อภิสิทธิ์ งามอัจฉริยะกุล อยู่ในวงการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลา
15 ปี จากการทำโครงการเพื่อกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ปานกลาง
ชื่อเสียงของอภิสิทธิ์เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการนักพัฒนาที่ดินจากการที่เขาสามารถขายบ้านได้ในปริมาณเท่าๆ
กับบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ๆ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หรืออาจจะขายได้ในปริมาณที่มากกว่าในบางปี
สาเหตุนี้ทำให้หลายฝ่ายเริ่มจับตาการบริหารของกลุ่มเค.ซี. ซึ่งมีอภิสิทธิ์
เป็นหัวเรือใหญ่ว่ามีที่มาอย่างไร
"ผมทำธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมา 15 ปี ไม่เคยมีเรื่องร้องเรียนจากลูกบ้านหรือผู้เกี่ยวข้องในวงการ ที่เคยเป็นข่าวก็เป็นเพียงการเข้าใจผิดในเรื่องเล็กน้อยเกี่ยวกับการโฆษณากับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค
ซึ่งเราก็แก้ไขในทันที" อภิสิทธิ์ เปิดฉากเล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟัง พร้อมทั้งเผยเคล็ดลับว่า
"การทำธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จจะต้องมีทั้งวิชาการและประสบการณ์
และสำหรับผมการจะทำอะไรก็มีหลักง่ายๆ ว่า ลองมองอุปสรรคเรื่องสำคัญๆ ดูก่อน
ถ้าแก้ได้ก็ลงมือทำ ถ้าแก้ไม่ได้ ไม่ทำ"
ก่อนหน้าที่อภิสิทธิ์จะประสบความสำเร็จในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชีวิตเขาไม่ได้มีหนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ
อภิสิทธิ์ จบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 เริ่มต้นการทำงานครั้งแรกเมื่ออายุ
14 ปี ด้วยการเป็นนายหน้าขายไม้อัด
"ขายไม้อัดแค่ 2 เดือน ผมก็ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ได้ ราคา 7,200 บาท พออายุ
20 ก็ต้องรวมเงินไปเสียทหาร จากนั้นพออายุ 21 ปี ก็เลยไปตั้งร้านรวมชัยไม้อัด
ที่หลังวัดสระเกศ เป็นเถ้าแก่เองแล้วยึดหลักการทำงานง่ายๆ คือซื่อสัตย์ บริการดี
ลูกค้าสั่งสินค้าเกรดไหนได้เกรดนั้น" อภิสิทธิ์กล่าว
จากการทำงานที่ซื่อตรง และบริการส่งไม้อัดถึงที่ ทำให้รวมชัยไม้อัดสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดของไม้อัดได้ถึง
35% ของไม้อัดที่จำหน่ายทั่วประเทศในเวลานี้
"ก่อนจะได้เป็นเอเยนต์ท็อป 5 ของประเทศ เราก็เจอปัญหามามาก แต่ก็อดทน
จนลูกค้าเชื่อและไว้ใจ ปัญหาที่เจอก็คือการถูกขโมยลูกค้า เพราะเราไม่มีโรงงานและรถส่งของในตอนแรก
ก็ต้องจ้างเขาไปส่งให้ลูกค้า พอลูกค้าเห็นก็กลับไปติดต่อกับคนอื่นแทนที่จะมาติดต่อกับเราอย่างเดิม
เพราะคิดว่าได้สินค้าเหมือนกัน เราก็ไม่ว่าอะไร" อภิสิทธิ์เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ผ่านมาในช่วงขายไม้อัด
แต่ถึงวันนี้ภายหลังจากที่อภิสิทธิ์เบนเข็มไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะทำธุรกิจไม้อัดอยู่ตัว
