จับตาทุนเท็กซ์ฯ ครบวงจรสร้างความมั่นคงหรือจะเป็นดาบสองคม


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

บมจ.ทุนเท็กซ์ (ประเทศไทย) หรือ TUNTEX หนึ่งในอีกหลายบริษัทที่กำลังเจอมรสุมกับการดำเนินธุรกิจ หนทางออกที่ทุนเท็กซ์ฯ เลือกปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ คือแผนการทำธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอของตัวเองให้ครบวงจรเร็วที่สุด

"นโยบายเราคือทำธุรกิจให้ครบวงจร ด้านอัพสตรีมจะขยายปิโตรเคมีและอะโรเมติกส์ ส่วนดาวน์สตรีมจะลงทุนในด้านการปั่นด้าย ฟอกย้อม" วิชา ตระกูลมุ่งกิจการ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายบริหารและกฎหมาย กล่าวถึงแนวทางเดินของทุนเท็กซ์ฯ

ธุรกิจหลักยังไม่กระเตื้อง

ปัจจุบันทุนเท็กซ์ฯ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ทั้งที่เป็นเม็ดและเป็นเส้นใยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปั่นด้าย ทอผ้าและถักผ้า โดยมีลักษณะผลิตภัณฑ์แล่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. POY (PARTIALLY ORIENTED YARN) เป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่นำไปใช้ในการผลิต DTV 2. STAPLE FIBER เป็นวัตถุดิบนำไปผสมกับฝ้ายหรือใยสังเคราะห์อื่นเพื่อนำไปผลิตเส้นด้ายต่อไป 3. CHIP เป็นผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่นำไปผลิตผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์ 4. DTY (DRAW TEXTURED YARN) นำไปทอผ้า 5. SDY (SPIN DRAW YARN) นำไปทอผ้าและถักผ้า
2.
โดยมีกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 30% ขายในประเทศประมาณ 65% และส่งออกประมาณ 35% โดยตลาดต่างประเทศของทุนเท็กซ์ฯ จะอยู่ที่จีน ยุโรป อินเดีย อย่างไรก็ตามแม้ว่าส่วนแบ่งการจตลาดจะมีสูงแต่การทำตลาดของทุนเท็กซ์ฯ ในปัจจุบันนับว่าลำบากพอสมควร เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศลดลง จึงเกิด OVER SUPPLY ขึ้น ทำให้บริษัทที่ผลิตเส้นใยประดิษฐ์ชนิดต่างๆ ประสบปัญหาภาวะการขาดทุนอย่างมาก ถึงกับมีผู้ผลิตหยุดการผลิตไปแล้ว 2 ราย คือ บริษัท เจียมพัฒนาซินทิธิคไฟเบอร์ จำกัด และบริษัท สยามโพลีเอสเตอร์ จำกัด

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเส้นใยประดิษฐ์อยู่ที่ระดับประมาณ 540,000 ตันต่อปีในขณะที่ความต้องการอยู่ที่ระดับประมาณ 450,000 ตันต่อปีเท่านั้น และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่วิชาจำต้องนำทุนเท็กซ์ฯ ออกไปหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ

"เราจึงหันไปเปิดตลาดที่เวียดนาม ปากีสถาน ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อแล้ว" วิชา กล่าว

สาเหตุหลักที่เกิดภาวะตกต่ำของผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอโดยรวมภายในประเทศกำลังอยู่ในช่วงซบเซาอย่างมาก และในอนาคตยังไม่ทราบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่ เนื่องจากการขาดประสิทธิภาพการผลิตของผู้ผลิตเอง และความชัดเจนในการแก้ปัญหาของรัฐบาล

ผลพวงที่ตามมาก็ตกมาถึงทุนเท็กซ์ฯ อันได้แก่ควมตกต่ำของราคาเส้นใยโพลีเอสเตอร์ซึ่งอยู่ในช่วงที่ตกต่ำอย่างมากนับจากต้นปี 2538 เป็นต้นมาระดับราคาอยู่ที่ประมาณ 30-35 บาทต่อกิโลกรัม และตกลงต่ำสุดถึง 25 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาเคยอยู่ที่ระดับประมาณ 52 บาทต่อกิโลกรัม

