การเปลี่ยนสัมปทานคลื่นวิทยุในปี 2540 นี้ ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการอย่างมาก
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีทั้งผู้ที่สมหวังและสูญเสียสำหรับรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในวงการแบบใหม่ถอดด้ามมีด้วยกัน
2 รายคือบริษัทเจเอสแอล ที่ชิงคลื่น FM.102.5 MHz ของกองทัพอากาศไปจากบริษัทไอเอ็นเอ็นเรดิโอ
นิวส์ ได้ทั้งๆ ที่มีแบ็คอัพอย่างสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ส่วนอีกรายที่เพิ่งลงสนามครั้งแรกแต่มีเงินถุงเงินถังเข้ามาประลองยุทธ์ในครั้งนี้คือดร.วีณา
เชิดบุญชาติ ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ชิงคลื่น
FM.97.0 MHz ของกรมประชาสัมพันธ์มาจาก จันทรา ชัยนาม แถมควงกลุ่มเนชั่นที่เคยผลิตข่าวให้กับจันทรา
มาผลิตป้อนให้กับตนเองได้อีกด้วย
เจเอสแอลย้ำ "ไม่ได้รังแกใครทุกอย่างถูกต้องตามกติกา"
สำหรับรายแรกคือบริษัทเจเอสแอลนั้นถึงแม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการวิทยุ แต่ก็เป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการโทรทัศน์มานานกว่าสิบปี
จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ลาวัลย์ กันชาติ ประธานกรรมการบริษัทเจเอสแอล เล่าให้
"ผู้จัดการรายเดือน" ฟังถึงปฐมเหตุในการก้าวสู่วงการสื่อวิทยุว่า
เนื่องจากในระยะต่อไปนี้บริษัทต้องการจะขยายงานทุกด้านให้ครบวงจรเพื่อให้บริษัทมีความเข้มแข็งมากพอที่จะก้าวเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการและมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว
ประกอบกับในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กองทัพอากาศต้องการจะเปลี่ยนนโยบายของสถานีจากคลื่นข่าวมาเป็นคลื่นเพลง
ส่วนการได้มาของคลื่น FM. 102.5 MHz ในครั้งนี้ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนในวงการวิทยุมากกับการกระโดมาในยุทธจักรครั้งนี้ของเจเอสแอล
เพราะปัจจุบันนี้เป็นที่รับรู้กันว่าเวลาของการเช่าคลื่นวิทยุได้กลายเป็นทองไปแล้ว
ตั้งแต่ได้มีการเปิดประมูลครั้งแรกในสมัยรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุน เมื่อปี
2535 ซึ่งครั้งนั้นเป็นความคิดริเริ่มของมีชัย วีระไวทยะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ควบคุมสื่อของรัฐ
เห็นว่าการเช่าเวลาของเอกชนไม่มีความเป็นธรรมกับรัฐ และรัฐควรจะได้ผลประโยชน์มากกว่าที่เคยเป็นมา
ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประมูลที่โปร่งใสที่สุด
ดังนั้นในปัจจุบันการประมูลคลื่นวิทยุที่แต่ละบริษัทได้มาจึงเป็นที่ทราบกันดีว่าต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่อยู่ในวงการมานานเล่าว่า
