มืออาชีพทางด้านข่าวจากสิ่งพิมพ์เกือบทุกค่ายตบเท้าเข้าสู่ "คลื่นวิทยุ"
หลังจากพบว่าวิทยุก็เป็นอีกสื่อหนึ่งที่ตอบสนองความต้องการข่าวสารได้ไม่แพ้สื่ออื่นๆ
และยังอาจเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกกว่าสื่อประเภทอื่น
เริ่มจากกลุ่มเนชั่นที่รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย การผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อนให้กับสถานีวิทยุในสังกัดกองทัพบก การกำเนิดของจส.100 ที่ยึดกลุ่มผู้ฟังที่เป็นผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑลรวมทั้งคู่แข่งธุรกิจ กลุ่มวัฎจักร กลุ่มผู้จัดการ ที่หันมาจับจองคลื่นวิทยุกันคนละคลื่นสองคลื่น
ทางฟากของหน่วยงานรัฐเอง ไม่ว่าจะเป็นองค์การสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)
ก็กันคลื่น 100.5 ไว้สำหรับเป็นคลื่นข่าว และมีสำนักข่าวไทยทำหน้าที่ผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อนให้กับคลื่นวิทยุในสังกัดทั้ง
6 คลื่น รวมถึงกรมตำรวจที่มีการจัดตั้งศูนย์ผลิตรายการและข่าวของกรมตำรวจ
(ศผข.) เพื่อผลิตรายการผ่านเครือข่าย 44 สถานีของกรมตำรวจทั่วประเทศ และการเกิดคลื่นสวพ.91
เพื่อรายงานสภาพการจราจร
เม็ดเงินก้อนโตหลั่งไหลสู่คลื่นข่าวจะเห็นได้ว่ายอดโฆษณาเริ่มเข้าสู่คลื่นข่าว
(ดูตารางยอดโฆษณาสูงสุด) แทนที่จะเป็นคลื่นเพลงทั้งหมดเช่นในอดีต
แต่เส้นทางของ "คลื่นข่าว" ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อการแข่งขันเริ่มรุนแรงความเปราะบางของสัมปทาน
และปัญหาต้นทุนผลิตเริ่มเป็น บทพิสูจน์ความลำบากของคลื่นข่าว
เกิดอะไรขึ้นกับสถานีข่าว?
ทางตันของไอเอ็นเอ็น
เส้นทางชีวิตอันโชกโชนของ "สนธิญาณ หนูแก้ว" ที่ผ่านมา คงไม่ต่างอะไรไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
(INDEPENDENCE NEWS NETWORKS) ที่เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งในเวลานี้เท่าใดนัก
ใครจะคิดว่าสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นหนึ่งในต้นตำรับของสถานีข่าวสาร 24 ชั่วโมงจะถูกเขี่ยออกจากคลื่นวิทยุ
102.5 เมกะเฮิรตย์ เมื่อยอดสปอตโฆษณาของไอเอ็นเอ็นถูกจองเต็มตลอดทั้งปี 2540
และลึกลงไปกว่านั้นไอเอ็นเอ็นยังเป็นเครือข่ายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ภายใต้คำสั่งแบบฟ้าผ่าของกองทัพอากาศ เจ้าของคลื่น 102.5 ส่งผลให้ไอเอ็นเอ็นต้องสูญเสียที่มั่นทางธุรกิจทันที
พนักงานร่วม 200 ชีวิตต้องถูกลอยแพ และค่าใช้จ่ายที่ต้องแบบรับอีกเดือนละ
4-5 ล้านบาท
ในเวลาเดียวกันเจเอสแอล ผู้ผลิตรายการบันเทิงบนหน้าจอทีวี ก็มี "สื่อวิทยุ"
เป็นตัวต่อยอดที่ใช้เพื่อสร้างศักยภาพของธุรกิจบันเทิงในมือ ในการปูทางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ไอเอ็นเอ็น ถือกำเนิดขึ้นมาจาก "ข่าวด่วนพล.1" เริ่มมาจากแนวคิดของพล.อ.มงคล
อัมพรพิสิฏฐ์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการของพล.1ในขณะนั้น ต้องการปรับปรุงวิทยุเอเอ็มพล.1
ให้เป็นระบบสเตอริโอ จึงนำเรื่องมาเสนอกับจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเปรมติณสูลานนท์ในสมัยนั้น
จิรายุนำเรื่องมาปรึกษากับสนธิญาณซึ่งในขณะนั้นทำงานอยู่สถานีโทรทัศน์ช่อง
3 ก็มีความสนใจในเรื่องสื่อวิทยุมานาน เพราะมองเห็นว่าสื่อวิทยุจะมีบทบาทมากขึ้น
แม้จะเป็นสื่อเสริมแต่ก็เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้สะดวกและง่ายที่สุด และที่สำคัญมีราคาถูกคนทั่วไปหาซื้อเครื่องรับได้ในราคาไม่กี่สตางค์
สิ่งที่สนธิญาณมองเห็นมากไปกว่านั้น การนำเสนอในรูปแบบของ "ข่าวสาร"
ที่ยังเป็นช่องว่างอยู่ในเวลานั้นเพราะคลื่นบนหน้าปัดในเวลานั้นถูกใช้เวลาไปกับ
"เพลง" แทบทังสิ้น
"ข่าวด่วนพล.1" จึงเป็นก้าวแรกขอไอเอ็นเอ็นที่เริ่มต้นขึ้นมาในเดือนมกราคม
2532 แต่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนมาตั้งแต่เริ่ม เพราะแนวคิดของสนธิญาณ คือ
ต้องการทำเป็นศูนย์ข่าวเพื่อให้ได้ข่าวที่สมบูรณ์ และสดมากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในเรื่องกำลังคนเป็นจำนวนมากสวนทางกับรายได้
จึงต้องอาศัยบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ มาเกื้อหนุนตลอดเวลา
"เราทำข่าวด่วนพล.1 เรามีต้นทุนสถานีละ 4 แสนบาทต่อเดือน ในขณะที่คนอื่นเขามีต้นทุน
150 บาทในการซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่าน แต่เราต้องใช้คน 30 คน กระจายไปตามแหล่งข่าว
แต่ค่าโฆษณาในเวลานั้นสปอตละ 130 บาท ดีที่เรามีธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทปูนซีเมนต์ไทยมาช่วยประคับประคอง"
สนธิญาณเล่า
แม้ต้องประสบภาวะลำบากในเชิงธุรกิจแต่สนธิญาณยังเดินหน้าต่อ เมื่อครั้งที่มีการประมูลคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์เป็นครั้งแรกในสมัยของมีชัย