"ช่วงนี้ระดับราคาก็ได้กระเตื้องขึ้นมาบ้างแล้ว คืออยู่ในช่วงขาขึ้นแต่คาดว่าน่าจะทรงๆ อยู่ แต่จะไม่หวือหวาเหมือนปี 2538 และมั่นใจว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอจะดีขึ้นรวมถึงบริษัทเราด้วย เพราะช่วงที่ผ่านมาสิ่งทอตกต่ำสุดขีดแล้ว จึงไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้ ฉะนั้นต่อไปนี้ก็จะกระเตื้องขึ้นแต่ต้องใช้เวลา" วิชา กล่าว

เมื่อวิชามองในแง่ดีว่าแนวโน้มในอนาคตอุตสาหกรรมสิ่งทอภาพรวมจะฟื้นตัว จึงได้ทำการขยายกำลังการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ออกไปอีก 360 ตันต่อวัน โดยจะเริ่มผลิตได้ประมาณปลายปี 2540 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นทุนเท็กซ์ฯ จะมีกำลังการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ทั้งสิ้น 660 ตันต่อวัน โดยในส่วนขยายจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 5,100 ล้านบาท เป็นเงินกู้ประมาณ 4,250 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพเป็นหลัก ที่เหลือจะเป็นเงินทุนของบริษัท

"เมื่อขยายกำลังการผลิตเสร็จโรงงานเราจะเป็นผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ใหญ่ที่สุดในประเทศ และสาเหตุที่ขยายส่วนนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับกับความต้องการภายในประเทศ เรามองว่าอนาคตตลาดเส้นใยฯ ในประเทศจะไม่หดตัวแน่นอน โดยจะมีอัตราการเติบโตประมาณปีละ 10%" วิชา เปิดเผย

และเขายังย้ำว่าเมื่อขยายกำลังการผลิตเสร็จจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศพยายามส่งออกให้มากขึ้นโดยเฉพาะยุโรป แต่ยังเน้นตลาดในประเทศเป็นหลัก

"ผลิตมาเท่าไหร่เราก็ขายได้หมดและปัจจุบันบริษัทมีอัตราการเติบโตประมาณปีละ 15-20% และเมื่อเราผลิตได้ที่ระดับ 660 ตันเราจะโตขึ้นสูงกว่า 20% ต่อปี"

อย่างไรก็ตามในอนาคตความยากลำบากในการทำธุรกิจเส้นใยโพลีเอสเตอร์ของทุนเท็กซ์ฯ จะยิ่งมีมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้มีการแข่งขันเสรีในอุตสาหกรรมหลักตามข้อตกลงของ AFTA จะส่งผลมีการปรับลดภาษีนำเข้าเร็วขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ทุนเท็กซ์ฯ จะต้องเจอกับมรสุมการเข้ามาทุ่มตลาดจากผู้ผลิตจากต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม และภาวะการแข่งขันจะยิ่งดุเดือดมากขึ้นแน่นอน

เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าทุนเท็กซ์ฯ นั่นก็หมายความว่าโอกาสที่จะได้เห็นราคาเส้นโพลีเอสเตอร์สูงขึ้นอย่างที่เคยเห็นในอดีตย่อมเลือนลางลงไป รวมทั้งแนวโน้มเกิด OVER SUPPLY ของเส้นใยในประเทศก็จะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

หนทางของทุนเท็กซ์ฯ ในการอยู่รอดนั้นวิชาได้กล่าวอย่างหนักแน่นว่า "เราจะต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดของเราไว้ให้มากที่สุด"

ดาวส์สตรีม ฐานที่มั่นสำคัญ

เมื่อเรามองไปข้างหน้าแล้วสิ่งที่จะมารองรับผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์ชนิดต่างๆ ของทุนเท็กซ์ฯ ต่อไปก็คืออุตสาหกรรมทอผ้าฟอกย้อมและพิมพ์ผ้าโพลีเอสเตอร์ ดังนั้นทุนเท็กซ์ฯ จึงได้แตกไลน์ออกไปสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว

