Real Partner Real Competitor

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

การจับมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทย กับ MasterCard เพื่อออกบัตร Kurve Card นั้น สามารถมองได้หลายนัย แต่สำคัญที่สุด คือตลาดบัตรเครดิต โดยยึด Lifestyle ของผู้ใช้กำลังกลายเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

หากมองในแง่กลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว การเปิดตัวบัตรเครดิตรุ่น Kurve Card ของค่าย MasterCard International เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนเป็นการออกตัวที่ช้าไปสักนิด เมื่อเทียบกับค่าย Visa International ที่ได้เปิดตัวบัตรเครดิต Mini Card ไปก่อนหน้าแล้วกว่า 1 เดือน

บัตรทั้ง 2 ใบของทั้ง 2 ค่าย ล้วนจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกัน คือกลุ่มคนหนุ่ม-สาว วัยเริ่มต้นทำงาน อายุตั้งแต่ 20-35 ปี

ค่าย Visa เรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่ากลุ่ม "Trendy" ขณะที่ MasterCard เรียก เป็นกลุ่ม "Generation X"

แถมในวันเปิดตัว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ค่าย Visa ซึ่งจับมือกับบริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) พาผู้สื่อข่าวกลุ่มใหญ่ ไปร่วมงานเปิดตัวบัตร Visa Mini Card ประเภท Travel Card อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้เหลือผู้สื่อข่าวที่มาอยู่ร่วมการเปิดตัว Kurve Card ที่ MasterCard จับมือกับธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นที่สยามเซ็นเตอร์ไม่มากนัก

แต่หากมองในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว การเปิดตัวบัตร KBANK MasterCard รุ่น Kurve Card ถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ประการแรก ถือเป็นการรุกทำการตลาดอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกของ MasterCard เพราะการเปิดตัวบัตร Kurve Card กระทำในเวลาใกล้เคียงกับการยิงโฆษณาชุด "เต่าข้ามถนน" ของ Master Card ทางโทรทัศน์ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมทางการตลาดสำหรับธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทยที่ MasterCard ว่างเว้นไปนานหลายปี

MasterCard เริ่มกลับมาให้ความสำคัญกับตลาดบัตรเครดิตในประเทศไทยมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การทำตลาดเป็นการทำอย่างเงียบๆ ต่างจาก Visa ที่ทำในเชิงรุกมากกว่า

ดังนั้น ทั้งการเปิดตัวสินค้าใหม่ และการแพร่ภาพโฆษณาจึงเปรียบเสมือนเป็นการประกาศตัวต่อสาธารณะว่านับแต่นี้เป็นต้นไป MasterCard กำลังจะบุกเข้ามาในตลาดบัตรเครดิตในไทยอย่างจริงจังแล้ว

ประการต่อมา การเลือกเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งแรกที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจบัตรเครดิต และเคยเป็น Issuer ที่มียอดผู้ถือบัตรสูงที่สุดในประเทศไทยมาแล้ว ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ

แม้ปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจนี้ของธนาคารกสิกรไทย จะตกลงมาเหลืออยู่ในอันดับที่ 4 รองจาก KTC City Bank และบริษัทบัตรกรุงศรี แต่ธนาคารกสิกรไทยก็กำลังเร่งทำการตลาดอย่างหนัก เพื่อดึงให้ส่วนแบ่งการตลาดกลับขึ้นมาใหม่ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

การที่ MasterCard เลือกจับมือกับธนาคารกสิกรไทย ซึ่งว่ากันว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีสายสัมพันธ์ชนิดแนบแน่นยาวนานอยู่กับค่าย Visa จึงถือเป็นคู่พันธมิตรที่เหมาะสมสำหรับการแข่งขันกันในตลาดบัตรเครดิตที่มีคู่แข่ง สำคัญ คือคู่พันธมิตร KTC และ Visa

ประการที่ 3 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกลุ่มลูกค้าวัย 20-35 ปี ที่มีต่อผู้ให้บริการบัตรเครดิต เพราะกลุ่มลูกค้าวัยนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีกระบวนการคิดก่อนตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้า ประเภทใด โดยใช้เวลาไม่นานนัก

การจับลูกค้ากลุ่มนี้ให้อยู่หมัด จึงต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ เห็นได้ชัดคือการใช้จุดเด่นทางกายภาพของตัวสินค้า คือรูปแบบของบัตรเป็นตัวนำ นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ

รวมถึงการเน้นที่พฤติกรรมการใช้จ่าย ซึ่งบ่งบอกถึง Lifestyle ของผู้ถือบัตร

ประการสุดท้าย มองในแง่ของธนาคารกสิกรไทยเอง การเป็นผู้ออกบัตร KBANK MasterCard รุ่น Kurve Card ครั้งนี้ถือเป็นการรุกเข้ามาในตลาด Lifestyle Card เป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ กลยุทธ์ทางการตลาดบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย เน้นไปที่การออกบัตรร่วมกับพันธมิตร (Co-Brand) เป็นหลัก

ธนาคารกสิกรไทยถือได้ว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่รายหนึ่งในธุรกิจนี้ ไม่แพ้ KTC ซึ่งประกาศตัวแน่ชัดออกมาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเน้นทำการตลาด ด้วยการยึด Lifestyle ของลูกค้าเป็นหลัก ดังนั้นการที่ผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย มองเห็นถึงแนวทางการตลาดที่เหมือนกัน จึงเป็นเหมือนสัญญาณที่บ่งชัดถึงทิศทางการทำตลาดของบัตรเครดิตนับจากนี้ไป จะเน้นที่ Lifestyle และจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น ตามแต่ Lifestyle ของลูกค้าแต่ละประเภท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.