TRUE

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

True จะเป็นชื่อบริษัทใหม่ที่ถูกนำมาใช้แทนชื่อบริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น และถือเป็นภารกิจที่ท้าทาย

เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการไปสู่เป้าหมายของการเป็น Solution Provider ที่ต้องขับเคลื่อนจากภายในองค์กร

หลังจากคณะกรรมการบริษัททีเอ รวมคุณค่าของแบรนด์ ทั้ง 4 ถูกกำหนดขึ้น จาก Creditability ความน่าเชื่อถือ Caring ความเอาใจใส่ลูกค้า Creative ความคิดสร้างสรรค์ และ Courage ความกล้าหาญ คือคุณค่าของแบรนด์ (Brand Value) เพื่อ ใช้เป็นทิศทางการขับเคลื่อนองค์กร

บริษัท Interbrand จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีประสบการณ์สร้าง Brand สินค้าชื่อดังจากทั่วโลก 1 ในจำนวนนั้นคือ ออเร้นจ์ถูกว่าจ้างให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาวางระบบแบรนด์ให้มีความชัดเจน แก้ปัญหาการมีแบรนด์ที่หลากหลาย

"ตอนแรกเราต้องการทำแค่ consolidate แบรนด์ที่กระจัดกระจายอยู่เท่านั้น เอเยนซี่ถามว่า คุณเปิดกว้างหรือไม่สำหรับชื่อ หากจะ enhance ให้เกิด brand equity ในระยะยาวได้มากกว่า พอมาบวก ลบ คูณ หารแล้วเราก็เห็นว่าดีกว่า"

หลังตกลงใจ การคัดเลือกชื่อแบรนด์ที่บริษัท Interbrand เสนอมา จึงเริ่มขึ้นโดยให้ผู้บริหารของทีเอ 7-8 คน ช่วยกันคัดเลือกจาก 50 กว่าชื่อที่ต้องสอดคล้องกับคุณค่า ของแบรนด์ ควรจะมีไม่เกิน 1-2 พยางค์

"ชื่อที่เข้ารอบสุดท้าย มีตั้งแต่ Together ชื่อ open sky tango bright และ we ชื่อ Bright สูสีมาด้วยกัน สุดท้ายลงตัวที่ชื่อ true" ศุภชัยบอกถึงขั้นตอนและที่มาของแบรนด์

ความหมายของคำว่า True ที่บ่งบอกถึงคำมั่นสัญญาและจริงจัง มุ่งมั่น สอดคล้อง กับคุณค่าของแบรนด์ เมื่อนำมาใช้นำหน้าในประโยค โดยเลือกใช้สีแดง ที่นอกจากแสดง ความสดใส แจ่มชัดแล้ว ก็มาจากสีของธงชาติ

บ่าย 2 โมงตรงวันที่ 12 กันยายน 2546 ร้านอาหารโรงนาบางกอก ย่านถนนรัชดา ไม่ไกลจากอาคารเทเลคอมเอเซีย ถูกใช้เป็นสถานที่นัดหมายของพนักงานระดับผู้จัดการของบริษัทในกลุ่มทีเอ 800 คน ที่ถูกระบุว่า จะต้องสวมใส่เสื้อสีแดงมาในงานนี้เท่านั้น

เป็นงานที่จัดขึ้นเป็นการภายในที่ไม่มีผู้เกี่ยวข้องภายนอก

ศุภชัยใช้เวลาตั้งแต่บ่าย 2 โมงจนถึง 16.30 น. ขึ้นเวทีบอกเล่าถึงสาเหตุของการเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ True ความหมาย เป้าหมาย และทิศทางในอนาคต

จากนั้นเขาก็สวมบทนักร้องจับไมค์ ปิดท้ายด้วยบทเพลง รักเธอเสมอ ของอัสนี และวสันต์ โชติกุล ที่ถูกเปลี่ยนเป็น "รัก True เสมอ" และตามด้วยบทเพลง "จับมือ ไว้แล้วไปด้วยกัน" ของเบิร์ด ธงไชย แมค อินไตย์ และเสียงตะโกนคำว่า "True" ของ พนักงานที่กระหึ่มไปทั่วห้อง

ก่อนที่พนักงานทั้งหมดจะแยกย้ายกลับบ้านพร้อมกับลูกปิงปองสีแดง เขียนชื่อตัวเอง ใส่กรอบกระจกใสที่เป็นตัวอักษรคำว่า True เป็นการปิดฉากการสร้างเลือดสีแดง

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสร้างแบรนด์ภายในองค์กร ที่ได้ดำเนินมาอย่าง เข้มข้นพร้อมๆ กับการทยอยเปลี่ยนชื่อบริษัทมาใช้คำนำหน้าว่า True จะเริ่มจากบริษัทที่ตั้งใหม่ก่อน เริ่มจากบริษัท True Internet data center ที่เป็นบริษัทใหม่ทำธุรกิจให้บริการศูนย์บริการข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต

ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดสู่สาธารณชนในไตรมาสที่สองของปี 2547 พร้อมๆ กับป้ายชื่อใหม่ที่ใช้คำว่า True บนอาคารเทเลคอมเอเซีย แทนที่ป้ายเดิมที่ปลดไปล่วงหน้าได้พักใหญ่แล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.