จนต้องการหามูลค่าเพิ่มจากวัสดุก่อสร้างแล้วนั้น เขาก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการนี้อยู่เช่นเดิม
แต่ยกให้น้องชายและน้องสะใภ้เป็นผู้ดูแล พร้อมกับย้ายร้านไปอยู่ที่วงศ์สว่าง
อภิสิทธิ์ เริ่มพัฒนาโครงการแรกๆ บริเวณบางกะปิ แล้วให้ชื่อว่าคลองจั่นวิลล่า
ก่อนจะมาเปลี่ยนเป็นเค.ซี.ในตอนหลังซึ่งก็เป็นคำย่อมาจากคำว่าคลองจั่นนั่นเอง
ปัจจุบันเค.ซี.คือเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือกลุ่มเสนานิเวศน์
และเอ็นซีเฮาส์ซิ่ง
ปี 2538 เค.ซี.ใช้เงิน 2,500 ล้านบาท ซื้อที่ประมาณ 1,500 กว่าไร่ ปี 2539
ลดเหลือเพียง 700 ล้านบาท แล้วซื้อที่เพิ่มอีก 400 ไร่ โดยซื้ออยู่ในโซนตะวันออกเฉียงเหนือเพียงโซนเดียว
สำหรับเรื่องซื้อที่ดิน อภิสิทธิ์กล่าวว่า ยากกว่าทำโครงการ เพราะการซื้อที่ต้องการฐานข้อมูล
โดยดูจากพื้นที่ในบริเวณเดียวกัน ต้องไม่ซื้อแพงกว่ารายอื่น เพราะถ้าซื้อที่แพง
การทำงานก็จะเหนื่อยมากขึ้น การซื้อที่ต้องดูเป็นย่านๆ อย่างบางกะปิเจ้าของส่วนมากจะเป็นอิสลาม
เราต้องหาสื่อคนซื้อที่เป็นอิสลามเหมือนๆ กัน เพื่อติดต่อกับเจ้าของที่
บางครั้งซื้อได้เร็วมาก บางครั้งก็ต้องใช้วิธีเฝ้ากันเป็นเดือนรอจังหวะที่เจ้าของอยากขาย
จะขายเมื่อไรให้คนส่งข่าว แต่ต้องไม่ให้เจ้าของรู้ว่าเราเฝ้าอยู่ หรือบางรายเริ่มตั้งราคาสูง
ก็หาคนเข้าไปต่อ หาจังหวะสำคัญๆ เช่น พอเราเข้าไปเป็นคนที่สิบแล้วให้ราคาเพิ่มจากคนแรกๆ
ที่ไปต่อราคา
ส่วนที่รามอินทราส่วนใหญ่ที่ซื้อ เจ้าของส่วนใหญ่จะเป็นมอญ รับราชการระดับสูง
มีพื้นที่ติดกันเป็นเครือญาติ ก็จะต้องจำกัดนายหน้าว่าจะต้องเป็นที่เข้ากับเครือญาติได้
15 ปี ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้อภิสิทธิ์รู้ลึกถึงการคำนวณต้นทุนจากทุกขั้นตอนการทำงานบ้านจัดสรร
เช่น เรื่องข้อกำหนดจัดสรร การไม่สามารถสร้างสวนสาธารณะบริเวณใต้ไฟฟ้าแรงสูง
จะทำให้ต้นทุนแพงขึ้นอีก 7%
การออกกฎควบคุมห้ามเจาะบ่อบาดาลในเขตพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ
แล้วโครงการต้องทำเรื่องขอต่อประปาผ่านมา จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นไปเฉลี่ยกับผู้บริโภคอีก
5 แสน ก็จะถูกนำไปคำนวณรวมกับราคาบ้าน ซึ่งการขึ้นราคาจะมาจากราคาที่ดินและการคำนวณต้นทุนให้สมดุลกับการผลิต
แต่สำหรับปัญหาบ่อบาดาล แม้กรมทรัพยากรธรณีจะประกาศห้ามเจาะในปี 2540 นี้
ทางเค.ซี.ก็หาวิธีป้องกันด้วยการขอเจาะบ่อบาดาลไว้แล้วทุกโครงการ แต่ถ้ากรมทรัพย์ประกาศห้ามใช้จริงๆ
ทางเค.ซี.ก็จะนำบ่อบาดาลที่ขอเจาะไว้มาคิดคำนวณราคาบ้านเช่นกัน
ต้นทุนของผู้ประกอบการที่เกิดจากการขออนุญาตจัดสรรซึ่งต้องขอหลายที่หลายเรื่อง
ถ้ารัฐบาลสามารถทำให้เป็นบริการจุดเดียวครบวงจรก็จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้อย่างน้อย
5-7% ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้บริโภคด้วยอีกต่อหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ที่รัฐบาลทำ