วีระไวทยะ ไอเอ็นเอ็นได้กระโดดเข้าร่วมประมูล โดยเสนอทำ 2 คลื่น คือ คลื่นสร้างสรรค์และคลื่นข่าวแต่ในที่สุดก็ต้องพลาดหวัง
ไอเอ็นเอ็นจึงเบนเข็มมาอยู่ที่คลื่น 102.5 ของกองทัพอากาศผลิตข่าวต้นชั่วโมงป้อน
การเริ่มต้นที่กองทัพอากาศ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้สนธิญาณโคจรมาพบกับอิทธิวัฒน์
เพียรเลิศ เจ้าพ่อดีเจผู้ก่อตั้งมีเดียพลัสซึ่งกำลังหาพันธมิตรทางด้านข่าวอยู่พอดีและก็เป็นเวลาเดียวกับที่สนธิญาณกำลังต้องการหา
"เวที" ใหม่ๆ ให้กับไอเอ็นเอ็น การร่วมมือของทั้งสองจึงเกิดขึ้น
หลังจากการจับมือกับมีเดียพลัสในครั้งนี้ ไอเอ็นเอ็นก็มีโอกาสขยายเข้าไปยังคลื่น
94.5 ของกองทัพบกที่ไปร่วมประมูลกันมาได้ และกลายเป็นสถานีวิทยุทางด้านข่าวแห่งแรกๆ
ในช่วงเวลานั้น
นอกจากนี้ยังนำพาไปสู่การร่วมมือกับไทยสกายทีวี ของคีรี กาญจนพาสน์ในเวลาต่อมา
เพราะความใฝ่ฝันของสนธิญาณคือ ต้องการให้ไอเอ็นเอ็นเป็นศูนย์ข่าวเพื่อป้อนให้กับสื่อวิทยุโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ดังเช่นสำนักข่าวในต่างประเทศที่สำคัญๆ
ข้อตกลงกันในครั้งนั้นถึงขั้นที่ว่าจะปรับปรุงให้ไทยสกายทีวีเป็นสถานีข่าวสารและหากเป็นไปตามที่วางไว้ไอเอ็นเอ็นจะมีโอกาสเข้าสู่สื่อโทรทัศน์อย่างเต็มตัว
แต่ภายหลังจากคีรีขายหุ้นในไทยสกายทั้งหมดให้กับกลุ่มวัฏจักร นโยบายทั้งหมดถูกรื้อใหม่ฝันของไอเอ็นเอ็นก็สลาย
แม้จะถูก "เด้ง" ออกมาจากไทยสกายทีวี แต่บารมีของสำนักงานทรัพย์สินฯ
ยังมีอยู่กลุ่มวัฏจักรจึงยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ที่ไอเอ็นเอ็นใช้ไปในช่วงเตรียมงานพร้อมกับยอมโอนคลื่น
FM.102.5 ให้กับไอเอ็นเอ็น
คลื่น FM. 102.5 นั้นแต่เดิม โน๊ต โปรโมชั่น ซึ่งมีรายการเพลงไทย "อัลบั้มโน๊ต"
ได้เช่าเวลาจากกองทัพอากาศ แต่ภายหลังถูกมีเดียพลัสเทกโอเวอร์ไปจนกระทั่งกลุ่มวัฏจักรได้เข้ามาซื้อหุ้นของมีเดียพลัสคลื่น
102.5 จึงตกมาอยู่ในมือของกลุ่มวัฏจักร ก่อนมาเป็นของไอเอ็นเอ็น
เมื่อได้คลื่น FM. 102.5 มาไอเอ็นเอ็นจึงปักธงกับธุรกิจวิทยุอีกครั้ง และในคราวนี้สนธิญาณได้ดึงเอาอิทธิวัฒน์พันธมิตรเก่าแก่เข้ามาร่วมด้วย
"ตอนนั้นกองทัพอากาศเห็นว่าเราผลิตข่าวป้อนให้อยู่แล้ว ก็เลยไม่ขัดข้องที่จะให้ไอเอ็นเอ็นเช่าเวลาต่อจากมีเดียพลัส"
สนธิญาณเล่า
จนกระทั่งในปี 2536 สำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดให้มีการประมูลทีวีเสรีขึ้น
ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมประมูลและสนธิญาณผลักดันไอเอ็นเอ็นเข้าเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของสยามทีวี
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น ร่วมกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ และสยามทีวีก็สามารถคว้าชัยชนะมาได้ ในครั้งนั้นสนธิญาณออกแรงเต็มที่ เพราะหมายมั่นปั้นมือจะให้ไอเอ็นเอ็นผลิตข่าวป้อนให้แต่หลังจากมีการจัดเตรียมทีมบริหารได้ไม่นานสนธิญาณก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกครั้ง
หลังจากไอเอ็นเอ็นถอนตัวออกจากทีวีเสรี สนธิญาณก็หันมาทุ่มเทให้กับไอเอ็นเอ็นอย่างเต็มตัวอีกครั้ง
ดูแลทั้งในด้านของธุรกิจและด้านโฆษณาเอง มีการเพิ่มบุคลากรเป็นจำนวนมากและสถานการณ์ของไอเอ็นเอ็นก็เริ่มกระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ
ความโดดเด่นของไอเอ็นเอ็น อยู่ที่การวางฟอร์แมทรายการที่เน้นในเรื่องของ
"ความเร็ว" ในการนำเสนอข่าว ด้วยรูปแบบรายการของฮอทไลน์นิวส์และข่าวด่วนไอเอ็นเอ็น
ซึ่งจะมีการ "อัพเดท" ข่าวทุกครึ่งชั่วโมงเพื่อรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
ยิ่งไปกว่า "ความแรง" และ "ความกล้า" ในการนำเสนอข่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ไอเอ็เอ็นมีความโดดเด่นอย่างมากจุดนี้สนธิญาณได้พยายามใช้เป็นแต้มต่อเพื่อสร้างความเร้าใจ
และความแปลกใหม่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลที่ไอเอ็นเอ็นเป็นผู้เปิดประเด็นนำเสนออย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นเหล่านี้ก็ทำให้ไอเอ็นเอ็นได้รับการต้อนรับจากผู้นิยมฟังข่าวสารบ้านเมืองจำนวนมาก
ดังนั้นแม้ว่าไอเอ็นเอ็นจะใช้เงินลงทุนสูงมากกับการสร้างสำนักข่าว โดยเฉพาะในเรื่องของทีมงานเพื่อผลิตข่วแต่ก็เริ่มมีรายได้เข้ามาพอเลี้ยงตัวเองได้
และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ในปี 2540 จะเป็นปีที่ไอเอ็นเอ็นมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว
ปีที่แล้วไอเอ็นเอ็นมีรายได้จากคลื่น 102.5 เดือนละ 6-7 ล้านบาท เวลาของโฆษณาถูกจองเต็มมาตลอดจนถึงสิ้นปี
2540
"หากพูดถึงคลื่นข่าวแล้ว ต้องยอมรับว่าไอเอ็นเอ็นได้รับความนิยมจากผู้ฟังเพราะความแรงในการนำเสนอข่าว
เจ้าของสินค้าบางรายเขาเจาะจงมาเลยว่าจะต้องลงที่คลื่น 102.5 " แหล่งข่าวจากบริษัทชูโอเซนโกะ
เอเยนซีโฆษณาแห่งหนึ่งของเมืองไทยสะท้อน
