ทักษิณเล็งควบแบงก์เหลือ4แห่ง


ผู้จัดการรายวัน(23 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

นายกรัฐมนตรียืนยันแผนการลดจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยโดยการควบรวมให้เหลือ 3-4 แห่ง "สุชาติ" เผยมีทั้งควบรวมธนาคารเอกชนกับเอกชน และธนาคารรัฐกับเอกชน ด้านเลขาฯสมาคมธนาคารไทยแนะให้ดูแลลูกค้ารายย่อย หวั่นเกิดการผูกขาด

ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนแม่บทพัฒนาระบบการเงิน (Financial Master Plan) ว่า ยังไม่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในวันนี้ (23 ธ.ค.) เนื่องจากการเสนอแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะต้องมีการชี้แจงต่อที่ประชุมค่อนข้างมากโดยเฉพาะจำนวนธนาคารในอนาคต กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมและพิจารณารายละเอียดก่อน คาดว่าจะนำเข้าครม. ในวันที่ 30 ธันวาคม 2546

"จากการหารือเรื่องแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของไทยร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (22 ธ.ค.) นายกรัฐมนตรีเห็นว่าประเทศไทยไม่ควรมีธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ควรมี ธนาคารพาณิชย์เพียง 3-4 แห่งเท่านั้น หลักการ ก็คือธนาคารที่มีอยู่จะต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ต่างชาติได้ แต่ก็ต้องให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง"

ร.อ.สุชาติกล่าวว่า แนวคิดของแผนแม่บท พัฒนาระบบการเงินฉบับใหม่ที่จะเข้าครม.จะช่วย สร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสถาบันการเงิน ซึ่งหลังจากแผนแม่บทฯมีผลบังคับใช้คงจะได้เห็นการควบรวมกิจการของธนาคารพาณิชย์ขึ้น โดยการควบรวมไม่จำกัดแค่เพียงธนาคารพาณิชย์ของเอกชนเท่านั้น รัฐบาลเองก็มีแนวคิดส่งเสริมให้มีการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์ของรัฐและธนาคารพาณิชย์เอกชนด้วย อย่างไรก็ตามรายละเอียดยังไม่สามารถที่จะตอบได้ในขณะนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยเรื่องสำคัญที่จะเสนอเข้าครม.วันนี้มี 2 เรื่อง คือ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และการขยายเวลามาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมกำหนดที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนธันวาคมปีนี้ เป็นเดือนธันวาคม 2547 เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ภาคเอกชนเร่งดำเนินการ ปรับโครงสร้างหนี้ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2547

นายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยทิศทางธนาคารพาณิชย์ไทยในอนาคตว่า แนวโน้มจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถแข่งขัน จึงมีแรงกดดันจากทางการให้มีการควบรวมกิจการเพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง แต่ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือต้องระวังไม่ให้มีการผูกขาด เพราะลูกค้าอาจไม่มีทางเลือกโดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ธนาคารเหลือจำนวนน้อยจึงต้องใช้เวลา คงไม่สามารถทำได้ในปีเดียว

"ต้นทุนลูกค้ารายย่อยสูงกว่ารายใหญ่ หากแบงก์มีขนาดใหญ่ขึ้นผมไม่แน่ใจว่าใครจะดูแลรายย่อย ในต่างประเทศที่ระบบธนาคาร มีมาตรฐาน ทางการจะมีธนาคารเฉพาะด้าน สามารถให้บริการในชุมชน เช่น ธนาคารเคหะหรือปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่เมืองไทยตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน" นายธวัชชัยกล่าว

นายธวัชชัยกล่าวว่า จำนวนธนาคารในประเทศจะมีกี่แห่งเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของเศรษฐกิจหรือจีดีพี เป็นการบ้านที่ทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องต้องมาหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำที่สุด

นายสุธา ชันแสง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางในการ ควบรวมสถาบันการเงินนั้น ถือว่าเป็นช่องทางของการปรับตัว เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การแข่งขันในอนาคต โดยในวันนี้เศรษฐกิจของประเทศเป็นช่วงขาขึ้น ดังนั้นประชาชนจะเข้าใจว่าการรวมกันไม่ได้เป็นการรวมกันเพราะหนีปัญหาแต่เพื่อเป็นการปรับตัวให้ทันกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต ซึ่งธนาคารขนาดเล็กจะต้องหาพันธมิตรทางการเงินมาร่วมทุน

"การร่วมเป็นพันธมิตรกัน ถือว่าเป็น การดีที่จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ ซึ่งในเรื่องนี้น่าจะอยู่ในการเจรจาของธนาคารนั้นๆ มากกว่า ซึ่งหากจะควบ รวมกันจริงทางแบงก์จะรายงานเรื่องให้แบงก์ชาติ หลังจากนั้นแบงก์ชาติจะรายงานกระทรวงการคลังได้รับทราบต่อไป" นายสุธา กล่าว

รายงานแจ้งเพิ่มเติมว่า วานนี้ (22 ธ.ค.) เวลาประมาณ 15.00 น. นายชูชาติ แมนเมธี ประธานคณะกรรมการสหภาพแรงงานธนาคารดีบีเอสไทยทนุ ได้เดินทางมายังกระทรวงการคลังเพื่อยื่นหนังสือถึง ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอทราบความคืบหน้าในการควบรวมกิจการของธนาคาร ดีบีเอส ไทยทนุ โดยจะขอเข้าพบรัฐมนตรีคลังในวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม เพื่อขอรับทราบความ ชัดเจนในการควบรวม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความมั่นคงในการทำงาน และผลกระทบต่อการ จ้างงานที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานในอนาคต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.