"FUND MANAGER" อีกก้าวแห่งความสำเร็จของ กิติวลัย เจริญสมบัติอมร


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพของหญิงสาวผู้เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นและความสามารถในภาคตลาดเงินตลาดทุน โดยเฉพาะความเชี่ยวชาญในตลาดตราสารหนี้จนอดไม่ได้ที่จะให้เธอเป็นเจ้าแม่แห่งวงการตราสารหนี้...ไม่มีใครที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้จะไม่รู้จักเธอ เพราะนอกจากความสามารถของเธอที่หลายคนยอมรับแล้ว เธอยังทำหน้าที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างทีมงานของแต่ละค่ายที่อยู่ในวงการนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นซิตี้แบงก์ ภัทรธนกิจ เอกธำรง หรืออีกหลายสถาบันที่เป็นสมาชิกอยู่ใน BOND DEALER CLUP (BDC)

จากกิจกรรมที่ค่อนข้างเป็นทางการของ BDC ทำให้การพบปะของสมาชิกหรือคนทำงานเหล่านั้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้จักสนิทสนมกัน เธอผู้นี้ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีว่าจะนำมาซึ่งความราบรื่นในการทำงานมากกว่าที่จะไม่รู้จักกันเลย

"พี่หญิง" ดูเหมือนจะเป็นสรรพนามที่ติดหูคนฟังเป็นอย่างดี เพราะเป็นคำที่ "กิติวลัย เจริญสมบัติอมร" ใช้เรียกแทนตัวเองกับบุคคลที่อ่อนวัยหรืออ่อนประสบการณ์กว่า

ด้วยวัยที่ย่างเข้าเลข 4 ในปีนี้แล้ว มิได้ทำให้ไฟในการทำงานของของเธอลดลงเลย ตรงกันข้ามเธอกลับพยายามแสวงหาสิ่งใหม่ๆ มาแต่งแต้มสีสันให้สอดคล้องกับชีวิตการทำงานของเธออยู่เสมอ

"พี่พิจารณาตัวเองเสมอว่าควรจะพัฒนาตัวเองในด้านไหน พร้อมทั้งเฝ้าดูพัฒนาการของตลาดด้วยว่าจะไปในทิศทางไหน และพี่ก็จะเรียนรู้เองบ้างจากประสบการณ์การทำงาน รวมถึงออกไปฝึกและเรียนเป็นคอร์สที่เฉพาะด้านเฉพาะทางไปเลย" กิติวลัยกล่าวและล่าสุดเธอเพิ่งกลับจากการไปเรียนคอร์สตราสารอนุพันธ์ (DERIVATIVE) จากมหาวิทยาลัยเคมบริจด์ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากเธอมองว่าตลาดตราสารอนุพันธ์ จะเป็นตลาดที่จะเติบโตในอนาคต ประกอบกับทาง FIN1 เองก็ได้ขอใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจนี้ด้วย เธอในฐานะผู้ดูแลสายงานด้านตลาดเงินตลาดทุนจึงต้อง เตรียมความพร้อมเพื่อถ่ายทอดแก่ทีมงานต่อไป

"เราเป็นหัวหน้าเขา เราก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจให้มากกว่าเขา ขณะเดียวกันก็ต้องดูแนวโน้มของธุรกิจด้วยว่าควรจะให้ความสำคัญขนาดไหน และความเสี่ยงของการทำธุรกิจนี้จะมีมากน้อยเพียงใด" เธอให้เหตุผล

7 ปีเต็มกับชีวิตการทำงานที่ FIN1 ในสายงานของวาณิชธนกิจ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เธอสั่งสมมาส่งผลให้หน้าที่ความรับผิดชอบของเธอสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเธอได้รับมอบหมายให้ดูแล FINMART ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตราสารหนี้ทั้งหมด และเวลา 2 ปีเต็มที่เธอได้ทุ่มเทให้กับ FINMART ฝึกทีมงานชนิดที่เรียกว่าติวเข้มจนสามารถเริ่มปฏิบัติงานได้เองโดยไม่ต้องมี "พี่หญิง" เป็นพี่เลี้ยงต่อไปแล้ว

"ตอนนี้ทีมงานใน FINMART มีประมาณ 60 คน ซึ่งปีนี้เป็นปีที่พวกเขาต้องทำงานหนัก หลังจากที่ได้รับการเทรนมาแล้ว และที่สำคัญปีนี้ก็ไม่ใช่ปีที่ง่ายนักสำหรับธุรกิจนี้ ปีนี้เป็นปีที่กดดันมาก เพราะพวกเขาต้องแสดงผลงานให้เห็นว่าเขามีความสามารถอย่างที่เราคาดหวังมากน้อยแค่ไหน" พี่หญิงมักจะเข้มเสมอกับน้องๆ ที่ร่วมงาน ซึ่งเธอก็ให้เหตุผลว่า