ทว่า "ความเร็ว" และ "ความแรง" ในการนำเสนอข่าวกลับกลายเป็น
"หนามทิ่มตำ" ให้กับไอเอ็นเอ็นในภายหลังเอง การนำเสนอกระทบกระทั่งบุคคลในรัฐบาลหรือในพรรคการเมือง
หรือผู้มีอิทธิพล เช่นในกรณีการนำเสนอข่าวของพระยันตระ หรือการเปิดประเด็นกรณีของทนง
ศิริปรีชาพงศ์ หรือฉายา ป.เป็ด ที่ค้ายาเสพย์ติดในสหรัฐอเมริกาที่ไอเอ็นเอ็นเป็นผู้เปิดประเด็นและนำเสนออย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในครั้งนั้นไอเอ็นเอ็นต้องถูกรัฐบาลเรียกไปพบจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต
แม้ว่าปัจจุบันสื่อมวลชนจะมีอิสระเสรีในการนำเสนอข่าวสารมากก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ให้สัมปทานแก่เอกชนมาเช่าช่วงเวลา
โอกาสในการถูกยกเลิกสัญญาหรือไม่ต่อสัญญาให้จึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับธุรกิจวิทยุของเมืองไทยได้ตลอดเวลา
(อ่านล้อมกรอบ)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มีนโยบายคุมเข้มในการนำเสนอข่าวของ
"สื่อ" วิทยุและโทรทัศน์
หลังจากจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ได้ส่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในสังกัดพรรคความหวังใหม่เข้าไปดูแลหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมสื่อ
ไม่ว่าจะเป็นปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ที่เข้ามาดูแลกรมประชาสัมพันธ์และส่งชิงชัย
มงคลธรรมดูแล อ.ส.ม.ท. ซึ่งทั้งสองแห่งล้วนแต่มีสื่อวิทยุและโทรทัศน์ในครอบครองจำนวนมาก
รวมทั้งเหล่ากองทัพทั้งหลายที่มีคลื่นวิทยุอยู่ในมือด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องยากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่พล.อ.ชวลิตนั่งควบอยู่อีกตำแหน่งจะเข้าไปควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
แม้ว่าในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาจะไม่สามารถทำอะไรไอเอ็นเอ็นได้ แต่ไม่ใช่กับรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ชวลิต
ที่คุมสื่อทั้งหมดในมือ
ในช่วงที่ผ่านมาไอเอ็นเอ็นได้รับจดหมายเตือนจากกองทัพอากาศต้นสังกัดให้ลดดีกรีความร้อนแรงในการนำเสนอข่าวลงหลายครั้งหลายครา
จนกระทั่งในวันที่ 26 พฤศจิกายน หลังจากต้องได้รับข่าวร้ายจากโครงการเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม
ที่ไอเอ็นเอ็นยื่นเสนอไปสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาที่ถูกล้มเลิกไป สนธิญาณก็ได้รับแจ้งข่าวร้ายซ้ำสองจากกองทัพอากาศในการไม่ต่อสัญญาในวันที่
26 พฤศจิกายน ก่อนหน้าหมดสัญญาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น เรียกว่าเป็นคำสั่งแบบฟ้าผ่าก็ว่าได้
"ท่านผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ให้เหตุผลกับเราว่ากองทัพอากาศมีความยินดีที่ได้ไอเอ็นเอ็นมาร่วมงานเป็นผู้เสนอข่าวและสาระ
แต่การนำเสนอข่าวของไอเอ็นเอ็นก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นกลาง ซึ่งไปกระทบกับกองทัพอากาศในฐานะของเจ้าของสถานี"
สนธิญาณเล่า
ว่ากันว่า ข่าวชิ้นสำคัญที่ทำให้ไอเอ็นเอ็นต้องหลุดจากคลื่น 102.5 คือ
การนำเสนอข่าวกรณีคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ หรือคุณหญิงหลุยส์มีส่วนเกี่ยวพันในการค้าอาวุธได้กลายเป็นจุดแตกหัก
ทำให้กองทัพอากาศตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้กับไอเอ็นเอ็นที่หมดลงในเดือนธันวาคม
2539 และดึงเอาเจ เอส แอล ผู้ผลิตรายการทีวีเข้ามารับช่วงต่อแทน
แน่นอนว่า สนธิญาณต้องวิ่งหาเวทีใหม่ให้กับไอเอ็นเอ็นอีกครั้ง
แต่ "โจทย์หิน" ของไอเอ็นเอ็นไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา ที่เกิดจากเหตุผลทางธุรกิจ
แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องของสัมปทานที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะควบคุม
เมื่อรัฐส่ายหัวประตู "โอกาส" ของไอเอ็นเอ็นต้องถูกปิดตาย เพราะคำสั่งเบื้องบนไม่ใช่แค่การไม่ต่อสัญญาแต่ยังรวมไปถึงการห้ามอนุมัติคลื่นวิทยุอื่นๆ
ให้กับไอเอ็นเอ็น
แหล่งข่าวในไอเอ็นเอ็น เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่ไอเอ็นเอ็นต้องหมดเงินไปถึง
10 ล้าน ในการวิ่งเต้นหาคลื่นวิทยุในสังกัดกองทัพสถานีหนึ่ง แต่คำตอบที่ได้ก็คือไม่มีที่ว่างให้กับไอเอ็นเอ็น
แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากอิทธิวัฒน์ พันธมิตรเก่าแก่ที่คว้าคลื่น 103.5
มาจากทูเดย์เรดิโอ ของอดีตส.ส.สาวพรรคพลังธรรม ศันศนีย์ นาคพงษ์ และยินดีจะให้ไอเอ็นเอ็นมาร่วมลงทุน
แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าจะต้องเจรจากับทางกองทัพให้ได้ก่อน
เหตุใดบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงถูกประตูปิดตายเช่นนี้ ความเป็นสำนักงานทรัพย์สินฯ
ขาดมนต์ขลังไปแล้วหรือ?
