เมื่อ 1 ใน 2 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของรัสเซีย มีอันต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในคุก
อีกคนที่เหลือจะทำอย่างไร
ตอนนี้ Roman Abramovich มหาเศรษฐีน้ำมันของรัสเซียและผู้ว่าราชการจังหวัด
Chukotka ในขั้วโลกเหนือ ซึ่งมีวัยเพียง 37 ปี ก็ได้ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซีย
(5.7 พันล้านดอลลาร์) ไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ Mikhail Khodorkovsky มหาเศรษฐีน้ำมันที่เคยร่ำรวยที่สุดของรัสเซีย
(8 พันล้านดอลลาร์ก่อนจะลดลง 40% ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทน้ำมัน
Yukos วัย 40 ปีถูกจับขังคุกด้วยข้อหาโกงและเลี่ยงภาษี ทั้งคู่ต่างไต่เต้าขึ้นมาจากดินเหมือนกันและต่างก็สบโอกาสร่ำรวยอย่างมหาศาล
ในยุคแห่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากลของรัสเซียในช่วงต้นทศวรรษ
1990
แต่นอกจาก Abramovich จะไม่ปลื้มแล้ว ดูเหมือนจะมีคนเห็นเขานั่งอยู่ที่สนามกีฬา
Stamford Bridge ขนาด 42,000 ที่นั่งในกรุงลอนดอน เพื่อเชียร์ทีมฟุตบอล Chelsea
ที่เขาซื้อมา ขณะลงเล่นใน Premiership มากกว่าเห็นเขาที่รัสเซียเสียอีก
คงไม่แปลกที่ Abramovich อาจกำลังคิดอพยพไปอยู่ในลอนดอน หลังจากที่ Khodorkovsky
หนีวิบากกรรมไม่พ้นถูกทางการรัสเซียจับขังคุกหมดอนาคตอยู่ในขณะนี้ ด้วยข้อหาโกงและเลี่ยงภาษี
ท่ามกลางเสียงครหาหนาหูว่าเป็นการกำจัดศัตรูการเมืองของประธานาธิบดี Vladimir
Putin
ก่อนหน้าที่จะถูกเล่นงาน Khodorkovsky แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์กับ Putin อย่างโจ่งแจ้ง
เขาไม่พอใจ และประท้วงการที่รัฐบาลรัสเซียมีแนวโน้มในการใช้อำนาจเผด็จการ
อำนาจบาตรใหญ่รวมทั้งการคอร์รัปชั่นมากขึ้น ด้วยการทุ่มเงินสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านหลายพรรค
จนทำให้ใครๆ สงสัยว่าเขากำลังคิดทะเยอทะยานถึงตำแหน่งประธานาธิบดี
ส่วน Abramovich อาจจะมีหลายเหตุผลที่ทำให้เขาเคยคิดว่าตัวเขาเป็นที่โปรดปรานของรัฐบาล
เพราะเขาพยายามทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อเอาอกเอกใจรัฐบาล เช่น การซื้อช่องโทรทัศน์
ORT ด้วยเงิน 150 ล้านดอลลาร์จาก Boris Berezovsky ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพื่อนของ
Putin แต่ปัจจุบันเป็นศัตรูตัวฉกาจ แล้วยกให้เป็นของรัฐ นอกจากนี้ Abramovich
ยังสู้อุตส่าห์ใช้เงินส่วนตัวหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด Chukotka อันห่างไกลความเจริญที่เขาเป็นผู้ว่าฯ
อยู่ ทำให้ชาวเมืองนั้นมีโทรทัศน์ของรัฐดูเป็นครั้งแรก มีซูเปอร์มาร์เก็ตที่ทันสมัยแห่งแรก
รวมทั้งได้สัมผัสโรงหนัง โรงคอนเสิร์ตและลานสเกตน้ำแข็งในร่มเป็นครั้งแรก
แต่แล้วเมื่อไม่นานมานี้ Alexei Kudrin รัฐมนตรีคลังรัสเซียกลับกล่าวต่อ
Abramovich อย่างมะนาวไม่มีน้ำว่า เงินที่จะใช้ปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาว
