ทักษิณลั่น"อยู่ได้ก็อยู่"รัฐไม่บังคับควบแบงก์


ผู้จัดการรายวัน(25 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

นายกรัฐมนตรีเผย การเพิ่มขนาดธนาคารพาณิชย์โดยการควบรวมให้เหลือ 3-4 แห่ง ตามแผนแม่บททางการเงิน รัฐบาลจะไม่บังคับ ถ้าธนาคารเอกชนมั่นใจว่าจะยืนอยู่รอด "หม่อมอุ๋ย" โบ้ยเป็นเรื่องของคลัง ส่วนสวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นผู้บริหารและพนักงานธนาคาร ส่วนใหญ่ยอมรับว่าช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ระบบ แต่ไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่า จะมีการผูกขาด

กรณีที่รัฐบาลจะออกแผนแม่บททางการเงิน (Financial Master Plan) โดยกำหนดกรอบ ให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกิจการให้เหลือเพียง 3-4 แห่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำนวนธนาคารพาณิชย์ ตามแผนแม่บททางการเงินจะเหลือกี่แห่ง หลักการสำคัญขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความแข็งแกร่ง สามารถรับมือกับการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์กันเองและสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-bank)

ปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์ไทยมี 13 แห่ง เป็นธนาคารเอกชน 9 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา เอเชีย ดีบีเอสไทยทนุ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ยูโอบีรัตนสินและธนาคารธนชาต ส่วนธนาคารรัฐ 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ทหารไทย นครหลวงไทย และธนาคารไทยธนาคาร

"ถ้ายังเปาะแปะต้นทุนก็สูงจะไม่คุ้ม ไม่มีการประหยัดจากขนาด ไม่มีขนาดที่เหมาะสม แต่ถ้าใครคิดว่ายืนอยู่ได้ก็อยู่ ใครยืนไม่ได้จะไปรวมกันก็เป็นเรื่องที่ทำได้ คงไม่บังคับให้แบงก์เอกชนรวมกัน แต่อย่างน้อยเราต้องทำให้แบงก์พาณิชย์ของรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทยแข็งแรง แม้จะมีหนี้เสียแสนล้าน ก็กำลังแก้กันอยู่ และเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ไม่มาก" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

สำหรับปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำเป็นต้องแก้ไข ขณะนี้หลายฝ่ายช่วยกันและไปได้ดี ทางการมีการยืดสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่ง ครม.ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการควบรวมกิจการ ให้ธนาคารพาณิชย์เหลือเพียง 3-4 แห่งว่า การตัดสินใจดำเนินการต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง สำหรับธปท.ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ธนาคารแห่งใด มีแนวโน้มที่จะควบรวมกิจการมากที่สุด

"เป็นคำพูดของคลังก็ต้องไปถามคลังเอง" ผู้ว่าฯธปท.กล่าว

ขณะที่สวนดุสิตโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารและพนักงานธนาคารพาณิชย์ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 384 คน ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย 53.08% เพราะอาจจะเกิดการผูกขาดไม่เกิดภาวะการแข่งขัน มีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกันและศักยภาพแต่ละธนาคารต่างกัน

ส่วนที่เห็นด้วย 35.38% เพราะเห็นว่าจะก่อให้เกิดความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร และสร้างความน่าเชื่อถือได้ ที่เหลือ 11.54% ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในหลักการและยังไม่ทราบข้อมูลที่แน่ชัด



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.