หากมองลึกลงไปกว่านั้น เป็นไปได้ว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ เองก็วิตกกับการนำเสนอข่าวของไอเอ็นเอ็นที่เน้นความแรงและได้ส่งผลกระทบให้กับองค์กรโดยรวม จึงต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายรื้อโครงสร้างองค์กรใหม่อยู่แล้ว เพราะสำนักงานทรัพย์สินฯ
ไม่ต้องการเพิ่มปัญหาเพราะในช่วง 1-2 ปีมานี้ บริษัทหลายแห่งที่สำนักงานฯ
ลงทุนไปมีปัญหาในเรื่องการลงทุน เช่น คริสเตียนี แอนด์ นีลเส็น และกลุ่มสยามทีวี
แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น
ปัญหาที่ไอเอ็นเอ็นต้องเผชิญอยู่ในเวลานี้คือพนักงาน 200 คน กับภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ
4-5 ล้านบาท
แม้ว่าไอเอ็นเอ็นยังมีคลื่น 96.5 เมกกะเฮิรตซ์ของอ.ส.ม.ท.เป็นคลื่นข่าวธุรกิจแต่ก็เป็นการร่วมทุนกับฟาติมาและหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
(BUSINESS RADIO) ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ไอเอ็นเอ็นจะเข้าไปแทนที่ในคลื่นดังกล่าว
เพราะเป็นการร่วมลงทุน 3 ฝ่าย และอ.ส.ม.ท.ก็มีคลื่น 105.5 เมกกะเฮิรตซ์ที่ทำเป็นคลื่นข่าวอยู่แล้ว
สิ่งที่ไอเอ็นเอ็นทำได้มากที่สุดในขณะนี้ก็คือนำรายการด้านธุรกิจที่เคยจัดอยู่ในคลื่น
102.5 มาลงในคลื่น 96.5 แต่ก็นำมาได้เพียงแค่ 3 รายการเท่านั้น ส่วนการผลิตข่าวต้นชั่วโมงนั้นอ.ส.ม.ท.มีข้อบังคับไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะต้องให้สำนักข่าวไทยของอ.ส.ม.ท.เป็นผู้ป้อนข่าวต้นชั่วโมงให้เท่านั้น
นอกจากนี้ไอเอ็นเอ็นยังมีการผลิตรายการข่าวต้นชั่วโมง และรายการข่าวสาร
5 ช่วง ป้อนให้กับศูนย์ผลิตรายการและข่าวของกรมตำรวจ (ศผข.) ผ่านเครือข่าย
44 สถานีของกรมตำรวจทั่วประเทศ รวมทั้งยังขายข้อมูลข่าวออนไลน์ทางคอมพิวเตอร์ป้อนให้กับบิสนิวส์
และพร็อพเพอตี้ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส
แต่ธุรกิจเหล่านี้เป็นส่วนที่ทำรายได้เสริมให้กับไอเอ็นเอ็นเท่านั้น ไม่ใช่รายได้หลักที่จะเลี้ยงตัวเองได้
สนธิญาณกล่าวว่า เงื่อนไขความอยู่รอดของไอเอ็นเอ็น คือจะต้องได้สถานีวิทยุใหม่ทั้งคลื่น
จึงจะสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ซึ่งหากไอเอ็นเอ็นไม่ได้คลื่นเขาก็จำเป็นต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบกับเรื่องที่เกิดขึ้น
รวมทั้งพนักงานบางส่วนก็อาจต้องออกไปด้วย
"ผมเองไม่ได้โกรธกองทัพอากาศเลยเพราะเป็นสิทธิของเขาและการที่ให้เวลากับไอเอ็นเอ็นมาถึง
2 ปีกว่า ก็เป็นบุญคุณมากแล้วที่ให้โอกาส หากจะแก้ก็ควรแก้ที่โครงสร้างในการบริหารวิทยุ
ควรให้เอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย หากยังไม่แก้จุดนั้นก็คงต้องเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก"
สนธิญาณเล่า
แม้จะไม่ใช่เงื่อนไขทางธุรกิจ แต่ความเปราะบางของสัมปทานก็ทำให้ไอเอ็นเอ็นต้องถูกปลดออกจากหน้าปัดได้ง่าย
น้ำตาของผู้สูญเสีย และรอยยิ้มของผู้ชนะ คงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับไอเอ็นเอ็น
และเจเอสแอลในเวลานี้
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเท่ากับเป็นการปิดฉากของคลื่นข่าว 24 ชั่วโมง และถูกแทนที่ด้วยคลื่นเพลงสากลซึ่งกำลังเป็นแนวรบด้านใหม่ที่มาแทนที่คลื่นข่าวในเวลานี้
วิทยุผู้จัดการตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
สำหรับโครงการวิทยุผู้จัดการที่ใช้เวลา 3 ปีเต็มกับการรังสรรค์คลื่น 97.5
เมกะเฮิรตซ์ของอ.ส.ม.ท.ให้เป็นคลื่นข่าวสารและสาระตลอด 24 ชั่วโมง
แต่ ณ วันนี้วิทยุผู้จัดการแปรสภาพจาก "สถานีข่าวและสาระ" มาเป็น
"สถานีเพลงผสมข่าว" ภายใต้หลักการที่ว่า "จำต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต"
วิทยุผู้จัดการ จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากทางธุรกิจในการทำ
"สถานีข่าว" อีกแห่งหนึ่งบนหน้าปัดวิทยุในยุคนี้ เมื่อคุณภาพกับรายได้เดินสวนทางกัน
รุ่งมณี เมฆโสภณ ผู้อำนวยการโครงการวิทยุผู้จัดการ ยอมรับว่าโครงการวิทยุผู้จัดการไม่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจ
ซึ่งมาจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก และการไม่สบความสำเร็จทางธุรกิจนี้เป็นสิ่งที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว
แต่รุ่งมณีก็ถือว่าโครงการวิทยุผู้จัดการประสบความสำเร็จตรงที่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้
การเข้าสู่ธุรกิจวิทยุของกลุ่มผู้จัดการก็เป็นเช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์รายอื่นๆ