"ประมูลแต่ละทีต้องเตรียมกู้เงินแบงก์ไว้เลยทั้งบนโต๊ะใต้โต๊ะ เพียงคุณคิดดูจากเดือนละแค่แสนบาทกลายเป็นเดือนละหลายล้านบาทมันโตขึ้นกี่ร้อยเปอร์เซ็นต์
บางทีประมูลมาแล้วยังไม่แน่ใจเลยว่าจะทำได้คุ้มไหม แต่ไม่มีทางเลือกมันเป็นอาชีพของเรายังไงก็ต้องทำ"
อีกประการหนึ่งที่ผู้คนในวงการฮือฮามากที่ FM. 102.5 MHz หลุดจากมือไอเอ็นเอ็นมาสู่เจเอสแอล
เพราะรู้กันดีว่าไอเอ็นเอ็นเป็นบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะเข้ามารังแกกัน
ส่วนการได้มาของคลื่น FM. 102 MHz ของเจเอสแอลนั้นบุคคลที่เป็นผู้ประสานงานและไปประมูลคลื่นมาได้คือ
ชเยนทร์ คำนวณ เจ้าของหนังสือวัยรุ่น "เปรียว" ลูกชายของชัยรัตน์
คำนวณ ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพฯ
ชเยนทร์ เป็นผู้ไปประมูลเงียบคลื่นนี้มาจากกองทัพอากาศซึ่งเดิมให้สัญญานี้กับไอเอ็นเอ็นมาเกือบ
5 ปีแล้ว แต่ในที่สุดกองทัพอากาศก็ลงดาบไอเอ็นเอ็นแบบตัดบัวไม่ให้เหลือใย
"สาเหตุของการไม่ต่อสัญญาเนื่องจากไอเอ็นเอ็นเสนอข่าวการเมืองที่เผ็ดร้อนมาก
จนสร้างความร้อนใจให้กับกองทัพซึ่งได้เตือนไปหลายครั้งว่าให้เบาๆ หน่อย แต่ไม่ได้ผล
ก็ถึงจุดแตกหักและกองทัพอากาศได้ปิดฉากการเจรจาโดยไม่ต่อสัญญาให้กับไอเอ็นเอ็นและหาผู้บริหารคลื่นรายใหม่เข้ามา
โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่ใช่คลื่นข่าวอีกแล้ว"
หลังจากที่ไปเจรจาจนได้คลื่นมาแล้ว ชเยนท์ก็ดึงเจเอสแอลมาร่วมด้วยเพราะเจเอสแอลเองก็ต้องการขยายงานเข้าสู่ธุรกิจวิทยุพอดี
แล้วบริษัทสตาร์ วอยส์ ก็เกิดขึ้นโดยเป็นการร่วมทุนขอเจเอสแอลกับชเยนทร์ในสัดส่วนฝ่ายละ
50 : 50 มีทุนจุดทะเบียน 10 ล้านบาท และเรียกคลื่นนี้ว่า สตาร์ เอฟเอ็ม กำหนดให้ผุสชา
โทณะวณิก ลูกหม้อเก่าของเจเอสแอลเป็นผู้จัดการ โดยอัตราค่าโฆษณาในช่วงไพร์มไทม์สปอตละ
3,000 บาท มีสัญญาแบบปีต่อปี และเสียค่าเช่าเวลาให้กองทัพอากาศเดือนละ 2,000,000
บาท
ลาวัลย์บอกว่า "มั่นใจว่าถ้ามาอยู่แล้วทำให้เจ้าของบ้านสบายใจ จ่ายค่าเช่าตรงเวลา
ก็น่าจะอยู่กันได้นาน ขอยืนยันว่าไม่ได้คิดที่จะรังแกใครมันเป็นเรื่องทางธุรกิจ
กองทัพอากาศอยากเปลี่ยนคลื่นข่าวเป็นคลื่นเพลงเลยเรียกเราเข้ามา"
สตาร์ เอฟเอ็ม ออกอากาศตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2540 เป็นการออกอากาศเต็ม
24 ชั่วโมง เป็นเพลงสากลแบบ EASY LISTENING เน้นกลุ่มเป้าหมายวัยทำงาน และอาจถือเป็นคลื่นวิทยุแรกที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ดิจิตอลควบคุมแนวเพลงในการออกอากาศ
ด้านจำนรรค์ ศิริตัน ผู้บริหารอีกคนของเจเอสแอลบอกว่าบริษัทคาดว่าจะมีรายได้ในปีแรกอย่างน้อย
72 ล้านบาทโดยใช้เงินลงทุนขั้นต้นราว 50 ล้านบาท