"การเป็นหัวหน้าคนเป็นสิ่งที่ลำบากต้องมีทั้งพระเดชและพระคุณ และต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ส่วนรวมเสีย ซึ่งถ้าจะให้มานั่งดูแลทีละคนทั้งหมดก็ไม่ใช่สไตล์ของพี่ ซึ่งพี่จะพูดอย่างนี้กับทุกคนที่เข้ามาร่วมงานตั้งแต่ต้น และเป็นคนพูดจริงทำจริง น้องๆ ที่นี่จะรู้ว่าเวลาทำงานพี่เป็นคนดุ ที่ดุก็เพราะไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่จะต้องมาเสียใจภายหลัง ซึ่งการที่เราดุหรือเข้มงวดพวกเขาก็จะเกรงและพยายามทำงานอย่างเต็มที่ ทุกคนจะวิ่งพร้อมกันหมด โดยไม่เกิดเหตุการณ์ที่จะต้องตัดใครทิ้ง"

การทำงานของ FINMART ใช้ระบบของ TEAM WORK ดังนั้นผลงานที่ออกมาก็จะเป็นผลงานรวมของทุกคน ซึ่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน และการทำงานที่เป็น TEAM WORK นี้จะประสบความสำเร็จได้นั้น ทุกคนจะต้องไปในความเร็วที่เท่ากัน ไม่มีการทิ้งห่าง ซึ่งกิติวลัยกล่าวว่า หากเมื่อไรที่มีการทิ้งห่างหรือมีแกะดำเกิดขึ้นในฝูงก็ต้องเรียกมาคุยกันให้ทราบถึงเหตุผลที่ทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะเธอตระหนักเสมอว่า ...คนทุกคนไม่ได้เหมาะกับงานทุกงาน

มาถึง ณ วันนี้ เธอเริ่มมั่นใจกับทีม FINMART ที่เธอลงแรงกายแรงใจไปถึง 2 ปีเต็ม ซึ่งทำให้เธอวางมือจากตรงนี้เพื่อที่ไปดูแลธุรกิจอื่นเพิ่มเติม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ.. เธอกำลังจะกลายเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่ใน FIN1 อีกครั้ง

จากคำบอกเล่าเหล่านี้ของเธอ ดูเหมือนจะส่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างใน FIN1 ซึ่งหมายความว่าจะส่งผลต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเธอด้วย.. ซึ่งสัญญาณความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น เมื่อเธอเล่าต่อไปว่า

"ปีใหม่นี้คงจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในของ FIN1 เพื่อให้สอดรับกับภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติ FOREX LICENCE และ PRIVATE FUND LICENCE ที่เราขอไปด้วยเพราะนั้นคือส่วนสำคัญที่จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ FIN1 ในอนาคตรวมทั้งกระทบต่อตัวพี่ด้วย โดยปีนี้พี่คงต้องเปลี่ยนความสำคัญของงานที่ดูแลอยู่เพื่อไปดูแลงานส่วนอื่นบ้าง"

ปัจจุบัน กิติวลัยมีหน้าที่รับผิดชอบที่ดูแลเพิ่มเติมขึ้นอีกก็คือ สายงานด้าน ASSET MANAGEMENT โดยดูแลในเรื่องของ PROVIDENT FUND รวมถึงอยู่ระหว่างการรอ PRIVATE FUND LICENCE ด้วยซึ่งถ้าหาก FIN1 ได้ใบอนุญาตนี้มาก็จะถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับบริษัทฯ และตัวกิติวลัยเอง ซึ่งเธอก็ต้องลงมาทุ่มเทให้กับงานนี้อย่างจริงจัง และ FIN1 ก็จะมีหน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับ FINMART เลย

"ตอนนี้ก็เริ่มเข้ามาดูแลงาน PROVIDENT FUND ซึ่งเราเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำได้ไม่กี่ปีนี้เอง ฉะนั้นจึงยังเป็นอะไรที่ค่อนข้างเล็กอยู่ ซึ่งสายงานที่จะเข้าไปดูแลใหม่นี้ก็คงรวมถึง PRIVATE FUND ด้วยถ้าได้ LICENCE แต่ถ้าไม่ได้ก็จะทำ PROVIDENT FUND ให้ดี" ผู้บริหารสาวกล่าวถึงหน้าที่ใหม่ที่ต้องรับผิดชอบ