ที่ต้องการมีช่องทางใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จาก "ข้อมูล" ที่มีอยู่ให้มากที่สุดและสื่อวิทยุก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถกระจายข่าวสารถึงผู้ฟังได้มากและสะดวกที่สุดทางหนึ่ง
กลุ่มผู้จัดการเข้าสู่สื่อวิทยุเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยการเข้าไปร่วมมือกับบริษัทยูไนเต็ด
คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรีส์ จำกัด (ยูคอม) ที่ได้สัมปทานเช่าคลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์มาจากอ.ส.ม.ท.และต้องการหาพันธมิตรทางด้านข่าวสาร
แต่ต่อมากลุ่มยูคอมถอนตัวออกไป กลุ่มผู้จัดการจึงเข้ามาเป็นคู่สัญญากับอ.ส.ม.ท.แทน
เพราะสัมปทานที่ได้รับเป็นปีต่อปี
กลุ่มผู้จัดการได้ดึงเอารุ่งมณี เมฆโสภณ ลูกหม้อเก่าแก่ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ที่บินไปหาประสบการณ์อยู่กับวิทยุบีบีซีที่กรุงลอนดอน
ประเทศอังกฤษ กลับมาบุกเบิกธุรกิจวิทยุให้กับกลุ่มผู้จัดการ
จากประสบการณ์ในบีบีซีทำให้รุ่งมณีต้องการยกระดับให้วิทยุผู้จัดการเป็นสถานีข่าวและสาระที่ดีที่สุด
แม้จะรู้ดีว่าสื่อวิทยุยังเป็นสัมปทานที่อยู่ภายใต้การควบคุม ของหน่วยงานรัฐ
มีความไม่แน่นอนสูงจนทำให้วิทยุหลายแห่งไม่กล้าพอที่จะลงทุนในเรื่องเหล่านี้
แต่ไม่ใช่สำหรับรุ่งมณีเพราะเธอเชื่อว่าหากจะทำแล้วต้องทำให้ดีที่สุด
ฟอร์แมทรายการวิทยุผู้จัดการที่ถูกจัดวางไว้ ไม่แตกต่างไปจากวิทยุบีบีซีของกรุงลอนดอนเท่าใดนัก
ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าวและรายการสาระแต่ละช่วงของวัน
แน่นอนว่า การเน้นมาตรฐานและคุณภาพ จำเป็นต้องทุ่มเททั้งในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือ
โดยเฉพาะทีมงานเพื่อใช้ในการผลิตข่าวและรายการเป็นของตัวเอง
ดังนั้นนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในเรื่องสถานีที่มีมากกว่า 50% แล้ว วิทยุผู้จัดการต้องทุ่มเงินทุนไปกับการสร้างทีมงานเป็นจำนวนมาก
"ถ้าพูดถึงความบ้าแล้ว ค่ายผู้จัดการของเราบ้ากว่าเพื่อน ในแง่ของการลงทุนหากไปดูของคลื่นวิทยุอื่นๆ
แล้ว เทียบกับของเราไม่ได้ ทำไมเราถึงต้องบุกเบิกทำวิทยุบนอินเตอร์เน็ต หรือให้ข้อมูลกับคนที่ขอมาฟรี
หรือลงทุนเรื่องบรอดคาสติ้ง เพราะเราต้องให้ถึงกลุ่มคนฟังมากที่สุด และให้ประโยชน์มากที่สุด"
รุ่งมณีกล่าว
นอกจากนี้ รุ่งมณีพยายามสร้างมิติใหม่ให้กับสถานีข่าวสาร ด้วยการเน้นความถูกต้องและเนื้อหาสาระของเนื้อหาสาระของเนื้อข่าวมากกว่าความโดดเด่นของผู้ดำเนินรายการ
หรือความเร็ว และความแรงดังเช่นคู่แข่งขันในตลาดทำกัน
ความเป็นกลาง และความแม่นยำของข้อมูลนั้น แม้จะมีข้อดีในเรื่องของคุณภาพและความถูกต้อง
แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดความล่าช้าและสีสันในการนำเสนอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ตอบสนองความต้องการของผู้เสพย์ข่าวชาวไทย
ที่มักนิยมบริโภคข่าวเร็วแรงและมีสีสัน
แต่ใช่ว่าวิทยุผู้จัดการจะไม่มีแฟนรายการ เพียงแต่การมีแฟนเพลงกับมีโฆษณานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เอเยนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง สะท้อนแนวคิดว่าแม้วิทยุผู้จัดการจะเป็นรายการดีมีคุณภาพ
แต่การเลือกลงโฆษณาของเอเยนซีจะต้องพิจารณาจากจำนวนผู้ฟัง หรือเจ้าของสินค้า
ซึ่งในแง่ของคลื่นข่าวแล้วคนฟังส่วนใหญ่มักจะนิยมคลื่นที่นำเสนอข่าวแรง หรือ
ความโดดเด่นของผู้ดำเนินรายการที่คุ้นหูกันดีเป็นหลัก
ในเวลาเดียวกันหากจะเปรียบเทียบในเรื่องของคลื่นข่าวแล้ว คนส่วนใหญ่ยังคงต้องการคลื่นเพลง
เพราะฟังได้ทั้งวันไม่ว่าจะทำงานหรือทำอะไร ในขณะที่คลื่นข่าวจะต้องตั้งใจฟัง
ช่วงไพร์มไทม์ของข่าวจะอยู่ในช่วงเช้าและช่วงเย็น ซึ่งผู้ลงโฆษณาก็จะต้องเลือกรายการที่มีคนนิยมมากกว่าคุณภาพ
เมื่อคุณภาพของรายการเดินสวนทางกับความต้องการของตลาด ผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจจึงออกมาเป็นศูนย์
เมื่อเงินลงทุนที่ลงไปไม่คุ้มกับรายได้
"กลไกตลาดของเรา ถูกกำหนดโดยรสนิยมของผู้บริโภคที่เสพย์ข่าวสารชั่วคราวเมื่อรสนิยมของผู้บริโภคที่เสพย์ข่าวสารของคนไทยยังเป็นแบบนี้
เอเยนซีเองก็ยังไม่ได้สนใจมาตรฐานหรือคุณภาพ เอาอย่างเดียวคือคนฟังมากถึงกลุ่มผู้ฟังมาก
ตัวนี้เป็นตัวตัดสินอย่างเดียว จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์คุณภาพหลายฉบับขายได้