"หากประสบความสำเร็จภายใน 6 เดือนบริษัทจะหาคลื่นอื่นมาบริหารเพิ่ม
แต่อาจจะไม่ใช่คลื่นเพลง แต่เป็นคลื่นข่าวและสาระต่อไป และถ้าการบริหารงานไปได้ดี
อาจจะแยกการบริหารหรือตั้งเป็นบริษัทใหม่ไปเลย เพื่อความคล่องตัว" จำนรรค์
กล่าวด้วยสีหน้ามุ่งมั่น
ดร.วีณา เชิดบุญชาติ "คลื่นนี้ไว้เป็นของขวัญให้ลูกชาย"
สำหรับหน้าใหม่อีกรายคือ ดร.วีณา เชิดบุญชาติ ผู้มีงานอดิเรกเป็นนักธุรกิจทางด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
งานหลักเป็นหัวหน้าโครงการทดสอบวัคซีนสำหรับคนติดเชื้อไวรัสเอดส์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มาในนามของบริษัทเอ.วี. แอดส์ จำกัด งานนี้ตอนแรกก็สร้างความแปลกใจให้กับคนในแวดวงสื่อวิทยุไม่น้อย
เธอเข้ามาประมูลเงียบคลื่น FM. 97.5 MHz ของกรมประชาสัมพันธ์จากเจ้าของเดิม จันทรา
ชัยนาม เจ้าของบริษัทสตูดิโอ 107 ที่หลุดสัญญาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวและในครั้งนี้เอ.วี.
แอดส์ได้ต่อสัญญายาวนานถึง 6 ปี
ส่วนมูลค่าในการเช่าสัมปทานทั้งหมดดร.วีณา ขอปิดเป็นความลับ แต่กระแสข่าววงในแจ้งว่าเดือนละประมาณ
4 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่โหดร้ายนักเนื่องจากสามีของดร.วีณา เป็นเพื่อสนิทของ ชั้น
พูนสมบัติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์คนปัจจุบัน
เธอบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เข้ามาในสื่อวิทยุ ด้วยเหตุผลคือให้ลูกชายที่เปิดค่ายเทปได้มีเวทีลง
"คลื่นวิทยุส่วนใหญ่ที่เป็นคลื่นเพลง มักจะมีค่ายเทปใหญ่ๆ เป็นเจ้าของซึ่งก็โปรโมตแต่เพลงของเขา
เราเป็นค่ายเทปน้องใหม่โอกาสเกิดจึงยาก แล้วลูกชายก็ตั้งใจทำจริง ก็ต้องสนับสนุนเขาบ้างคือหาเวทีให้ลง
ซึ่งเราก็ไม่อยากทำเพลงอย่างเดียว มีรายการข่าวด้วย เป็นคลื่นข่าวผสมเพลง
(NEWS & MUSIC STATION)"
การดำเนินงานครั้งนี้เอ.วี.แอดส์ ร่วมกับกลุ่มเนชั่น เพื่อผลิตรายการข่าวสารให้
แหล่งข่าววงในเล่าให้ฟังว่าการได้คลื่นมาในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้เป็นฝีมือการประสานงานของสุภาพ
คลี่ขจาย ที่ต้องการหาผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อที่เนชั่นจะได้ขายเวลาข่าวเพิ่มขึ้นจากเดิม
6 ชั่วโมงเป็น 11 ชั่วโมง
ส่วนรายการอื่นๆ เช่น รายการเด็ก หรือที่เกี่ยวกับครอบครัวจะผลิตโดย บริษัทดาวฤกษ์ของบิลลี่และสิเรียม
โอแกน นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญธุรกิจ (เอแบค) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
ในส่วนของการทำตลาดนั้นจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างเอ.วี.แอดส์ และกลุ่มเนชั่น
ส่วนอัตราค่าโฆษณาสปอตละ 2,500 บาท
ธยานี (จันทรา) ชัยนาม คราวนี้จะไปทางไหนดี??