จากการที่เธอเป็นคนกระตือรือร้นชอบทำงานที่ใช้สมองและท้าทาย งานด้านวาณิชธนกิจจึงเป็นงานหนึ่งที่เหมาะสมกับเธอ แม้ว่าเธอจะไม่ได้จบการศึกษามาในสายงานนี้โดยตรง แต่สาขาที่เธอเรียนมาก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานวาณิชธนกิจได้เป็นอย่างดีก็คือ สาขาคณิตศาสตร์

กิติวลัยจบปริญญาตรี สาขาคณิตศาสตร์ จาก YORK UNIVERSITY แห่งแคนาดาเธอเล่าว่า หลังจากที่เธอจบมัธยม 3 จากโรงเรียนวัฒนา เธอก็ไปเรียนต่อ HIGH SCHOOL ที่แคนาดา จนกระทั่งจบปริญญาตรีและมีความต้องการที่จะเรียนต่อปริญญาโททางด้าน MBA ด้วยเหตุผลที่ว่า "ตอนนั้น MBA ฮิตมากใครๆ ก็เรียนแต่ MBA" ทั้งๆ ที่เธอไม่เคยมีความคิดมาก่อนเลยว่า เธอต้องทำงานแบงก์หรือไฟแนนซ์ แต่การที่จะรียนต่อปริญญาโทที่แคนาดาได้นั้นจะต้องมีประสบการณ์การทำงานก่อน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอต้องเดินทางกลับมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานจากเมืองไทย และจุดเริ่มต้นชีวิตนักการเงินของเธอก็เริ่มขึ้นที่ TISCO โดยเริ่มจากเป็น FUNDING OFFICER ก่อน และเธอก็เริ่มหลงเสน่ห์ชีวิตการทำงาน ความต้องการที่จะเรียนต่อก็ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเธอตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตครอบครัวแล้ว การกลับไปเรียนต่อก็ต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย และที่สำคัญเธอก็พอใจกับงานที่เธอทำอยู่ จากงานที่เธอรับผิดชอบทางด้านเงินฝากก็ขยับขึ้นไปรับผิดชอบทางด้าน MONEY MARKET

"ตอนนั้นรับผิดชอบเรื่องการจัดเงินกู้ต่างประเทศ การกู้ OFF SHORE ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างตื่นเต้นและได้พบปะกับคนมากมาย ก็รู้สึกชอบมาก เพราะเป็นคนที่ชอบทำงานไวๆ ที่เห็นผลทันตา" เธอเล่า

หลังจากร่วมงานที่ TISCO ได้ระยะหนึ่ง เธอก็ได้รับการชักชวนจากจินตนา โกวิวทวัฒนพงศ์ ภรรยาของภควัต แห่งค่าย S-ONE ซึ่งขณะนั้นจินตนาดูแลในเรื่องของ LIABILITY MANAGEMENT

ปี 1989 จึงเป็นปีที่เธอเริ่มงานกับ FIN1 โดยเข้ามาดูแลทางด้าน MONEY MARKET จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีหลังนี้เองที่เธอเปลี่ยนมารับผิดชอบงานด้าน CAPITAL MARKET คือดูแล FINMART นั่นเอง และล่าสุดเธอกำลังจะก้าวไปสู่หน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นในสายงานของ FUND MANAGEMENT รวมถึงบทบาทในส่วนของการกำหนดนโยบายของ FIN1 ด้วย

ถนนสายการเงินที่เธอใช้เวลาเดินมากว่า 10 ปี โดยเฉพาะถนนสายวาณิชธนกิจ ทำให้เธอค้นพบว่า...คนที่จะทำงานวาณิชธนกิจหรือ IB ได้นั้นจะต้องเป็นคนที่อยู่ในวัยที่กระตือรือร้น เพราะงานนี้เป็นงานที่ละเอียดอ่อน...เธอแบ่งความกดดันของคนที่ทำงานนี้ออกเป็น 2 ช่วงคือช่วงแรกของการ PITCH งาน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูงมาก และต้องมีการเตรียมพร้อมกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเธอเล่าอีกว่า บางดีลเตรียมงานกันมาเป็นเดือนแต่อาจจะพลาดก็ได้ ซึ่งเป็นความเครียดที่ต้องประสบโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือแม้ถ้าได้งานมาแล้วก็ยังคงต้องเครียดต่อ เพราะต้องทำงานให้ลูกค้าพอใจและคุณภาพของงานที่ออกมาก็ต้องได้ตามมาตรฐานของ FIN1 ที่ตั้งไว้

