกมาก

ไม่เน้นแข่งด้านราคา

การแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีหน้าจะ มีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นตัวนำ จะเปลี่ยนเป็นรูปของผลิตภัณฑ์ และการ ให้บริการ แต่สิ่งที่สำคัญคือพันธมิตร ที่จะเข้ามามอบสิทธิประโยชน์ให้กับกลุ่มของตัวเองมากที่สุด ดอกเบี้ยมีแนวโน้มว่าจะขึ้น ซึ่งธนาคารจะไม่รับความเสี่ยงเรื่องของดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้นจะมองถึงลักษณะของการเสนออัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือวงเงินที่ให้กู้ ซึ่งขณะนี้ก็มากกว่า 90% อยู่แล้ว บาง รายอาจจะมีกว่า 100% โดยจะทำในลักษณะของการบวกกับสินเชื่อบุคคลด้วย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยพร้อมกับเฟอร์นิเจอร์ การคิดดอกเบี้ยจะต้องผูกกับความเสี่ยง

ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ยอดรวมคงค้างปี 2545 ประมาณ 164,000 ล้านบาท และไตรมาสที่ 3 ประมาณ 148,000 ล้านบาท โดยมองว่าทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 200,000 ล้าน เนื่องจากการเติบโตในปีนี้จะดีมากตั้งแต่ต้นปี และจะมีอัตราการเติบโตที่ดีต่อไปอีกแต่จะเติบโตในอัตราที่ลดลง โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอดีตที่ผ่านมาสูงสุดประมาณ 240,000 ล้านบาท ปีหน้า การเติบโตจะเป็นอัตราที่ลดลง เพราะจะมีการกระตุ้นลดลง และแรงควบคุมจะมาก

ลุยสินเชื่อบุคคลเพิ่มสีสัน

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กล่าวต่อไปว่าด้านตัวเลขอุปโภคบริโภคสินเชื่อบุคคล เป็นส่วนที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนที่เดินทางทำกิจกรรมต่างประเทศ และอีกส่วนจะอยู่ในส่วนสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต โดยมีตัวเลขครึ่งปี 2546 ทั้งระบบประมาณ 175,000 ล้านบาท ซึ่งจะไม่ได้รวมในส่วน ของบริษัทจำกัด ที่แยกออกจากระบบสถาบันการเงิน เช่น KTC โดยตัวเลขบัตรเครดิตทั้งระบบประมาณ 4,000,000 ใบ คิดเป็นอัตราการเติบโต 20% เติบโตลดลงจากปี 2544-2545 ที่มีอัตราการเติบโต 30% เนื่องจากในปี 2544 เป็นช่วงที่ธปท. ได้ยกเลิกเพดานของเงินเดือนขั้นต่ำ

สินเชื่อบุคคลปีหน้ามีบทบาทเข้มข้น

สินเชื่อบุคคลจะเริ่มมีผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาเล่นมาก เนื่องจากแรงจูงใจด้านอัตราดอกเบี้ย ที่ยังไม่ถูกจำกัด ทั้งเรื่องของเพดานรายได้ขั้นต่ำของลูกค้า ทำให้ตลาดยังมีโอกาสเติบโต ทำให้หลาย บริษัทเข้ามาทำธุรกิจ โดยมีการแยกออกเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ 3 กลุ่ม คือ ธนาคารพาณิชย์ต่าง-ประเทศหรือลูกครึ่ง คือจะทำในระดับสูงและระดับ กลาง โดยไม่ลงไปเล่นในกลุ่มรากหญ้า เพราะยังมีระบบเครือข่ายที่น้อยจะใช้ระบบการขายตรงซึ่งปัญหาของกลุ่มดังกล่าวคือการติดตามหนี้ ถ้าเครือ ข่ายไม่กว้างขวางจะลำบาก

พอเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครทำจริงจัง เพราะ 1.ดูตลาดสินเชื่อบุคคล ยังไม่แน่นอน มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยจะเติบโตจากฐานลูกค้ารายใหญ่ จึงมองว่าการทำรายย่อย ผลตอบแทน ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะต้องใช้แรงงานคนมาก ลงทุนระบบเทคโน-โลยีต่างที่จะต้องเข้ามาสนับสนุนเป็นจำนวนมาก การได้ผลตอบแทนระยะยาว ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงการทดลอง หรือทำไปเพื่อไม่ให้ตก ขบวนเท่านั้น หรือเป็นการทำเพื่อเสริมผลิตภัณฑ์ให้ครบวงจร