เปิดพ.ศ. ใหม่นี้ถ้าจะมีศาลาคนเศร้าในแวดวงสื่อวิทยุประจำปีแล้วละก็นอกจากสนธิญาณ
หนูแก้วแห่งไอเอ็นเอ็นที่ยังหาที่ลงให้ทีมงานกว่า 200 ชีวิตไม่ได้ หรือศันสนีย์
นาคพงษ์ แห่งเรดิโอ ทูเดย์ กับทีมงานอีกกว่า 20 ชีวิต ก็ต้องมีเจ้าเก่าในวงการที่มองข้ามไม่ได้อีกคนหนึ่งคือจันทรา
ชัยนาม หรือในชื่อใหม่เป็นการแก้เคล็ดว่า ธยานี กับลูกน้องอีกกว่า 50 ชีวิตเอาไว้ในประวัติศาสตร์ด้วยเพราะเป็นอีกรายที่หลุดสัญญาแบบสายฟ้าแลบเช่นกัน
และเธอก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการ ด้วยการทำหนังสือร้องเรียนไปถึง
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันแลปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการหรือป.ป.ป.
และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปถึงพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ต่อสัญญาคลื่น
FM. 97.5 MHz ของกรมประชาสัมพันธ์
เพราะจันทราเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ไม่มีความโปร่งใสเนื่องจากตนซึ่งเช่าคลื่นนี้อยู่และทำรายการมาตลอด
5 ปีเป็นผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดในหมู่ผู้เช่าคลื่นกรมประชาสัมพันธ์คือ
เดือนละ 3.5 ล้านบาทเศษ และไม่เคยทำผิดสัญญา
นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ทำหนังสือไปถึงผู้บริหารสถานี
เพื่อแจ้งความจำนงว่าทางบริษัทยินดีที่จะขอต่อสัญและพร้อมจะทำตามเงื่อนไขทุกอย่ง
รวมทั้งเรียนถามไปด้วยว่าปีต่อไปจะมีการปรับค่าสถานีหรือไม่ เพื่อที่บริษัทจะตั้งงบการเงินเตรียมรองรับไว้
แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจนทำให้วางใจว่าคงไม่มีปัญหาอะไร จนทราบอย่างเป็นทางการว่าหลุดสัญญาเมื่อปลายเดือนธันวาคม
ถ้าเช่นนั้นมีเหตุผลใดที่ไม่ต่อสัญญาให้ "ขอความกรุณาอธิบายเหตุผลให้หน่อย
ที่ร้องเรียนไปนี้ไม่ได้เพื่อจะให้รื้อสัญญา แต่ขอทราบว่าเราทำผิดอะไร ถ้าจะขึ้นราคาก็บอกมาเลย
โอเค ถ้าขึ้นมาแล้ว เราสู้ราคาไม่ได้ก็ยินดีหลีกทางให้ แต่อยู่ๆ ก็ไม่ต่อสัญญาโดยไม่แจ้งเหตุผลเรายังไม่มีโอกาสได้ขึ้นชกบนเวทีเลย
แต่ถูกปรับแพ้เสียแล้ว" จันทรากล่าวขอความเป็นธรรม
เหตุผลที่จันทราขอให้กรมประชาสัมพันธ์ช่วยอธิบายนั้นมี 2 ข้อคือ 1. ทำไมสัญญาใหม่จึงได้ต่อถึง
6 ปีทั้งที่ของเดิมต่อเพียงครั้งละ 3 ปีเท่านั้น 2. ทำไมบริษัทสตูดิโอ 107
ซึ่งเป็นผู้ให้ประโยชน์สูงสุดแก่กรมประชาสัมพันธ์จึงไม่ได้ต่อสัญญา ขณะที่อีก
4 คลื่นที่เช่าพร้อมกันได้ต่อหมด
"ถ้าตอบสองข้อนี้ได้ชัดเจนโปร่งใส เรายอมรับกติกา ลองคิดดู 4 คลื่นที่เหลือเขาได้เช่ากันที่ราคาระหว่าง
