พหลโยธิน พาร์ค งานใหม่ที่ท้าทายของพนิดา


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ย่างเข้าปีวัว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสดใสขึ้น ตลาดบ้านและที่อยู่อาศัยยังคงซบเซา และปีนี้ พนิดา เทพกาญจนา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท อัมรินทร์พลาซ่า จำกัด (มหาชน) ต้องรับศึกหนักกับโครงการพหลโยธินพาร์คซึ่งเป็นการขายโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบโครงการแรกของเครืออัมรินทร์พลาซ่า

ทำไมเครืออัมรินทร์ต้องมาสร้างบ้านและคอนโดมิเนียมขายในช่วงที่มีการแข่งขันกันสูง เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัย เพราะที่ผานมานอกจากธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทแล้ว บริษัทยังขยายงานไปทางด้านโรงแรม ศูนย์การค้าและอาคารสำนักงานเช่น โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณอัมรินทร์ทาวเออร์ แกรนด์อัมรินทร์ทาวเออร์ เพลินจิตเซ็นเตอร์ ซึ่งธุรกิจพวกนั้นถูกผลกระทบที่ไม่รุนแรงนัก

"ที่จริงแล้วทางเราสนใจในการทำที่อยู่อาศัยมาตลอดแต่หาที่ดินที่มีศักยภาพยากที่ได้มา ก็มักมีพื้นที่ไม่มากแล้วอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งทำจัดสรรยากก็เลยต้องทำเป็นศูนย์การค้าหรือโรงแรมไป จนกระทั่งมาได้ที่ดินแปลงนี้"

พนิดา เล่าถึงที่มาของโครงการ พหลโยธินพาร์ค ที่ดินแปลงที่ว่ากว้างใหญ่ถึง 21 ไร่ ในซอยพหลโยธิน 14 ซึ่งคุณยายน้ำทอง เจ้าของที่ดินรายใหญ่เก่าแก่รายหนึ่ง เพิ่งตัดสินใจขายให้กับบริษัทเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี่เอง และเมื่อได้ที่ดินแปลงนี้มาทางบริษัทก็ลงมือวาดฝันทำโครงการที่อยู่อาศัยทันที โดยแบ่งเป็นพื้นที่ของโครงการบ้านเดี่ยว 13 ไร่ ในส่วนของคอนโดมิเนียมประมาณ 7 ไร่กว่า โดยในส่วนของบ้านเดี่ยวนั้น ได้เปิดโครงการขายตั้งแต่ต้นปี 2539 ส่วนคอนโดมิเนียมนั้นเปิดขายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

แม้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดทางด้านที่อยู่อาศัยจะยังคงค่อนข้างซบเซา แต่กลุ่มอัมรินทร์ ก็ตัดสินใจที่จะทำโครงการออกมาแข่งขันในตลาดด้วยความมั่นใจในเหตุผลสำคัญหลักๆ คือ มั่นใจว่าคนส่วนใหญ่ยังต้องการที่อยู่อาศัยในลักษณะของบ้านเดี่ยวในเมือง เพื่อความลงตัวของการอยู่อาศัยและการทำงาน แต่หาซื้อไม่ได้เพราะที่ดินแปลงใหญ่หายาก และราคาค่อนข้างสูง จึงไม่มีใครพัฒนาขาย โครงการบ้านเดี่ยวส่วนใหญ่จึงอยู่ไกลออกไปถึงชานเมือง ซึ่งสร้างปัญหาในการเดินทางให้กับลูกค้า

เมื่อได้ที่ดินมาแล้วก็เพิ่มจุดเด่นของโครงการอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีพื้นที่เปิดโล่งถึง 65% โดยใช้แนวคิดในการออกแบบที่ว่าสร้างสวนก่อนถึงจะเอาบ้านใส่เข้าไปทำให้ไม่มีความแออัด เมื่อส่วนใหญ่ของพื้นที่เป็นสีเขียวบ้านเดี่ยวของโครงการนี้จึงมีเพียง 40 หลังเท่านั้น ในพื้นที่เริ่มจาก 71-140 ตารางวาราคา เริ่มตั้งแต่ 17 ล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตามเพื่อตอบสนองความต้องการที่อยู่อาศัยในเมือง ทางกลุ่มจึงกำหนดให้มีคอนโดมิเนียมด้วยแต่เป็นโครงการคอนโดฯ 4 อาคารสูงเพียง 7 ชั้นๆ ละ 8 ยูนิต โดยมีขนาดห้องตั้งแต่ 88 ตารางเมตร ถึง 105 ตารางเมตร ราคาเริ่มที่ 3.5 ล้านบาท

พนิดาอาจจะตัดสินใจถูกที่เปิดคอนโดฯ ระดับราคาปานกลางขึ้นมารองรับโครงการนี้เพราะการขายอาจจะง่ายกว่าการขายบ้านราคาแพงเพียงอย่างเดียว

และทั้งหมดคือความมั่นใจที่ว่าเมื่อทางบริษัทได้วางตำแหน่งสินค้าชัดเจน มีจุดขายที่โดดเด่น ถึงแม้ว่าภาวะโดยรวมของธุรกิจประเภทนี้จะไม่ดีนักแต่ก็มั่นใจว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ

บนถนนพหลโยธิน เป็นถนนเส้นหนึ่งที่ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นถนนเส้นที่มีเครือข่ายของระบบขนส่งมวลชนหลายโครงการ เช่น ทางขึ้นลงเส้นทางด่วน ระบบรถไฟฟ้า และที่สำคัญ โครงการสถานีขนส่งกรุงเทพ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ตรงสถานีขนส่งหมอชิตเดิมให้ทันสมัยเต็มรูปแบบ กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี 2542 ก็จะยิ่งเพิ่มความเจริญให้กับย่านนี้

แน่นอนวันนี้เครืออัมรินทร์พลาซ่าต้องเจอกับคู่แข่งบนถนนสายเดียวกัน ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นบริษัทที่ช่ำชองทางด้านที่อยู่อาศัยมาหลายโครงการเช่น แนเชอรัลสวีทของกลุ่มแนเชอรัลปาร์ค ศุภาลัยปาร์ค ของบริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บางกอกโดม ของกลุ่มยูนิเวสแลนด์ เพียงแต่ว่ารูปแบบในโครงการอาจจะต่างกัน เพราะโครงการเหล่านั้นเป็นโครงการที่อยู่อาศัยในตึกสูงที่มีจำนวนยูนิตค่อนข้างสูง แต่แน่นอนว่าจะมีจุดเด่นตรงราคาจะต่ำกว่าพหลโยธินพาร์ค

เครืออัมรินทร์พลาซ่ากรุ๊ปเป็นการรวมตัวผนึกกำลังกันระหว่างตระกูลว่องกุศลกิจและตระกูลวัธนเวคิน ปัจจุบันโครงสร้างใหม่ของบริษัทเมื่อปรับแล้วจะแบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ส่วนผลประกอบการในปี 2539 งวด 9 เดือน พบว่าเครืออัมรินทร์มีรายได้ 1,239 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 1,125 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 77 ล้านบาท



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.