จึงได้ทำการก่อตั้ง บริษัท ทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์ จำกัด โดยทุนเท็กซ์ฯ จะเข้าถือหุ้น 35% เอเชีย คอร์ปอเรชั่น พาร์ทเนอร์ ฟันด์ ถือ 10% กลุ่มมารูเบนี 4% และอื่นๆ รวมกันถืออีก 16% โดยมีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท

"โรงงานนี้ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และขณะนี้เรากังก่อสร้างคาดว่าจะสามารถผลิตได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ และโรงงานแห่งนี้จะมีเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี" วิชากล่าว

สำหรับเงินลงทุนในทุนเท็กซ์ เท็กซ์ไทล์นี้จะใช้ทั้งสิ้นประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยจะกู้จากสถาบันการเงินในประเทศประมาณ 1,600 ล้านบาท จากธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทยและกรุงศรีอยุธยา

ด้านกำลังการผลิตของโครงการนี้จะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 39.60 ล้านหลาต่อปี แบ่งเป็นผ้าพิมพ์ 21.60 ล้านหลา และผ้าย้อม 18 ล้านหลา

"โรงงานนี้จะใช้เทคโนโลยีของบริษัท KOMATSU SEIREN ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านทอและย้อมผ้าโพลีเอสเตอร์ของญี่ปุ่น" วิชาเปิดเผย

จุดประสงค์ในการก่อสร้างโรงงานเท็กซ์ไทล์ขึ้นมานั้นหลายคนมองว่า ทุนเท็กซ์ฯ ต้องการหลีกหนีภาวะ OVER SUPPLY ของเส้นใยโพลีเอสเตอร์และการแข่งขันรวมทั้งต้องการหาตลาดที่แน่นอนในการกระจายสินค้า

"แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงคือต้องการผลิตผ้าที่มีคุณภาพซึ่งเป็นผ้า HIGH FABRIC FASHION ซึ่งจะสามารถทดแทนการนำเข้าได้เพราะในแต่ละปีบ้านเรานำผ้าแฟชั่นคุณภาพเข้ามาสูงถึง 700 กว่าล้านตารางหลาและจะมีอัตราการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณ 10% เมื่อเราผลิตได้จะขายในประเทศเกือบทั้งหมดและที่สำคัญราคาถูกกว่าผ้าที่นำเข้า" วิชาให้เหตุผลถึงการตั้งโรงงานเท็กซ์ไทล์ ขึ้นมา

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงแดนสนธยา (SUNSET INDUSTRY) ในสายตาหลายๆ คนก็ตามแต่ทุนเท็กซ์ฯ กลับมองว่าแนวโน้มในอนาคตจะไปได้ดีเพราะว่าบริษัทได้ใช้เทคโนโลยีที่สูงเข้ามาผลิตผ้า ดังนั้นจึงได้ตั้งเป้ายอดขายของผลิตภัณฑ์ผ้าในปี 2541 ไว้ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 95 ล้านบาท และยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,000 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 250 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า

"ในประเทศไทยการผลิตผ้าชนิดนี้ปัจจุบันยังมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเท่านั้น การแข่งขันจึงไม่รุนแรงและถ้าตลาดมีการเติบโตได้ดีเราก็พร้อมที่จะขยายการผลิตทันที" วิชาเปิดเผย

อัพสตรีมตัวแรกเกิดแล้ว ตัวสองกำลังจะตามมา

วัตถุดิบที่สำคัญของทุนเท็กซ์ฯ ในการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ได้แก่ PTA (PURE TEREPHTHALIC ACID) ซึ่งในอดีตบริษัทจะต้องซื้อ PTA เข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด เป็นผลเสียต่อทุนเท็กซ์ฯ ในเรื่องความผันผวนด้านราคาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นทุนเท็กซ์ฯ จึงได้ตั้งโรงงานผลิต PTA ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า บริษัท ทุนเท็กซ์ ปิโตรเคมีคอลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (TPT) ซึ่งโครงการนี้ทุนเท็กซ์ฯ เข้าไปถือหุ้นจำนวน 53%ร่วมกับผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัท ทุนเท็กซ์ ในไต้หวัน