เป้าสินเชื่อบุคคลโต 50%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้จัดระบบสนับสนุนเสร็จแล้ว ยังเหลือเรื่องการจัดอันดับหรือการจัดกลุ่ม ซึ่งจะแล้วเสร็จในต้นปีหน้า มั่นใจว่าด้านเครื่อง มือของธนาคารมีครบ ดังนั้นจึงทำแผนตั้งเป้าของการเติบโตของสินเชื่อบุคคลในปีหน้า 50% เทียบจากฐานของปี 2546 หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 1,500 ล้านบาท ซึ่งหากดูเป็นตัวเลขจะไม่มากนัก โดยจะต้องดูสถานการณ์เพราะตลาดตอนนี้แบงก์มองว่ายังมีความเสี่ยงมาก จะลงไปเล่นในระดับรากหญ้า มาก ก็มีผู้ประกอบการเข้าไปแล้ว เช่น NON-BANK และยังมีการประกาศเปิดตัวอีกมาก ดังนั้น ธนาคารจะดูว่าคู่แข่งที่ชัดเจนของเราเป็นใคร และมองว่าที่ประกาศตัวจะเข้าไปลงเล่นในตลาดใด กลุ่มลูกค้าใด ศักยภาพของธนาคารจะเป็นกลุ่มใดบ้าง

สำหรับนโยบายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา คือ 1.จะเข้าไปในกลุ่มของผู้ที่มีเงินเดือนประจำที่ใช้การตัดเงินเดือน 2.กลุ่มที่ต้องทำกับพันธมิตร เหมือนกับที่ไปเปิดตัวกับ INDEX หรือโรงพยาบาล เพราะการจ่ายเงินจะจ่ายไปที่พันธมิตร จ่ายเงินตรง กับวัตถุประสงค์ หรือเรื่องของสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ คือจะตรงเข้าไปยังพันธมิตร โดยธนาคารจะไม่ให้สินเชื่อเป็นรายบุคคล ไม่ใช่ทำสินเชื่อในลักษณะเช่าซื้อ ของธนาคารจะเป็นการติดต่อกับหน่วยงาน ส่งเป็นล็อตไป ดังนั้นมองว่าเป้าหมายของธนาคารปล่อยสินเชื่อบุคคล 1,500 ล้านบาท จะแยกเป็น 50% ทำร่วมกับพันธมิตร แต่อีกส่วนที่เหลือเราจะนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปกระจายให้กับลูกค้า ทั่วประเทศทั้งหมดโดยผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคาร

กสิกรไทยเพิ่มลูกเล่น "Capped Rate"

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า ในปี 2547 อุปทานด้านที่อยู่อาศัยจะมีมาก ขึ้น ผู้ประกอบการระดับกลางเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมามีผู้ประกอบการด้านนี้ประมาณ 40 ราย ซึ่งทำให้การแข่งขันด้านดอกเบี้ยไม่รุนแรงเหมือนกับที่ผ่านมา อีกทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 เป็นปัจจัยทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขึ้น

รูปแบบการคิดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยของ ธนาคารยังเน้น 2 รูปแบบคือ 1.คิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ และ 2.อัตราดอกเบี้ยแบบกึ่งลอยตัว และคาดว่าในปี 2547 การกำหนดอัตราดอกเบี้ยคง ที่ที่ใช้อยู่ อาจต้องปรับขึ้นอีกเล็กน้อย นอกจากนี้ธนาคารได้หาช่องทางช่วยให้ผู้กู้ลดความเสี่ยงของ ตัวเอง โดยนำรูปแบบการคิดแบบ "Capped Rate" มาใช้ โดยให้ผู้กู้จะต้องซื้อเงื่อนไขเพื่อประกันอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงสุด ซึ่งจะนำมาใช้ได้ก่อนกลางปี 2547 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการคำนวณต้นทุนในการดำเนินการ เพราะธนาคารจะต้องหาแหล่งเงินทุนที่ปล่อยกู้ให้ได้เท่ากับระยะเวลาที่ธนาคารควรจะประกันดอกเบี้ยให้ผู้กู้