Chukotka ควรจะมาจากงบประมาณของรัฐ มากกว่าจะเป็นเงินที่ได้มาจากการที่ธุรกิจของเขาได้รับการยกเว้นภาษี
ตามกฎหมายยกเว้นภาษีให้แก่จังหวัดต่างๆ
เท่านั้นยังไม่พอ ในเวลาไล่ๆ กับที่เขายังมึนไม่หายกับคำพูดเย็นชาของ
Kudrin ทางการรัสเซียก็สั่งสอบบัญชีและภาษีของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ชื่อ
Sibneft ของเขา ขณะเดียวกันศาลมอสโก ก็ประทับรับฟ้องคดีเกี่ยวกับการรวมกิจการของบริษัท
Yukos ของ Khodorkovsky กับ Sibneft ส่วนสภา Duma หรือสภาล่างของรัสเซียก็ผ่านกฎหมายใหม่ให้อำนาจรัฐบาลมากขึ้น
ในการขึ้นภาษีส่งออกน้ำมันและยกเลิกการนิรโทษกรรมภาษี และสุดท้ายรัฐบาลยังได้เพิกถอนการยกเว้นภาษีให้แก่จังหวัดต่างๆ
ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ผลกระทบของการถูกฟ้องศาล
การขึ้นภาษีและการถูกยกเลิกการยกเว้นภาษีทั้งหมดนี้ อาจทำให้บริษัทของเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า
650 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า หรืออาจถึงกับล่มสลายไปเลย
เพียงเท่านี้ก็คงจะทำให้ Abramovich เริ่มสำเหนียกแล้วว่า วิบากกรรมคงจะตามมาถึงตัวเขาในวันหนึ่ง
และเขาอาจประสบชะตากรรมไม่ต่างจาก Khodorkovsky เขาจึงเริ่มทะยอยขายทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว
เริ่มจากหุ้นใน Sibneft ขายให้แก่ Yukos 3 พันล้านดอลลาร์ (แถมได้หุ้น 26%
ของ บริษัทใหม่ที่เกิดจากการรวมกิจการระหว่าง Yukos กับ Sibneft ด้วย) และขายหุ้นครึ่งหนึ่งของเขาที่มีอยู่
50% ในบริษัท RusA1 ซึ่งเป็นบริษัทอะลูมิเนียมผูกขาด รวมทั้งหุ้นของเขาในสายการบิน
Aeroflot fh;p
ขณะเดียวกัน เขาก็เริ่มซื้อทรัพย์สินในอังกฤษ เริ่มจากเดือนกรกฎาคมซื้อทีม
Chelsea ด้วยเงิน 230 ล้านดอลลาร์ และซื้อนักเตะใหม่ๆ อีก 190 ล้านดอลลาร์
4 เดือนต่อมา เขาซื้อบ้าน 6 ชั้นใน Belgravia ในลอนดอนด้วยเงิน 48 ล้านดอลลาร์
จากที่มีบ้านราคา 20 ล้านอยู่แล้วใน West Sussex ในอังกฤษ และยังมีบ้านอีกหลังที่
St.Tropez ในฝรั่งเศส ล่าสุด Abramovich ถึงกับได้รับการจัดอันดับโดยหนังสือพิมพ์
Sunday Times ว่าเป็นผู้ที่มีรายได้สูงสุดในอังกฤษในปี 2003 คือ 960 ล้านดอลลาร์
คนสนิทของเขายังแอบกระซิบว่า เฉพาะปีนี้ Abramovich ได้เงินถึง 5 พันล้าน
ดอลลาร์จากการขายทรัพย์สินบางส่วนในรัสเซีย
ล่าสุด Abramovich ก็ยังคงมีอารมณ์ที่จะขายต่อไป โดยเขาเพิ่งขายหุ้นอีก
37.5% ในบริษัทรถยนต์ Ruspromavto ไปอีก แต่ Abramovich จะถึงขั้นยอมแลกตำแหน่งเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดใน
รัสเซียและตำแหน่งผู้ว่าฯ ไปเป็น "ท่านเซอร์" ในอังกฤษหรือไม่ ก็เห็นจะขึ้นกับความใจกว้างของ
Putin ว่าจะยอมให้ Abramovich ขนเงินออกจากรัสเซียไปได้อีกกี่มากน้อย และความเมตตาของ
Putin ที่จะยอมให้มีเศรษฐี "ผู้อยู่ในโอวาท" ในรัสเซียได้สักกี่คน
แปลและเรียบเรียงจาก
>> Time, December 1, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์