"เริ่มผลิตมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2538 ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 400,000 ตันต่อปี ซึ่งเต็มที่แล้ว ในขณะที่เราสามารถผลิตได้ถึง 420,000 ตันต่อปี" วิชา เปิดเผย

ส่งผลให้ทุนเท็กซ์ฯ ไม่ต้องซื้อ PTA จากต่างประเทศจึงทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากในอดีตจะต้องเสียภาษีนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิตเส้นใยประดิษฐ์ถึง 7% รวมทั้งยังไม่ต้องเสียค่าขนส่งและค่าประกัน

นอกจากจะผลิต PTA เพื่อ SUPPORT ตัวเองแล้วส่วนที่เหลือยังจำหน่ายให้กับผู้ผลิตเส้นใยประดิษฐ์ ทั้งในและต่างประเทศซึ่งสัดส่วนการใช้เองจำหน่ายในประเทศจำหน่ายต่างประเทศ เท่ากับ 20:20:60

จากความต้องการ PTA ในประเทศปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 687,000 ตันต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 ล้านตันต่อปีในปี 2543 ทุนเท็กซ์ฯ จึงได้มีแผนขายกำลังการผลิต PTA อีก 900,000 ตัน

"คาดว่าส่วนขยายนี้จะสามารถผลิตได้ในปี 2542 และเมื่อนั้นเราจะมีกำลังการผลิต PTA สูงถึง 1.3 ล้านตันต่อปี แม้ว่ากลุ่มปูนซีเมนต์และรายอื่นๆ จะเข้ามาผลิต PTA ด้วยจะทำให้ปริมาณการผลิตเกินความต้องการแต่แผนของเราในการขยายครั้งนี้ยังเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ" วิชา กล่าว

ด้านเงินลงทุนในส่วนขยายโครงการ PTA คาดว่าจะใช้ประมาณ 14,000 ล้านบาท และกำลังอยู่ในช่วงการเจรจาขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ IFC รวมทั้งยังจะกู้จากธนาคารกรุงเทพ, ไทยพาณิชย์และกรุงไทย โดยจะกู้ทั้งหมดประมาณ 7,500 ล้านบาท

ส่วนอัพสตรีมตัวที่สองที่กำลังจะตามมา คือเตรียมขยายเข้าสู่โครงการอะโรเมติกส์ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายจะเปิดเสรีโรงงานอะโรเมติกส์ภายในปี 2542 รวมทั้งต้องการควบคุมต้นทุนการผลิตให้สามารถอยู่ในจุดที่ต่ำสุด เพราะว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิต PTA คือสารพาราโซลีน หรือ PX ซึ่งปัจจุบันทุนเท็กซ์ฯ เป็นลูกค้าในการสั่งซื้อสาร PX จาก บมจ. อะโรเมติกส์ (ATC) จำนวน 250,000 ตันต่อปี

"ภายในไตรมาส 1 ปีนี้จะสรุปรูปแบบโครงการได้รวมทั้งสัดส่วนผู้ถือหุ้นขณะนี้ทางบริษัทแม่ที่ไต้หวันกำลังดูรายละเอียดอยู่ซึ่งตามแผนแล้วปี 2542 จะผลิต PX ได้ โดยจะมีกำลังการผลิต 800,000 ตันต่อปี เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกและคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท" วิชา เปิดเผย

ขยายโรงไฟฟ้า เพื่อ SUPPORT อัพสตรีม

ปัจจุบันปัญหาในการทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สำคัญคือไฟฟ้าที่ใช้ทำการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทุนเท็กซ์ฯ จึงได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเพื่อใช้เองในอุตสาหกรรมโพลีเอสตอร์และ PTA ใช้งบเงินลงทุน 1,100 ล้านบาท ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 55 เมกะวัตต์

และเพื่อรองรับกับส่วนขยาย PTA และโครงการอะโรเมติกส์ทุนเท็กซ์ฯ จึงได้ทำการขยายโรงไฟฟ้าไปอีก 1 โรง มีกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างเสร็จได้พร้อมกับส่วนขยาย PTA