เช่นเดียวกับวิทยุ หากทำให้หวือหวามีคนฟังก็ไม่มีปัญหาเรื่องรายได้ แต่จริงๆ
แล้วคุณภาพของคนฟังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง บอกได้เลยว่าคนฟังของเรามีคุณภาพระดับหนึ่ง"
รุ่งมณีเล่า
สามปีเต็มของวิทยุผู้จัดการ จึงเป็นบทเรียนอันมีค่าของรุ่งมณี เมื่อต้องเจอกับสัจธรรมที่ว่า
หากอยากได้ "กล่อง" ย่อมไม่ได้ "เงิน"
ในแต่ละเดือนวิทยุผู้จัดการต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ที่เป็นค่าเช่าสถานีเดือนละ
3 ล้านบาทเศษ ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในเรื่องทีมงานที่เป็นพนักงานประจำมากกว่า
50 คนและลูกจ้างชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) อีก 10 กว่าคนรวมแล้วต้นทุนตกเดือนละ
4-5 ล้านบาทในขณะที่รายได้จากโฆษณาเข้ามาเพียงเดือนละ 2 ล้านบาท
เมื่อธุรกิจเดินต่อไปไม่ไหว รุ่งมณีตัดสินใจหันมาทบทวนธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
และสิ่งที่รุ่งมณีเลือกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดเวลานำเสนอข่าวลงและหาพันธมิตรทางด้านเพลงเข้ามาร่วมดำเนินการ
รุ่งมณีมองว่า วิธีนี้จะทำให้วิทยุผู้จัดการยังคงมีเวทีที่สามารถ "ปักธง"
ได้ต่อไปโดยไม่ต้องปลดทีมงานที่มีอยู่เกือบ 70 คนออก ยกเว้นแต่บรรดาฟรีแลนซ์
10 กว่าคน และที่สำคัญจะสามารถลดค่าใช้จ่ายเพื่อล้างขาดทุนได้ทันที
วิทยุผู้จัดการยังเหลืออายุสัมปทานคลื่น 97.5 ที่ได้รับอนุมัติให้ต่ออายุจากอ.ส.ม.ท.เมื่อครั้งล่าสุดมีระยะเวลา
3 ปี ซึ่งจะหมดลงปลายปี 2541 ยังเหลือเวลาอีก 2 ปีเต็มและจึงไม่ใช่เรื่องยากในการหาพันธมิตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นวิทยุกำลังเป็นที่หมายปองจากทั้งรายเก่าและรายใหม่ในวงการ
"ตัวเลือก" ในมือของรุ่งมณีจึงมีมากกว่า 3 ราย
"ส่วนใหญ่ที่เสนอตัวเข้ามาต้องการเวลาทั้งหมด แต่เราให้ไม่ได้เพราะยังมีทีมงานที่ต้องดูแล
เราต้องเลือกเวลาไว้สำหรับข่าวด้วย" รุ่งมณีกล่าว
ข้อสรุปที่ได้จากการเปิดทางให้ทีมงานเก่าของสยามเรดิโอ เจ้าของคลื่นเพลงฝรั่ง
LOVE FM 94.5 นำโดยไชยยงค์ นนทสุทธิ์ อดีตผู้บริหารของสยามเรดิโอ ซึ่งแตกคอกับอิทธิวัฒน์
เพียรเลิศ และออกมาร่วมงานกันตั้งบริษัทวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่น พร้อมกับทีมการตลาด
และดีเจของสยามเรดิโอ คือ กุลพงศ์ บุนนาค, วาสนพงศ์ วิชัยยะ, โซเฟีย วงศ์สุรเดช
ว่ากันว่า การมาของวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่น นั้นมีบริษัท "ออนป้า"
บริษัทผลิตเทป ที่เทกโอเวอร์บริษัทคีตาเอ็นเตอร์เทนเม้นท์มาได้ไม่นานเป็นนายทุนหนุนหลังให้เพราะเวลานี้ไชยยงค์ก็เข้าไปนั่งบริหารในคีตาแล้ว
การร่วมมือในครั้งนี้ ส่งผลให้วิทยุผู้จัดการเหลือเวลาออกอากาศ 4 ชั่วโมงครึ่งคือ
ช่วงเช้า 6.00-09.00 น. และ 17.00-19.00 ส่วนเวลาที่เหลือเกือบ 20 ชั่วโมงจะเป็นเพลงฝรั่ง
ซึ่งวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่นเป็นผู้ผลิตรายการในชื่อโมเดิร์นเลิฟ
รวมทั้งในเรื่องของมาร์เก็ตติ้ง รุ่งมณีได้มอบหมายให้ทีมวิทยุสยามคอมมิวนิเคชั่นรับไปดำเนินการทั้งหมด
เธอยอมรับว่าจุดอ่อนอย่างหนึ่งของวิทยุผู้จัดการคือเรื่องการตลาด ดังนั้นเมื่อทีมใหม่ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจวิทยุมาเป็นอย่างดี
ก็น่าจะช่วยในเรื่องการทำตลาดให้กระเตื้องขึ้นได้
ที่สำคัญการแปรสภาพ คลื่น 97.5 จะแปรสภาพจาก "สถานีข่าว" ไปเป็น
"สถานีเพลงและข่าวสาร" ทำให้วิทยุผู้จัดการลดตัวเลขขาดทุนลงทันที
3 ล้านกว่าบาท เพราะค่าสถานีจะตกเป็นหน้าที่ของวิทยุสยามฯ
"วิธีนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเราหากเปรียบเทียบกับไอเอ็นเอ็นแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ยังนับว่าดีกว่าเพราะเรายังเลือกเวลาไพร์มไทม์เหลือที่ไว้ปักธง
มีที่ให้ทีมงานของเราได้ทำงานกันต่อ แต่ทุกอย่างจะออกมาสวยหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันต่อไป"
รุ่งมณียอมรับว่า วิทยุผู้จัดการจะไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ แต่ในแง่ของคุณภาพแล้ววิทยุผู้จัดการบรรลุเป้าหมายที่วางไว้
เพราะปัญหาที่แท้จริงคือการเป็นสื่อไม่เสรียังถูกควบคุมโดยรัฐบาล จนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าจะแบกรับได้ในยามนี้
"ต้นทุนครึ่งหนึ่งถูกใช้ไปกับค่าเช่าสถานีถ้าเราไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานี
เราสามารถทำรายการวิทยุผู้จัดการแบบที่ทำมาได้เลย 2-3 สถานี" รุ่งมณีกล่าว