สำหรับสินเชื่อบุคคลนั้น ธนาคารจะให้ความ สำคัญกับการขยายสินเชื่อวงเงินเบิกเกินบัญชี แบบ ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือ K-Bank Privillage โดยมีการตั้งเป้าขยายสินเชื่อในปี 2547 เพิ่มประมาณ 1,500 ล้านบาท จากในปี 2546 ปล่อยสินเชื่อ ดังกล่าวประมาณ 1,200 ล้านบาท

"ตลาดสินเชื่อบุคคลโดยรวมในปี 2546 เติบ โตประมาณ 20-30% ซึ่งคาดว่าในปี 2547 นี้ อัตรา การเติบโตจะอยู่ในระดับเดียวกัน เนื่องจากยังมีการ แข่งขันในการให้บริการอยู่ ทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และ NON-BANK โดยกลยุทธ์หลักที่ธนาคารจะนำมาใช้คือ เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่น". นายชาติชายกล่าว

ไทยพาณิชย์ประกาศนั่งแท่นผู้นำรายย่อย

คุณหญิงชฏา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดกล่าวว่า ธนาคารมีนโยบายที่จะมุ่งไปสู่การเป็นยูนิเวอร์แซล แบงกิ้ง และจะมีการแบ่งกลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่มคือ กลุ่ม ลูกค้ารายย่อย(Retail Banking) กลุ่มลูกค้าเชิงพาณิชย์(Commercial Banking)กลุ่มวาณิชธนกิจ (Investment Banking) โดยกลุ่มของลูกค้าราย ย่อยยังคงเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในธนาคาร โดย ในระยะ 3 ปีข้างหน้าธนาคารจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าราย ย่อยเป็น 40% จากปัจจุบันที่มีลูกค้ารายย่อยประมาณ 26% เนื่องจากมองว่าลูกค้ากลุ่มธุรกิจราย ย่อยจะเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงมากที่สุด

ธนาคารมีการตั้งเป้าหมายสินเชื่อในปีหน้าขยายตัว 4% หรือคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท และยังคงเข้าไปเน้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งธนาคารถือว่าเป็นผู้นำทางด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งด้านการให้บริการ อัตราดอกเบี้ย โดย โครงการพิเศษต่างๆที่ธนาคารทำขึ้นสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด และในปีนี้ตั้งเป้าที่จะขยายกลุ่มลูกค้ารายย่อยเพิ่มประมาณ 20% โดยเป็นการขยายตัวทางด้านสินเชื่อประมาณ 4% โดยเฉพาะธุรกิจลูกค้าบุคคลที่มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 27% ของระบบ ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับ 1 อยู่แล้ว และมีแผนว่าในอนาคตจะต้องขยาย ส่วนแบ่งทางการตลาดของบุคคลประมาณ 40% จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าประมาณ 6,000,000-7,000,000 คน ธนาคารต้องการที่ จะเน้นออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อเคหะที่ปัจจุบันได้เป็นผู้นำทางด้านมาร์เกตแชร์อยู่แล้ว ดังนั้นมั่นใจว่าในปีนี้จะสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้อีก

จากเป้าหมายและแผนการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของแต่ละแบงก์ เห็นได้ว่า การยกเลิกมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลไม่ได้ส่งผลกระทบกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเลย กลับมองถึงช่องทางที่เพิ่มธุรกิจอีกด้วย ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเกี่ยวกับบ้านราคาแพง 10 ล้านบาทขึ้นไป อนุญาตให้แบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้เพียง 70% เท่านั้น เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไรจนเป็นเหตุของฟองสบู่แตก ซึ่งทุกแบงก์ก็ออกมาโต้ทันทีว่า แบงก์มีความระมัดระวังอยู่แล้ว รวมทั้งบ้านราคาแพงส่วน ใหญ่จะปล่อยกู้อยู่ในกรอบ 70% อยู่แล้ว ถือว่าปีวอกจะเป็นปีทองอีกหนึ่งปีสำหรับตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.