นอกจากนี้ยังสร้างความประหลาดในให้กับนักลงทุนด้วยการแตกไลน์ธุรกิจเปิดดำเนินการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการจัดตั้งบริษัท ทุนเท็กซ์ เรียลตี้ จำกัด โดยเข้าถือหุ้น 70% ร่วมกับบริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ของกลุ่มธนาคารกรุงเทพ ที่ถือหุ้น 30%

"ขณะนี้เรามีที่ดินรอการพัฒนาประมาณ 14 ไร่ แถวเจริญกรุง ซึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันเราได้ชะลอการพัฒนาไปก่อนเนื่องจากรอการฟื้นตัวของอสังหาริมทรัพย์ โดยนโยบายเราจะทำคอนโดฯ ที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงาน" วิชา กล่าว

พร้อมนำ บ.ในเครือเข้าตลาดหุ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนต้นทุนต่ำ สำหรับบริษัทเอกชนมาโดยตลอด ด้วยความหวังว่าจะนำเม็ดเงินกลับมาขยายกิจการของตัวเอง ทุนเท็กซ์ฯ ก็เช่นเดียวกันจึงได้ทำการผลักดันให้ TPT เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณเดือน มิ.ย.

นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะนำทุกบริษัทในเครือของตัวเองเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ครบทุกบริษัท

"นี้คือนโยบายของเราแต่คงจะใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากจะต้องรอดูผลประกอบการแต่ละบริษัทก่อน" วิชา กล่าว

อย่างไรก็ตามสภาพตลาดหุ้นในปัจจุบันอยู่ในช่วงตกต่ำอย่างมาก ความหวังในการตักตวงเม็ดเงินของทุนเท็กซ์ฯ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็คงจะลำบากขึ้น ดังนั้นในช่วงนี้ทุนเท็กซ์ฯ คงจะพึ่งสถาบันการเงินไปพลางๆ ก่อน

แน่นอนต้นทุนย่อมสูงกว่าโดยปัจจุบันทุนเท็กซ์ฯ มีต้นทุนทางการเงินในระยะสั้นอยู่ที่ระดับ SIBOR+0.65% ส่วนในระยะยาวอยู่ที่ระดับ SIBOR+2% และมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน 2-2.5 เท่า

"ปีนี้แผนการใช้เงินเราประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท โดยเป็นการกู้ 5,100 ล้านบาทและควักกระเป๋าตัวเองอีกประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท" วิชา เปิดเผย

บทสรุปอาจจะเป็นดาบสองคม

ธุรกิจครบวงจรคือสิ่งที่ทุนเท็กซ์ฯ ต้องการเห็นมากที่สุดซึ่งขณะนี้ความฝันนั้นได้เป็นจริงขึ้นมาแล้วเพียงแต่ยังไม่สมบูรณ์ 100% ยังต้องรอโครงการอะโรเมติกส์ เรื่องนี้วิชาได้กล่าวอย่างมั่นใจว่า "ในไลน์การผลิตเราจะครบวงจรภายในปี 2000 และจะเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่มีธุรกิจนี้ครบวงจร ซึ่งเมื่อถึงตรงนั้นความมั่นคงในการทำธุรกิจเราจะแข็งแกร่งขึ้น"

นั่นคือทุนเท็กซ์ฯจะมีรายได้ทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เส้นใยพีเอสเตอร์ PTA สาร PX รวมทั้งการพัฒนาที่ดิน

อย่างไรก็ตามทำธุรกิจไม่ได้สวยเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบเพียงอย่างเดียว แม้ว่าจะสามารถทำธุรกิจครบวงจรแล้วก็ตามแต่เมื่อภาวะอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งตกต่ำขึ้นมาอาจจะส่งผลให้เกิดการตกต่ำเป็นลูกโซ่ได้ และปัจจุบันได้เกิดกับทุนเท็กซ์ฯ แล้ว คือ ราคาเส้นใยโพลีเอสเตอร์อยู่ในช่วงตกต่ำซึ่งกว่าจะฟื้นให้เหมือนดังเดิมได้คงจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร

