ไทยธนาคารย้ำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีหน้ายังโตได้ต่อเนื่อง ผลจากดอกเบี้ย ต่ำ
ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวอาจชะลอความร้อนแรง เนื่อง
จากราคาบ้านขยับสูงขึ้น เตือนผู้ประกอบการรายใหม่ หากไม่ดีจริงแบงก์ไม่ปล่อยกู้ให้
สำนักวิจัยและวางแผน ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ธุรกิจอสังหาริม-ทรัพย์จะยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณอุปทานที่อยู่อาศัยที่ยังทยอยเข้าสู่ตลาด รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ
แต่อัตราการขยายตัวดังกล่าวอาจชะลอความร้อนแรงลงบ้าง เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มขยับสูงขึ้น
เนื่อง จากการผลักภาระต้นทุนการก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการไปให้กับผู้บริโภค
นอกจากนี้ แนวโน้มดอกเบี้ยระดับต่ำ จะเป็นเสมือนดาบสองคมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
กล่าวคือ ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้สูงขึ้น
รวมทั้งเป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น
นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ได้รับการลดหย่อนจากภาครัฐ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ
อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคบางรายตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่อาจจะเกินกำลังซื้อปกติของตน
ซึ่งจะกลายเป็นภาระหนักในอนาคต
นอกจากนี้สำนักวิจัยธนาคารไทยธนาคาร ยังแพร่บทความ "ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปี
2547 กับการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ" ระบุว่า การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระตุ้นผู้ประกอบการให้กลับมีความเคลื่อนไหวมากขึ้น
เห็นได้จากผู้ประกอบการพัฒนา ที่ดินรายเดิมเริ่มมีการพัฒนาโครงการเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่จากธุรกิจอื่นก็ทยอยเข้าสู่ธุรกิจ
ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯ มีความเห็นว่าการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ครั้งนี้
คงจะไม่ง่ายเหมือนกับช่วงอสังหาริมทรัพย์ บูม ในอดีต โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบัน
การเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ
รายใหม่ ประกอบกับปัจจุบันสถาบันการเงินเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับผู้บริโภคมากกว่า
เมื่อแหล่งเงินทุนสำหรับพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ยังมีจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องสร้างจุดแข็งเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการรายเดิม
นอกจากนี้ การที่กระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการการลดหย่อนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ปรับลงจากอัตรา
3.3% เหลือ 0.11% เท่ากับว่ามาตรการนี้ต้องสิ้นสุดลง
สำหรับการปรับอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 0.11% กลับไปเก็บในอัตราเดิมที่ 3.3% ในเบื้องต้นจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการปรับอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะกลับไปใช้ที่อัตราเดิม
จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 5% แต่ผู้ประกอบการสามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคด้านการขึ้นราคาที่อยู่อาศัย
ขณะที่มาตรการการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองที่อัตรา 0.11% ตามลำดับ
ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน จากกระทรวงมหาดไทย