"สุชาติ" เผย "แบงก์กรุงไทย-กรุงเทพ" ลอยตัวในการควบรวมกิจการภายใต้นิยาม
"ธนาคารขนาดใหญ่" เหตุสินทรัพย์ เกินล้านล้านบาท ขณะที่ "วิโรจน์"
ใจป้ำประกาศกรุงไทยมีศักยภาพถึงเป็นแกนนำ บิ๊กไทยพาณิชย์ย้ำแม้ประเทศไทยจะเหลือ
1-3 แบงก์ แต่ไทยพาณิชย์ต้องอยู่ ส่วนกสิกรไทยบอก "เราอยู่ได้"
ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านรายการสภาท่าพระอาทิตย์
เอฟเอ็ม 97.5 เมกะเฮิรตซ์ วานนี้ (23 ธ.ค.) ว่า การควบรวมธนาคารพาณิชย์ตามแผนแม่บททางการเงิน
(Financial Master Plan) อาจจะให้เหลือไม่เกิน 5 แห่ง เพื่อให้เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
สามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ โดยในส่วนของ เอกชนจะให้มีการควบรวมกันด้วยความสมัครใจ
"ขณะนี้ มีธนาคารพาณิชย์รวม ทั้งสิ้น 13 แห่ง แต่ไม่ได้หมายความ ว่ารายเล็กๆ
จะเข้าขั้นล้มละลาย เพียงการเป็นแบงก์ขนาดกลาง-เล็ก คือมีเงินทุนระหว่าง 4-5 แสนล้านบาท
จึงไม่สามารถต่อสู้ด้วยตนเอง ขณะที่แบงก์ใหญ่ จะต้องมีเงินทุนมากกว่าล้านล้านบาท
ปัจจุบันมี อยู่เพียง 2 แห่ง คือแบงก์กรุงเทพ และกรุงไทย" ร.อ.สุชาติ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะนำแผนแม่บททาง การเงิน เสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันอังคารหน้า
(30 ธ.ค.) ก่อนที่จะประกาศใช้ต่อไป และคาดว่าจะใช้เวลาในการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ให้แล้วเสร็จภายใน
1-2 ปี
กรุงไทยพร้อมเป็นแกน
นายวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีแนวทาง
ควบรวมธนาคารพาณิชย์ให้เหลือ 3-4 แห่งว่า กระแส การควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์
ส่วนตัวมองมาแล้ว 2 ปี โดยน่าจะมีธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 แห่ง หรือเลวร้ายที่สุดควรมีแค่
5 แห่ง ซึ่งเพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชน โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ปัจจุบันมีจำนวนที่มากเกินไป
สำหรับการควบรวมต้องพิจารณาจากส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ขนาดของสินทรัพย์
ส่วนความชัดเจนจะมีการควบรวมกี่แห่ง ต้องรอแผนแม่บททางการเงิน ที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีวันที่
30 ธ.ค.นี้ และหลังจากนั้นเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมี การเรียกธนาคารพาณิชย์เข้าไปหารือ
"ธนาคารกรุงไทยมีขนาดทรัพย์สิน 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของระบบ ถือว่ามีขนาดทรัพย์สินเป็นอันดับ
2 รองจากแบงก์กรุงเทพ ดังนั้นธนาคารกรุงไทยจึงมีความพร้อมที่จะเป็นแกนนำในการควบรวมมากกว่าที่จะถูกควบรวม
สำหรับธนาคารแห่งไหนควบรวมกับธนาคารแห่งใด ธปท.จะเป็นผู้รู้ดีที่สุด เพราะเป็นผู้ควบคุมสถาบันการเงิน
แต่วันนี้กรุงไทยพร้อมเป็นแกนในการ ควบรวมกิจการอยู่แล้ว" นายวิโรจน์กล่าวถึงความพร้อม
ณ สิ้นวันที่ 31 ตุลาคม ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 1.124 ล้านล้านบาท และช่วง 9 เดือน
มีกำไรสุทธิ 6,000 ล้านบาท
นายวิโรจน์กล่าวว่า การควบรวมกิจการ ทางการต้องมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อให้การควบรวมเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
และไม่ควรให้ธนาคารจับคู่กันเอง เพราะทำให้สะเปะสะปะ และเกิดขึ้นได้ยาก สำหรับการควบรวมขึ้นอยู่กับราคาหุ้นของ
2 สถาบัน และการเปิดเผยข้อมูล สำหรับธนาคารกรุงไทยนั้นถือว่าเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่
จึงเหมาะสำหรับการเป็นแกนนำในการควบรวม และหากไม่ต้องควบรวมกับธนาคารแห่งใด ธนาคารกรุงไทยสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว
แต่หากพิจารณาด้านกลยุทธ์ ถ้าธนาคารกรุงไทยไปควบรวมกับธนาคารแห่งอื่น ก็เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าหลังจากการควบรวมความเสรีของธุรกิจธนาคารพาณิชย์จะหมดไป
เพราะการทำธุรกิจต่อไปต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยมีอัตราการเติบโตอย่างมาก
โดยใน ปี 2545 มีอัตราการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น 24% และ ปี 2546 ขยายสินเชื่อ 16-17%
