ธนาคารกรุงเทพประกาศลด NPL ปีหน้าอีก 6 หมื่นล้านบาท หรือ 35% จากพอร์ต 2 แสนล้านบาท
เฉพาะTPI ช่วยได้หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าถอดสลักตั้งแต่ไตรมาสแรก เผยส่วนลดหนี้ที่จะขายให้
บบส.แค่ 10-20%
นายสุวรรณ แทนสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(NPL) ปี 2547 ไว้ที่ 35% หรือ 60,000 ล้านบาท จากยอด NPL รวม 200,000 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งเป็น NPL จากหนี้บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ที่ปัจจุบันยังเป็น
NPL อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของพอร์ตรวม คาดว่า หนี้สินส่วนนี้จะกลายเป็น
หนี้ปกติได้ภายในไตรมาสแรก ปี 2547
"การที่กระทรวงการคลังช่วยเหลือโดยการส่งผู้บริหารแผนนับว่ามีส่วนช่วยได้มาก
คิดว่าช้าที่สุดน่าจะไตรมาสที่ 2 เพราะยังต้องจัดการงานด้านเอกสารบางอย่าง"
นายสุวรรณยอมรับว่า ปี 2546 หนี้บริษัทTPI ทำให้การแก้ปัญหา NPLของธนาคารกรุงเทพ
ในปี 2546 แทบไม่ลดลงเลย โดยเป็น NPLย้อนกลับกว่า 20,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารพลาดเป้า
ส่วนที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาทกระจายอยู่ทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กมากกว่ารายใหญ่
ด้านสินทรัพย์รอการขาย (NPA) นายสุวรรณ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารกรุงเทพขาย NPA ได้เกือบ
10,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าหาก รวมกับสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีของกรมบังคับคดีด้วย
จะทำให้ยอดรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น NPA 30,000 ล้านบาท ในส่วนนี้มีสินทรัพย์รอการขายที่มีภาระผูกพันกับเจ้าของทรัพย์ที่สามารถซื้อคืนได้
10,000 ล้านบาท โดยปีหน้า ธนาคารตั้งเป้าขายNPA 10,000 ล้านบาท ขณะที่เป็นสินทรัพย์อยู่ระหว่างบังคับคดี
70,000 ล้านบาท
นายสุวรรณกล่าวถึงกรณีที่ทางการจะให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.)
รับซื้อสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้ว่า ธนาคารกรุงเทพจะเสนอขาย โดยปัจจุบันธนาคารแบ่งทรัพย์ออกเป็นกองๆ
แล้ว เหลือราคาที่จะขายคงต้องขึ้นกับการตกลงอีกครั้ง
"ธนาคารมีกติกาวางเป็นขั้นๆ เช่น ทรัพย์เกรดเอ จะขายราคาส่วนลด 10% เกรดบี ขายราคาส่วนลด
15% เกรดซี ขายราคาส่วนลด 20%"
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่าปี
2547 ธนาคารจะสามารถลดสินทรัพย์ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้ง NPA และ NPL ได้มาก เกิดจากหลายปัจจัยโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทยที่ดีขึ้น
โครงการต่างๆ ภาครัฐที่สนับสนุนปรับโครงสร้างหนี้ การขายทรัพย์สินของรัฐ จะเป็นส่วนช่วยให้หนี้ลดลงได้
โดยปีนี้NPL ธนาคารไทยพาณิชย์ลดเหลือต่ำกว่า 20% ของพอร์ตสินเชื่อ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังขอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืดมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับกิจการที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ออกไปจนสิ้นสุดปี
2547 ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมไปถึงค่าอากรแสตมป์สำหรับกิจการที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้
ตามขั้นตอนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด เป็น การดำเนินการเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น
รัฐบาลหวังว่าจะทำ ให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยุติลงโดยเร็วที่สุด