Lifestyle Center แห่งใหม่บนเกาะภูเก็ต


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"จังซีลอน" ถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.700 โดยปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกใช้ หมายถึงเกาะภูเก็ต และเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ชื่อ "จังซีลอน" ได้ถูกกล่าวถึงอีกครั้งแต่ครั้งนี้หมายถึง "Lifestyle Center" แห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนเกาะภูเก็ต

Lifestyle Center คือชอปปิ้ง มอลล์ สมัยใหม่ที่มีขนาดใหญ่เป็นแหล่งรวมสินค้า บริการ และกิจกรรมที่หลากหลายตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่ต่างกัน ลักษณะร่วมของโครงการแบบนี้คือ มีองค์ประกอบของ Culture, Nature, Lifestyle, Entertainment และ Fashion โดยมักจะมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยสร้างความเร้าใจ ทั้งนี้บางแห่งอาจมีโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ภายในโครงการ

ในปัจจุบันได้มีโครงการก่อสร้าง Lifestyle Center ขึ้นมาหลายแห่งในเมืองไทย นอกจาก "จังซีลอน" แล้ว ก่อนหน้านี้ที่ภูเก็ตยังได้มีการเปิดตัวโครงการ "เซ็นทรัล เฟสติวัล" ส่วนในกรุงเทพฯ โครงการ "สยามพารากอน" และ "เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า" ก็เป็นอีก 2 ตัวอย่างที่กำลังจะได้เห็นกันในอีกไม่นานนี้

จังซีลอนเป็นการร่วมทุนระหว่างมานิต อุดมคุณธรรม อดีตผู้ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าโรบินสันกับกลุ่มนายทุนภูเก็ต เจ้าของที่ดิน 55 ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการและเจ้าของธุรกิจค้าปลีกในภูเก็ต คือ ตระกูลเซี่ยง หรือ Ocean Group เจ้าของห้างสรรพสินค้าโอเชี่ยน และโอเชี่ยนพลาซ่า บนหาดป่าตอง รวมทั้งโอเชี่ยนชอปปิ้ง มอลล์ ในตัวเมืองภูเก็ต

"จากประสบการณ์ของผู้บริหารจังซีลอน ซึ่งมีประสบการณ์บริหารงานศูนย์การค้าระดับประเทศและระดับท้องถิ่นในภูเก็ต ประกอบกับผู้บริหารเป็นคนในพื้นที่ ทำให้เราทราบความต้องการของคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวที่มาเยือนภูเก็ตเป็นอย่างดี" เป็นการประกาศตัวเหนือคู่แข่งของรีน่า อุดมคุณธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทภูเก็ต สแควร์ เจ้าของโครงการ "จังซีลอน"

ในระดับจุลภาค ความพยายามเป็นที่หนึ่งในภูเก็ตของกลุ่มนี้ เห็นได้จากสิ่งก่อสร้างที่เน้นความเป็นที่สุดในจังหวัด เช่น พื้นที่จัดกิจกรรม, ฟิตเนสระดับนานาชาติ, ศูนย์รวมเครื่องกีฬา, ร้านหนังสือ และ IT Center ที่ตั้งใจให้ใหญ่ที่สุดในจังหวัด นอกจากนี้ยังเน้นจุดยืน "ความเป็นคนภูเก็ต" ของกลุ่มผู้บริหาร ด้วยการแทรกตำนานจังหวัดภูเก็ตไว้ในโครงการ เช่น เรือสำเภา และชื่อ "จังซีลอน" เป็นต้น

แม้ระดับมหภาค จังซีลอน สยามพารากอน หรือเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า จะไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรงแต่ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จังซีลอน จะได้รับผลกระทบจากโครงการใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ที่สามารถจะดักเงินของนักท่องเที่ยวและนักช็อปได้ และทั้ง 2 เมืองต่างก็ตั้งเป้าหมายการเป็นจุดหมายปลายทางการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวเช่นกัน

ในทางกลับกัน การแข่งกันนำนวัตกรรมและความคิดใหม่ๆ มาปรับปรุงโครงการแต่ละแห่ง เป็นการเร่งให้ผู้ค้าปลีกรายอื่นต้องปรับตัว โดยเฉพาะความริเริ่มสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ รวมถึงขนาดของทุน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาภาพรวมอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.