ตราบใดที่สื่อวิทยุยังเป็นสัมปทานการทำ "สถานีข่าว 24 ชั่วโมง"
ในเชิงธุรกิจแล้วจะยากลำบากมาก ยกเว้นการทำในลักษณะเดียวกับมูลนิธิ โดยหน่วยงานรัฐจะต้องมาร่วมมือกับเอกชน
ด้วยเหตุนี้คลื่น 97.5 จึงต้องกลายเป็นคลื่นเพลงผสมข่าวแล้ว เมื่อไม่อาจทวนกระแสของธุรกิจสื่อวิทยุได้
ไม่เป็นเจ้าของคลื่นคาถาวิเศษของเนชั่น
สำหรับวิทยุเนชั่นแล้ว ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในสถานีข่าวที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ยุคแรกๆ
และประสบความสำเร็จที่สุดสถานีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นมาเพราะความบังเอิญของ สุทธิชัย
หยุ่น รายงานข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซีย จนกระทั่ง "สื่อวิทยุ" ได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจมัลติมีเดียของกลุ่มเนชั่นไปแล้ว
วิทยุเนชั่นมีรายการข่าวในคลื่นวิทยุถึง 5 สถานี รายการพูดจาภาษาข่าว และข่าวต้นชั่วโมงในคลื่น
FM.89 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นข่าวธุรกิจในคลื่น FM.90.0 เมกะเฮิรตซ์, ข่าวธุรกิจคลื่น
FM.90.5 เมกะเฮิรตซ์, นิวส์แอนด์มิวสิคสเตชั่น FM.97.0 เมกะเฮิรตซ์และเจาะลึกทั่วไทยในคลื่น
AM.1107 เมกะเฮิรตซ์
ความโดดเด่นของเนชั่นอยู่ที่ผู้ดำเนินรายการ และการผลิตข่าวในลักษณะของ
"TALK SHOW" คือการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญๆ นับเป็นจุดขายที่ทำให้วิทยุเนชั่นได้รับความนิยมจากผู้ฟัง
นอกจากนี้ในแง่ของการผลิตข่าวนั้นเนื่องจากเนชั่นมีสื่อในมือแบบครบวงจร
คือ สิ่งพิมพ์ วิทยุ และทีวี เนชั่นจึงใช้วิธีการสร้างเป็นศูนย์ข่าวเนชั่น
เพื่อเชื่อมสื่อทั้งหมดในมือ คือ สิ่งพิมพ์ ทีวี และวิทยุเข้าด้วยกัน เพื่อผ่องถ่ายซอฟต์แวร์ข่าวสารร่วมกัน
ดังนั้นหากใครพลาดรายการเนชั่นนิวส์ทอล์คที่จัดอยู่ที่ไอทีวี ก็จะสามารถฟังได้จากคลื่นวิทยุ
ซึ่งวิธีนี้จะประหยัดต้นทุนในการผลิตข่าว เพราะต้นทุนในการผลิตข่าวนั้นสูงกว่าต้นทุนในเรื่องเพลงมากนัก
แม้จะประสบความสำเร็จทางธุรกิจ แต่ทุกวันนี้เนชั่นกลับไม่ได้มีสัมปทาน
"สื่อวิทยุ" อยู่ในมือแม้แต่คลื่นเดียว แต่ดำรงตนเป็นเพียง "โปรดักชั่นเฮาส์"
ผลิตรายการข่าวป้อนให้กับคลื่นต่างๆ เท่านั้น
"เราจะไม่เป็นคู่สัญญากับวิทยุของรัฐบาล เราเคยแล้วแต่เราไม่ได้ ที่สำคัญเราไม่มีประสบการณ์ในเรื่องประมูลไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีการประมูล
อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนคนเหมือนกับคลื่น 97.0 ที่อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนเจ้าของสัมปทานใหม่"
สุทธิชัย หยุ่น ชี้แจงเหตุผล ซึ่งหลายคนคงไม่เชื่อ
ลึกไปกว่านั้นที่สุทธิชัยไม่ได้ประมูลคลื่นในที่นี้ คือปัญหาในเรื่อง "ความเสี่ยง"
ของการเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุที่มีความเปราะบางมาก ซึ่งเนชั่นก็เคยประสบมาแล้วกับคลื่น
96.0 ที่เป็นคลื่นของกองทัพที่เนชั่นต้องถูกยกเลิกสัญญาแบบไม่ทันตั้งตัวจนกลายเป็นเรื่องราวมาแล้วพักหนึ่ง
จากบทเรียนในครั้งนั้นทำให้เนชั่นรู้ดีว่า ความเปราะบางของสัมปทานวิทยุนั้นสร้างความเสี่ยงทางธุรกิจให้กับวิทยุมาก
เพราะไม่คุ้มกับการที่ต้องลงทุน แล้วไม่รู้ว่าจะถูกยึดพื้นที่ทำกินไปเมื่อใด
สู้เป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้กับคลื่นวิทยุต่างๆ จะดีกว่า
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่ออายุสัมปทานคลื่น 97.0 ของกรมประชาสัมพันธ์ที่บริษัทสตูดิโอ
107 ของจันทรา ชัยนาม เป็นผู้รับสัมปทานหมดลงเมื่อ 31 ธันวาคม 2539 และดร.วีณา
เชิดบุญชาติ เป็นผู้ได้รับสัมปทานต่อเป็นเวลา 6 ปี จะมีเนชั่นเป็นตัวประสานให้
เนชั่นนั้นเรียกได้ว่าเกิดมาจากคลื่น 97.0 ในการเข้าไปผลิตข่าวให้กับสตูดิโอ
107 ที่ได้สัมปทาน 97.0 มาแต่ต้องประสบปัญหาทางด้านธุรกิจ จึงขายเวลาให้กลุ่มเนชั่นมาผลิตข่าวจนสร้างชื่อขึ้นมาได้
ขณะเดียวกันเมื่อคลื่น 97.0 เปลี่ยนมาอยู่ในมือของดร.วีณา ภายใต้คอนเซปต์
"นิวส์ & มิวสิค สเตชั่น" เนชั่นก็ยังเป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้
แต่ทวีบทบาทมากขึ้นนอกเหนือจากได้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 6 ชั่วโมงในการผลิตข่าวเช้า
เย็น กลางคืน เพิ่มเป็น 10 ชั่วโมงในช่วงกลางวันติดต่อกัน ซึ่งทำให้เนชั่นคล่องตัวมากขึ้น
และยังได้ทำการตลาดร่วมได้ด้วย เพราะตัวดร.วีณา นั้นยังถือว่าเป็นมือใหม่ในธุรกิจวิทยุ
ยังต้องอาศัยชื่อเสียงจากลุ่มเนชั่นที่ทำไว้
