ธปท.ชี้เกษตรหนุนเศรษฐกิจโตต่อ


ผู้จัดการรายวัน(31 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ธปท.เผย รายได้ภาคเกษตรหนุนให้ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ย. ขยายตัวต่อเนื่องเช่นเดิม ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง แต่ยังไม่น่าห่วง ส่วนดุลบริการเกินดุลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในช่วงปี 2546

นางอัจนา ไวความดี ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายการเงิน ฝ่ายเศรษฐกิจภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจของเดือนพฤศจิกายน 2546 ว่ายังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยรายได้ภาคการส่งออกและการบริโภคของภาคเอกชนยังคง เป็นแรงขับเคลื่อนในการขยายตัวที่สำคัญ ซึ่งการส่งออกในสิ้นเดือน พ.ย.ได้ขยายตัวถึง 16% คาดว่าปีหน้าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปีนี้

สำหรับการอุปโภคในปี 47 น่าจะขยายตัวในอัตรา 4.5% ซึ่งแม้ว่าจะชะลอลงกว่าปีนี้ แต่ถือว่าเป็นการขยายตัวในระดับที่สูงต่อเนื่อง และลดลงเพียงเล็กน้อย ขณะที่การใช้กำลังการผลิตภายในประเทศ ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 67% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ที่ขยายตัว 69.3% เนื่องจากในเดือน ต.ค. มีการปิดซ่อมโรงงานในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เหล็ก และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็ก

อย่างไรก็ตาม ในปลายปีนี้จะมีการนำข้าของสินค้าทุนเพิ่มขึ้นมาก ทำให้คาดได้ว่าการลงทุนในปีหน้าจะเอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้การลงทุนปีหน้าขยายตัวต่อเนื่องมีทั้งหมด 7 ประการ คือ อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น กำลังซื้อภาคเอกชนในระบบมีความแข็งแกร่ง ผลประกอบการของบริษัทเอกชนปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยในระบบอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง การปล่อย สินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น

ประการสุดท้ายคือ การลงทุนที่ยังคงอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต โดยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งยังมีช่องที่จะขยาย ตัวได้ เพราะอัตราที่เหมาะสมในการเติบโตระยะยาวน่าจะอยู่ประมาณ 25% ของจีดีพี สำหรับธุรกิจภาคการท่องเที่ยวในเดือน พ.ย. มีรายได้กลับมาอยู่ในภาวะปกติ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ดุลบริการเกินดุลสูงขึ้นมาก โดยในเดือน พ.ย.อยู่ที่ระดับ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากรวมกับดุลการค้าที่เกินดุล 557 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการส่งออกที่ขยายตัวสูง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,085 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นอัตราที่สูงสุดในช่วงปี 2546

ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย. มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งคาดว่าการท่องเที่ยวในเดือน ธ.ค.และปีหน้าจะมีแนวโน้ม ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีปัจจัยทางด้านลบ เช่น ปัญหาโรคซาร์สเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือน ที่ผ่านมา ทำให้ปีหน้าแนวโน้มของการไหลเข้าของเงินต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับการใช้จ่ายในประเทศ ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4% เมื่อเทียบ กับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. กิจกรรมการใช้จ่ายโดยรวมชะลอลงเพราะในเดือน ต.ค.มีปัจจัยพิเศษที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้แก่ การจัดประชุมผู้นำเอเปก

นางอัจนา กล่าวต่อว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้น 1.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 4.5% ตามราคาไก่สดที่ภาวะการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี และราคาเครื่องประกอบอาหารตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่วนราคาในหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารเพิ่มขึ้น 0.4% ตามราคาน้ำมัน

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวดีขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งก็ขยายตัวอยู่ในระดับสูง ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 0.1% หลังจากอยู่ที่ 0.0% ติดต่อกันมา 3 เดือน ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารบริโภคนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหารที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ในเดือน พ.ย. เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่แคบตลอดเดือน พ.ย. ซึ่งค่าบาทโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 39.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากเดือน ก่อนหน้านี้ เนื่องจากมาตรการที่ ธปท.ออกมาเพื่อป้องกันการเก็งกำไร ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มความระวังในการบริหารสภาพคล่องบาทมากขึ้น สำหรับค่าเงินบาทระหว่าง 1-25 ธ.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ 39.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเดือนพ.ย. เพราะผู้ส่งออกเริ่มทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น รวมทั้งนักลงทุนมีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.