ขณะที่ระบบธนาคาร พาณิชย์ขยายสินเชื่อ 1-2% หรือเรียกได้ว่าธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อเพื่อหล่อเลี้ยงระบบ
แต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้หลังจาก การควบรวมกิจการธนาคารพาณิชย์จะมีความ
เข้มแข็งมากขึ้น และสามารถยืนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาอุ้มสถาบันการเงิน
เหมือนกับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ไทยพาณิชย์หมดห่วง
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการ บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามกระแสของทั่วโลกซึ่งจะเร็วหรือ
ช้านั้นต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะธุรกิจธนาคารนั้นขนาดถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ที่จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลง ซึ่งในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์นั้นไม่ขัดข้องกับกระแสการควบรวมกิจการ
แต่ระยะเวลานั้นต้องรอดูอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับขนาดของธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบันถือว่าใหญ่อยู่แล้ว แต่หากมีขนาดที่ใหญ่กว่านี้ก็จะเป็นการดี
ซึ่งประสิทธิภาพต้นทุนของธนาคารในปัจจุบันก็ถือว่าไม่แพ้ใคร ซึ่งหากควบรวมธนาคารก็จะใหญ่ขึ้น
ต้นทุนการดำเนินธุรกิจลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญในการควบรวมคือ
การทำงานร่วมกันได้และเสริมกันได้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็เพื่อให้ธนาคารมีความแข็งแกร่ง
มีการบริหารความ เสี่ยงที่ทันสมัยและดีพอ
"เราไม่ขัดข้องกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการควบรวม เพราะไม่ว่าจะเหลือธนาคารในประเทศไทยกี่ราย
แต่ไทยพาณิชย์ก็ยังคงอยู่ในนั้น ซึ่งเชื่อว่าในอีก 5 ปี การควบรวมของระบบธนาคารพาณิชย์จะเห็น
ภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ตอนนี้เรายังไม่มีใครอยู่ในใจ แต่ถ้าเราจะเลือกใครก็ต้องดูว่ามีสิ่งที่มาเสริมกับ
เราได้หรือไม่" นายวิชิต กล่าวถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น
กสิกรไทยบอก "เราอยู่ได้"
นายธงชัย เจริญสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทย
เรื่องควบรวมไม่จำเป็น "เราอยู่ได้"
นายธงชัยกล่าวว่า แนวทางการควบรวมธนาคารพาณิชย์มีมาแล้วในต่างประเทศ ส่วนในไทย
แล้วหากควบรวมแล้วดีก็น่าจะดำเนินการ แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลาเพราะมีองค์ประกอบการหลายอย่าง
ต้องพิจารณา ไม่ว่าเรื่องของนโยบายที่สอดคล้องกันมากหรือน้อยแค่ไหน การประเมินสินทรัพย์
ซึ่งต้องใช้เวลาและควบรวมแล้ว จะมีการแยกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ออกไปทันทีหรือไม่
และที่สำคัญคือเรื่องของพนักงาน
"สิ่งสำคัญที่สุดของการดำเนินธุรกิจแบงก์ การลงทุนเรื่องเทคโนโลยีมีผลสำคัญต่อการแข่งขัน
ซึ่งแบงก์ใหญ่ๆ มีความสามารถที่จะลงทุนได้มาก ขณะที่แบงก์ขนาดเล็กแล้วการลงทุนเรื่องเทคโนโลยี
ไม่คุ้ม และการรวมธนาคารในภาวะที่เศรษฐกิจดี ก็โอเค" นายธงชัยกล่าว
นางสาวรัชนก ด่านดำรงรักษ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ธนชาติ กล่าวว่า
การรองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคตและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขัน จะทำให้
"ขนาด" เป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economy of scale)
ส่วนความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ วานนี้ (23
ธ.ค.) ดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากได้รับทราบนโยบายการควบรวมกิจการธนาคาร
หากพิจารณาหุ้นเป็นรายตัว ปรากฏว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเกือบทั้งกระดาน
มีเพียงธนาคารกรุงไทย ( KTB) เพียงตัวเดียว ที่ราคา หุ้นยืนอยู่เหนือราคาปิดวันก่อน
และปิดการซื้อ ขายที่ 10.04 บาท เพิ่มขึ้น 1.96% ขณะที่หุ้นธนาคาร พาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงมากสุด
3 อันดับแรกคือ ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ (DTDB) ปิดที่ 5.15 บาท ลดลง 2.83% ธนาคารทหารไทย
(TMB) 5.55 บาท ลดลง 2.63% และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) 46.50 บาท ลดลง 2.62%