แม้จะไม่มีสัมปทานคลื่นวิทยุในมือแต่ดำรงตนเป็นผู้ผลิตเพียงอย่างเดียวก็อาจเป็นวิถีทางที่ถูกต้องทางธุรกิจของสถานีข่าวดังเช่นที่เนชั่นทำอยู่ในเวลานี้
สุทธิชัยยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคลื่นข่าวสารในเวลานี้ไม่ได้เป็นเพราะความต้องการของผู้ฟังไม่มี
แต่มาจากความไม่แน่นอนในตัวกติกาของรัฐบาลที่ควบคุมสื่อ ซึ่งทำให้คนทำธุรกิจวิทยุเกิดความลำบาก
เพราะไม่เพียงแต่ไอเอ็นเอ็นหรือเนชั่นเท่านั้น ก่อนหน้านี้ "คู่แข่งธุรกิจ"
เองก็เคยถูกมีเดีย พลัสช่วงชิงคลื่น FM.101 มาแล้ว และจนบัดนี้ "คู่แข่งธุรกิจ"
ไม่เคยดำรงตนเป็นเจ้าของสัมปทานคลื่นวิทยุใดอีกเพียงแต่ผลิตรายการข่าวป้อนให้วิทยุบางคลื่นเท่านั้น
สุทธิชัยยังเชื่อด้วยว่า สูตรผสมที่ลงตัวที่สุดของคลื่นวิทยุ คือ คลื่นเพลงผสมข่าว
คลื่นข่าว 24 ชั่วโมงคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
มีเดียพลัสคลื่นข่าวทำได้แต่ต้องเงินถึง
สำหรับมีเดียพลัส หนึ่งในบิ๊กโฟร์ของวงการวิทยุที่มีคลื่นในมือมากที่สุดแห่งหนึ่ง
และเป็นผู้หนึ่งที่จุดพลุให้กับธุรกิจวิทยุ จากรายย่อยไปสู่มืออาชีพ "คลื่นข่าว"
เป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่ทำรายได้หลักให้กับกลุ่ม
แม้จะเติบโตมาจาก "คลื่นเพลง" แต่มีเดียพลัสก็เล็งเห็นว่า คลื่นข่าวเป็นอีกเซกเมนต์หนึ่งที่มีการเติบโตไม่แพ้กัน
ซึ่งปัจจุบันมีเดียพลัสก็เป็นบริษัทลูกของวัฏจักรมีฐานข้อมูลจากธุรกิจสิ่งพิมพ์และทีวีอยู่แล้วการขยายเข้าสู่คลื่นข่าวจึงไม่ใช่เรื่องยาก
ปัจจุบันมีเดียพลัส นำคลื่น FM.101 ที่ช่วงชิงมาจาก "คู่แข่ง"
มาทำเป็นคลื่นข่าวและให้สำนักข่าวไทยสกายนิวส์เป็นผู้ผลิตข่าวป้อนให้ ซึ่งไทยสกายนิวส์เองก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข่าวป้อนให้กับสื่อต่างๆ
อยู่แล้ว
ท่ามกลางการแข่งขันของคลื่นข่าว มีเดียพลัสสร้างจุดขายให้กับคลื่น 101
เมกะเฮิรตซ์ ด้วยการทำเป็นเน็ตเวิร์คถ่ายทอดสัญญาณไปยังสถานีเครือข่าย 40
กว่าสถานีทั่วประเทศ และเน้นการนำเสนอข่าวสารทางด้านการเงิน และตลาดหลักทรัพย์
มีเดียพลัสก็อาศัยจุดขายทางด้าน "เน็ตเวิร์ค" ขึ้นค่าโฆษณาจากสปอตละ
2,000 บาทเป็น 5,000 บาท กลายเป็นคลื่นข่าวที่มีราคาโฆษณาสูงที่สุดในขณะนี้
ขณะเดียวกันมีเดียพลัสก็มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ จส.100 คลื่นข่าวจราจร
ของศูนย์ข่าวแปซิฟิก ที่สามารถยึดครองใจทั้งคนฟังและยอดโฆษณา เพราะความรู้สึกร่วมที่มีต่อปัญหาการจราจรมีเดียพลัสจึงปรับคลื่น
FM.96.0 จากคลื่นเพลงฝรั่งสไตล์อัลเทอร์เนทีฟให้เป็นคลื่นข่าวเพื่อสังคม
เพื่อหวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทางด้านของคลื่นข่าว
"สิ่งที่เรามองเห็น คือ กลุ่มของคลื่นข่าวที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก
มูลค่ารวมของคลื่นข่าวในเวลานี้มีถึง 800-900 ล้านบาทเราจึงเอาคลื่น FM.96.0
มาทำเป็นคลื่นสังคมสำหรับตอบสนองความต้องการคนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนคลื่นนิวส์แอนด์ทอล์ก
101 จะรองรับกับคนในต่างจังหวัด" ยงยุทธชี้แจง
กระนั้นก็ตาม ยงยุทธ ฟูพงศ์ศิริพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่าการทำคลื่นข่าวนั้นยากลำบากกว่าคลื่นเพลงมาก
ต้องมีฐานสนับสนุนที่ดีทั้งในเรื่องของกำลังคนและเงินทุน เพราะต้นทุนในการผลิตข่าวสูงมากไม่เหมือนคลื่นเพลง
"การทำคลื่นข่าวไม่ง่ายเหมือนคลื่นเพลง ที่ไม่ต้องลงทุนเรื่องซอฟแวร์
แต่คลื่นข่าวไม่ใช่ ต้องมีการผลิต ดังนั้นใครไม่มีฐานข้อมูล และเงินสนับสนุนคงลำบากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนในเรื่องค่าเช่าสถานีที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล"
"โดยปรกติแล้วการทำคลื่นวิทยุปีแรกจะขาดทุน เพราะถือว่าเป็นช่วงทดลองหรือปรับเปลี่ยนพอมาปีที่
2 จะเริ่มเลี้ยงตัวเองได้ปีที่ 3 จะต้องกำไร หากไม่มีกำไรก็เลิกได้เลย"
ยงยุทธสะท้อนแนวคิด
4 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นบทพิสูจน์อย่างหนึ่งของแนวรบทางด้าน "คลื่นข่าว"
ว่าจะสามารถอยู่รอดในสถานการณ์ที่ "คลื่น" มีราคาแพงขึ้นทุกวัน
และความเปราะบางของสัมปทาน และเงินลงทุนที่ใช้ในการผลิตข่าว จะทำให้ "สถานีข่าว
24 ชั่วโมง" เริ่มหายไปจากหน้าปัดวิทยุ กลายเป็นคลื่นเพลงที่เข้ามาแทนที่
ก็ไม่แน่ว่า หลังจากไอเอ็นเอ็นต้องหลุดออกจากแผงหน้าปัด และการถอยหลังเพื่อตั้งต้นใหม่ของวิทยุผู้จัดการ
จะมีคลื่นข่าวใดถอยตามมาบ้าง เพราะปีนี้อาจกลายเป็นปีทองของ "คลื่นเพลง"
ไปแล้ว?!