2.8-3 ล้านบาท แต่เราเช่าเดือนละเกือบ 3.6 ล้านบาทแล้วทำไมไม่ได้ต่อ"
จันทราเล่าด้วยอาการข้องใจ
ส่วนจะทำอย่างไร่ต่อนั้นจันทราบอกว่าไม่ทราบ คิดอะไรไม่ออก ระหว่างนี้เธอก็ให้ทีมงานติดต่อไปที่ผู้เช่าสถานีวิทยุเอฟเอ็มทุกรายเผื่อว่าใครมีความประสงค์จให้เช่าช่วงเวลาทำรายการสัก
2-3 ชั่วโมงบ้าง
จันทรา บอกว่าหากวงการสื่อบ้านเรายังไม่ได้รับการปรับปรุงเรื่องสัมปทานปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปคงจะฟาดฟัดกันด้วยเม็ดเงินและวิธีการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ละบริษัทที่โดดเข้าม้าวนแต่เป็นบริษัทใหญ่ๆ หรือค่ายเทปดังๆ ที่มีสายป่านยาม
อีกทั้งบริษัทเหล่านั้นก็มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงเพื่อให้ได้คลื่นมาดำเนินการ
ที่ผ่านมาการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐก็ไม่ค่อยมีความรัดกุมต่อเอกชนที่เป็นคู่สัญญาคือเป็นสัญญาที่เปราะบางไม่กำหนดอะไรที่แน่ชัด
ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในขณะนั้น ซึ่งเป็นผลเสียต่อผู้ที่ประมูลได้
ไม่ค่อยกล้าที่จะลงทุนอะไรมากนักหากปีต่อไปไม่ต่อสัญญาขึ้นมาก็เท่ากับลงทุนไปฟรีๆ
ทำให้สื่อวิทยุพัฒนาไปได้ช้ามากเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ เช่น โทรทัศน์ที่มีสัญญานานนับสิบปี
ส่วนบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เงินทุนไม่มากพอ ไม่มีนายทุนสนับสนุน แต่มีความต้งใจที่จะทำก็อยู่ไม่ได้
คงต้องเร้นกายหายหน้าไปจากวงการหรือถ้าดีหน่อยก็อาจจะไปหาคลื่นตามต่างจังหวัดแทน
อีกรายที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือศันสนีย์ นาคพงษ์ แห่งเรดิโอทูเดย์
ที่เสียคลื่น FM.103.5 ซึ่งเป็นคลื่นข่าวและรายการสาระสำหรับคนทำงานให้แก่กลุ่มบีเอ็นทีของอิทิวัฒน์
เพียงเลิศ แห่งสยามเรดิโอ เพื่อนำไปจัดเป็นคลื่นเพลงไทย แต่ต้นสนีย์ ยังโชคดีกว่าใครเพราะเธอมีเงื่อนไขว่าต้องรับทีมงานเกือบ
20 ชีวิตของเธอไปด้วย ซึ่งสามารถตกลงกันได้
ส่วนคลื่นเพลงอื่นๆ ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้มากนักอย่างกรณีของบริษัทเอไทม์
มีเดีย ในเครือแกรมมี่ที่มีของเดินอยู่ 4 คลื่นคือ FM.88, 91.5, 93.5 และ
104.5 แม้ว่ามีกระแสข่าววงในบอกว่าที่จริงแล้วเอไทม์ ก็หลุดคลื่น ปตอ. FM
104.5 แต่ก็ใช้ความสามารถอย่างรวดเร็วในการไปประมูลคลื่นนี้กลับมาได้ และยังได้คลื่นใหม่มาอีก
2 คลื่นเพื่อจัดเพลงสากล
ส่วนค่ายเพลงอื่นๆ ก็รักษาคลื่นเดิมไว้ได้แม้จะไม่ได้คลื่นใหม่ก็ตาม