ให้ความเห็นของอภิสิทธิ์คิดว่า เป็นเพียง "เจตนาดีแต่ทำลายผู้บริโภค"
เท่านั้น
ในช่วงปี 2539 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง
แต่เค.ซี.กลับยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคาร ทำให้เป็นที่ฮือฮาพอควร เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในปีที่ผ่านมา
แบงก์ส่วนใหญ่มีนโยบายจำกัดการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
"ธนาคารที่เราติดต่ออยู่ ก็มาเสนอให้ไปช่วยเทกโอเวอร์โครงการโน้น
โครงการนี้ แต่เราไม่รับพิจารณา เพราะการทำโครงการจะต้องมีคอนเซ็ปต์ ทำเล
ถ้าราคาผิด สินค้าผิด จะผิดไปไกลเป็นรางรถไฟ จะกลับลำลำบาก ก็เลยไม่เอา"
อภิสิทธิ์กล่าว
อีกปัญหาก็คือ โครงการที่ขอเงินสนับสนุนจากธนาคารหรือไฟแนนซ์ต่างๆ ถ้าไม่สามารถเอาตัวรอดได้
ก็ยังไม่คิดจะยอมขาดทุน ทั้งที่แบงก์ส่วนใหญ่จะหาคนมาช่วย แต่ลูกค้ากลับไม่ยอมให้ความร่วมมือ
เพราะถ้าแบงก์ยึดแบงก์ก็ขาดทุน ลูกค้าก็ขาดทุน ไม่มีใครได้ ทางที่ดีลูกค้าควรจะยอมให้ความร่วมมือกับแบงก์ในการปรับราคาแล้วยอมขาดทุนเล็กน้อยหากมีใครยอมเทกโอเวอร์จะดีกว่า
การที่อภิสิทธิ์ไม่สนใจเทกโอเวอร์ เพราะมีเป้าหมายในโครงการที่ทำ ด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
เพิ่มความหลากหลาย อาทิ การขายบ้านในระดับราคาสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบบ้าน
ซึ่งจะมีประมาณ 5 แบบ และการสร้างชื่อเสียงความเชื่อมั่นให้ลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านเพื่อมั่นใจในชื่อเค.ซี.
"การพัฒนาการเปิดโครงการของเค.ซี.ไม่เคยมีพิธีเปิดตัวยิ่งใหญ่ เพียงแต่ไหว้เจ้าที่จีนในบ้านหรือที่เรียกว่าตี่จู่เอี้ย
ไม่เคยดูฮวงจุ้ย แต่ยึดหลักสุภาษิตจีนคือมีคุณธรรมและจริยธรรมเพราะผมเชื่อว่าที่ลูกค้าซื้อบ้านของเค.ซี.เพราะเราไม่เคยโกง"
อภิสิทธิ์ กล่าว
สถิติการขายบ้านของเค.ซี. ปี 2537 จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 500 ยูนิต มียอดจำหน่าย
1,800 ยูนิต ปี 2538 ตั้งไว้ 1,200 ยูนิต ขายได้ 2,000 ยูนิต และล่าสูดปี
2539 ตั้งไว้ 1,000 ยูนิต ขายได้ 1,800 ยูนิต มีมูลค่า 1,800 ล้านบาท รวมสินค้าอื่น
ได้แก่ บ้านเดี่ยว 300 ยูนิต มูลค่า 540 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 350 ยูนิต
มูลค่า 122.5 ล้านบาท ที่ดินเปล่า 200 แปลง มูลค่า 100 ล้านบาท และอาคารพาณิชย์
30 ยูนิต มูลค่า 90 ล้านบาท
รวมรายได้ปี 2539 เค.ซี.มีรายได้รวมประมาณกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับหลายๆ
บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพบว่าเป็นตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเป็นไปได้สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจเดียวกัน
สาเหตุจะเป็นเพราะอะไร คงต้องคิดกันดูว่าจริงแท้แล้วเป็นเพราะเศรษฐกิจที่ว่าแย่
หรือความสามารถในการบริหารงานผู้ประกอบการแต่ละแห่ง