The Key to The South : Britain, the United States, and Thailand during the Approach ofthe Pacific War, 1929-1942


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

หนังสือเล่มนี้ซื้อจากเอเชียบุ๊คส์ ราคาเกือบ 800 บาท แต่มีค่าอย่างยิ่งไม่ใช่เพราะเกี่ยวพันกับบทบาทของอังกฤษและอเมริกาช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มีค่าด้วยเอกสารหายากที่ผู้เขียนเก็บรวบ รวมเป็นเอกสารติดต่อและจำนวนมากถือเป็นเอกสารชั้นต้นกระจัดกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยและอยู่ในกระทรวงสำคัญๆ ของทั้งสองประเทศ

วิธีการนำเสนอข้อมูลตามข้อเท็จจริงนั้น ใช้เอกสารเพื่อนำทางให้เห็นความจริงของสถานการณ์ และเน้นด้านหลักไปในนโยบายของอังกฤษกับอเมริกา ที่มีต่อ "ประเทศไทย" จากแง่มุมลึกที่สุด

ประเทศไทยมีความสำคัญจากมุมมองของอังกฤษตรงที่ผลประโยชน์แห่งชาติเกี่ยวโยงกับ "ฐานะ" ของไทยในส่วนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านมาเลเซีย, พม่า และอินเดีย ที่อังกฤษในนามของเจ้าอาณานิคมต้องปกป้องดูแล และแน่นอน เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่มาก่อนอีกทั้งเหนือกว่าความอยู่รอดของประเทศไทย

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีบทบาทค่อนข้างจำกัดตัวเองต่อไทยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าฐานะของไทยถูกคำนวณถึงผลกระทบที่มีอยู่กับผลประโยชน์ของอเมริกาในภูมิภาคเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ พิจารณาถึงบทบาทของตัวเองต่ออังกฤษ, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นด้วย

ผู้เขียนยอมรับว่า ไม่ใช่ว่ามหาอำนาจจะบ่มเพาะเขตอิทธิพลต่อไทย แต่ไทยมีบทบาทและส่งอิทธิพลต่อมหาอำนาจได้เพราะอยู่ในศูนย์กลางของเขตยุทธศาสตร์ของเอเชีย และเราใช้ฐานะนี้ต่อรองนโยบายของเรากับพวกมหาอำนาจที่แผ่อิทธิพลในย่านนี้ได้ด้วย

หนังสือนี้ไม่ได้วางจุดยืนหรือสร้างทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศ แต่ได้ให้เอกสารและข้อมูลอธิบายถึงอำนาจในการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ภาพด้านกว้าง ผู้เขียนชี้ว่านโยบายตะวันตกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้มักยอมรับว่า "ลักษณะพิเศษ" ของไทยคือ เลี่ยงต่อการเป็นอาณานิคมตะวันตก แต่ผู้เขียนปฏิเสธวิธีคิดที่ว่านี้ ตรงกันข้ามเขาชี้ว่าอิทธิพลตะวันตกกลับ "ครอบงำ" ผลประโยชน์แห่งชาติของไทย และไทยคือบริวารต่างชาติ โดยเฉพาะแรงกดดัน บงการ และครอบงำ ก่อนปี ค.ศ.1942 ไทยไม่ต่างจากเขตปกครองอย่างไม่เป็นทางการ และถูกชี้นำทางอ้อม จากอังกฤษ ผู้เขียนยังอ้างว่าเหตุที่ไทยให้ผลประโยชน์ต่ออเมริกาหลังสงครามก็เลี่ยงจากการถูกครอบงำโดยอังกฤษ ปัญหาคือ "การครอบงำ" ของอังกฤษ กับ "เอกราช" ของไทยนั้นจะมองจากแง่มุมใด มุมมองจากอังกฤษเห็นว่าอำนาจของอังกฤษเสื่อมลงอย่างยิ่ง เมื่อมีปัญหาค่าเงินปอนด์ในปี ค.ศ.1931 ขณะ ที่อิทธิพลเงินดอลลาร์อเมริกันเพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวของ "ชาตินิยมไทย" นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องการขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ของโลก

เขาชี้ด้วยว่าสมมติฐานว่าไทยเป็น ข้อยกเว้น และเป็นประเทศเดียวที่ไม่ถูกต่างชาติเอาเป็นเมืองขึ้นนั้นไม่จริง นำไปสู่การใช้เหตุผลโยงไปในฐานะของไทยว่าเป็นอิสระและเป็นเอกราชก็ขาดหลักเกณฑ์และเป็นการอ้างอิงที่รองรับด้วยข้อเท็จจริงไม่ได้