ความกดดันช่วงที่ 2 ของเธอก็คือในช่วงของการ LAUNCH สินค้าออกสู่ตลาด ซึ่งเธอกล่าวว่าเป็นช่วงที่เครียดหนักเอาการทีเดียว เพราะการที่จะ LAUNCH สินค้าออกสู่ตลาดในจังหวะที่เหมาะสมนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับตลาดไทยเนื่องจากเป็นตลาดที่มีความผันผวนมาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทำหน้าที่เป็น MARKET MAKER ในตลาดรองด้วย

"เวลาที่ PITCH งานแล้วไม่ได้จะเซ็งมาก อยากจะ WALK OUT ไปเลย แต่พอเมื่อไรที่มีอะไรมันส์ๆ สนุกๆ เข้ามาความรู้สึกนั้นก็จะหายไป ความเบื่อความเซ็งจะมาเป็นช่วงๆ ไม่ได้รู้สึกตลอด โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมาที่ตลาดแย่มาก ทำอะไรก็ไม่ได้ ยังพูดกับน้องๆ เล่นๆ ว่า ออกไปขายก๋วยเตี๋ยวกันเถอะ" เป็นความรู้สึกของคนทำงานคนนี้ ซึ่งก็คงไม่แตกต่างจากคนทำงานคนอื่นๆ แต่วิธีการที่จะคลายเครียดหรือลดความกดดันของแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน

งานสังสรรค์ หรืองานปาร์ตี้จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทุกคนในทีมให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการผ่อนคลายที่ได้ผลทีเดียว "พี่คิดว่าทุกคนที่นี่สามารถเก็บความเครียดเข้าสู่ลิ้นชักของแต่ละคนได้ เพราะถ้าหากเมื่อไรทุกคนไม่รู้จักจุดที่เหมาะสมของตัวเองก็มีสิทธิที่จะบ้าได้"

"YOU HAVE TO WORK HARD AND YOU HAVE TO PLAY HARD" จึงเป็นเสมือนคติพจน์ประจำใจของคนทำงานทุกคนใน FINMART

จากสถานการณ์ความกดดันต่างๆ ที่ประสบในงานวาณิชธนกิจที่เธอเล่าข้างต้นนั้น เธอได้ให้แง่คิดว่า "งานนี้ไม่ใช่งานที่เหมาะกับทุกคน บางคนก็รับงานอย่างนี้ไม่ได้ ฉะนั้นคนที่จะอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ได้จะต้องมีความพร้อมที่พอเหมาะซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้หมายความว่าคนที่พี่รับเข้ามาร่วมงาน 10 คนแล้วทุกคนจะสามารถเป็น IB ที่ดีได้ และสิ่งที่สำคัญอีกประการก็คือ วัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งแต่ละบริษัทก็แตกต่างกันไป การที่เราจะทำงานได้ดีเราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าวัฒนธรรมของเราเข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทได้หรือเปล่า ซึ่งจุดนี้พี่คิดว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการประสบความสำเร็จในการทำงาน"

ความสามารถในการทำงานของผู้หญิงคนนี้แม้จะอยู่ในระดับแถวหน้า เวลาที่เธอทุ่มเทให้กับงานก็มิได้เบียดบังเวลาที่เธอให้กับครอบครัวเลย

เธอเล่าว่าเธอจัดเวลาสำหรับงานอย่างเต็มตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ รวมถึงเวลาในตอนเย็นสำหรับการสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานกับลูกค้า

แต่วันหยุดสัปดาห์ เธอจะหยุดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับงาน เพื่อร่วมกิจกรรมกับครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และลูกน้อย 3 คน

เวลาที่เธอสวมบทบาทของ "นาย" เธอก็จะเป็นนายที่จริงจัง...งานเป็นงานเล่นเป็นเล่น...เวลาที่เธอรับบาทบาทเป็น "แม่" เธอก็จะเป็นคุณแม่สมัยใหม่ที่เข้าใจลูกๆ และเปิดกว้างเสมอ

ทั้งหมดนี้คือ ชีวิตกับงานของ "กิติวลัย" คนทำงานที่บอกตัวเองอยู่เสมอว่า "ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้ดีที่สุดและทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพราะหากว่าถ้าทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ สุดท้ายแล้วก็จะไม่ได้อะไรเลย"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.