ขณะเดียวกันวัตถุดิบ PTA ราคาได้ตกลงมาอย่างมากแม้ว่าจะผลิตเพื่อ SUPPORT บริษัทในเครือแต่การจำหน่ายนั้นก็ยังอิงกับราคาตลาดโลก ขณะเดียวกันสัดส่วนการจำหน่ายออกไปก็ยังมีสูง ดังนั้นทุนเท็กซ์ฯ จะหวังพึ่งรายได้จาก PTA ในช่วงนี้คงจะลำบาก เพราะนับตั้งแต่เปิดโรงงานมาราคาได้ตกรูดลงมาตลอด โดยลดลงจาก 1,300 เหรียญสหรัฐต่อวัน เป็น 550 เหรียญสหรัฐต่อตันในช่วงปลายปี 2539

"ช่วง 3 เดือนแรกหลังจากเปิดโรงงานเรามีกำไร 200 กว่าล้านบาท แต่เมื่อราคาตลาดโลกของ PTA ร่วงลงมากว่า 50% และราคาเคยต่ำสุดที่ระดับ 380 เหรียญสหรัฐต่อตันก็เลยขาดทุนและปัจจุบันราคาก็ยังอยู่แถวๆ 650 เหรียญ" วิชา เปิดเผย

เมื่อธุรกิจหลักทั้ง 2 อยู่ในช่วงตกต่ำเช่นนี้จึงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของทุนเท็กซ์ฯ ซึ่งเมื่อพิจารณางบการเงินรวมปรากฏว่าในปี 2537 มีกำไรสุทธิ 330.44 ล้านบาท แต่มาในปี 2538 กำไรสุทธิลดลงเหลือ 289.33 ล้านบาท ถึงแม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 2,757.78 ล้านบาท แต่เนื่องจากราคาจำหน่ายตกต่ำประกอบกับต้นทนขายที่เพิ่มขึ้น 2,358.09 ล้านบาท กำไรสุทธิจึงออกมาไม่ประทับใจเท่าไหร่

หนักที่สุดในปี 2539 ที่ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรก ทุนเท็กซ์ฯ ขาดทุนสุทธิสูงถึง 851.77 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนจากภาวะซบเซาของเส้นใยโพลีเอสเตอร์ 335 ล้านบาทและขาดทุนจากการจำหน่าย PTA จำนวน 516 ล้านบาท แม้ว่ายอดขายโดยรวมจะพุ่งสูงถึง 6,459.16 ล้านบาทก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถฉุดให้บริษัทมีกำไรได้

เมื่อมองไปยังสาร PX ที่กำลังจะเกิดตามมานั้นปัจจุบันราคาได้ตกลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 440 เหรียญสหรัฐต่อตันจากที่เคยอยู่ที่ระดับ 1,800 เหรียญสหรัฐต่อตัน เมื่อต้นปี 2539 แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อทุนเท็กซ์ฯ ในขณะนี้เนื่องจากยังผลิตไม่ได้แต่เมื่อสามารถผลิตได้แล้วถ้าราคาขายยังยืนอยู่ในระดับนี้คาดว่าทุนเท็กซ์ฯ จะต้องรับภาระการขาดทุนแน่นอน

"ราคา PTA ขึ้นอยู่กับ PX และ PX ขึ้นอยู่กับน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันขึ้น PX ก็จะสูงตามและจะส่งผลต่อราคา PTA เช่นกัน" วิชา กล่าว

ดังนั้นทั้งภาวะเส้นใยโพลีเอสเตอร์ PTA และ PX จะเกี่ยวโยงกันถ้าเมื่อใดภาวะอยู่ในช่วงขาขึ้นสภาวะของทุนเท็กซ์ฯ ก็จะดีตามไปด้วย แต่เมื่อใดที่ภาวะธุรกิจทั้งสามอยู่ในช่วงขาลงเหมือนปัจจุบัน ทุนเท็กซ์ฯ ก็จะอยู่ในภาวะที่ลำบากเช่นกัน

แน่นอนว่าการทำธุรกิจครบวงจรของทุนเท็กซ์ฯ เป็นสิ่งที่ดีเพราะจะนำความมั่นคงเข้ามาสู่บริษัท แต่คงจะต้องให้เวลาเป็นเครื่องตัดสินว่าความมั่นคงนั้นจะมีมากน้อยแค่ไหน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.