เขาอธิบายว่า "ไทยเป็นเอกราชแค่ในนาม" หรือในรูปแบบ แต่ด้านเนื้อแท้แล้วไม่ใช่ ฐานะของรัฐไทยเปรียบกับญี่ปุ่นในราชวงศ์เมจิไม่ได้ แต่เปรียบกันแล้ว รัฐไทยต้องเทียบกับฐานะของรัฐจอโฮว์ หรือกลันตันเท่านั้น

ฐานะต้อยต่ำ ทำไมผู้เขียนจึงว่า รัฐไทยเทียบได้แค่รัฐภายใต้การปกครอง อังกฤษ เช่น กลันตันเท่านั้น? ผู้เขียนพยายามชี้ว่าว่ารัฐไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลอังกฤษอย่างไม่เป็น "ทางการ" เหมือนกับหลายประเทศ เช่น อิรัก, อิหร่าน, กลุ่มรัฐมลายู เขาอธิบายว่าหลักฐานความสัมพันธ์ของไทยต่อต่างชาตินั้นบกพร่องไม่สมบูรณ์ หากไม่ได้มองเอกสารหลักฐานอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่ง เอกสารเกี่ยวกับประเทศไทยในธนาคารชาติของอังกฤษ !

ไทยคือ "อาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการ" เท่านั้น เจ้าอาณานิคมคืออังกฤษ ตามความเห็นของผู้เขียน เฉพาะอย่างยิ่งเขาอ้างว่านักวิชาการอย่าง W.R.Louis ซึ่งศึกษาอาณาจักรอังกฤษในตะวันออกกลางและบทความของ R.JEFFREY เกี่ยวกับ "การปกครองทางอ้อม" (โปรดดูในอ้างอิงที่ 11, 12 ของบทแรกในหนังสือที่วิจารณ์นี้)

ประเทศไทยเป็นอาณานิคมผ่านทางเศรษฐกิจและการเงินซึ่งอังกฤษ "ครอบงำ" และอังกฤษ "ปกครอง"ผ่านการครอบงำ 3 ระดับตั้งแต่เศรษฐกิจการเงินการคลัง, ยุทธศาสตร์ความมั่นคง และผ่านทางการเมืองและกฎหมาย ไทยขึ้นต่ออังกฤษด้านเศรษฐกิจการคลังผ่านบทบาทของที่ปรึกษาอังกฤษในรัฐบาลไทย และประเทศไทยถูกปิดล้อม ด้วยเมืองขึ้นเศรษฐกิจของอังกฤษ เช่น ฮ่องกง, สิงคโปร์, ปีนัง, ร่างกุ้ง และกัล กัตตา ทั้งหมดมีบทบาทต่อการส่งออกของไทยร่วมร้อยละ 70 เฉพาะมาลายาซื้อข้าวจากไทยร้อยละ 70 กระสอบขน ข้าวนำเข้าจากอินเดีย และเส้นทางคมนาคมรถไฟไทยผ่านด่านทางใต้ ซึ่งอังกฤษควบคุม เงินในคลังสำรอง 5 ล้าน ปอนด์ ขึ้นต่อค่าเงินอังกฤษ ดุลการเงินเราถูกควบคุมโดยลอนดอน ธนาคารอังกฤษ 3 แห่งครอบงำการลงทุนภาย ในไทยทั้งหมด การลงทุนอังกฤษในไทย รวมทั้งเงินกู้ 20 ล้านปอนด์อยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบการเงินของอังกฤษใน ปี ค.ศ.1932 อังกฤษและออสเตรเลียเข้ามาทำเหมืองโรงสีและทำไม้ทั้งหมด กำกับควบคุมการส่งออกทั้งหมดเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราและตลาดดีบุกมาตรการและขนบทางสังคมและธุรกิจในประเทศไทยเป็น อังกฤษž

เขาว่าทั้งหมดนี้ยังไม่พอเพียงที่จะชี้ว่าอธิปไตยทางเศรษฐกิจของไทยขึ้นต่ออังกฤษเท่านั้น แต่รัฐบาลไทยตั้งแต่ทศวรรษที่ 19 เรามีที่ปรึกษา เช่น ด้านต่างประเทศ, การพัฒนาทางการเงินที่ปรึกษาอังกฤษมีบทบาทครอบงำไทยตั้งแต่ 1898 ระบบศาลโดยอังกฤษและฝรั่งเศส

ข้าราชการอังกฤษอย่างที่ปรึกษาการเงิน เช่น เจมส์ แบกซเตอร์ (1932-5) มาจากกระทรวงการคลังของประเทศอินเดียหรืออียิปต์ เจ้าหน้าที่อังกฤษรับ "คำสั่ง"เกี่ยวกับรายงานการเงินการคลัง และส่งรายการตรงไปยังธนาคารชาติอังกฤษ โดยรายงานลับต่างๆ ผ่านระบบโค้ดลับ และส่งทางถุงเมล์ทูต พวกข้าราชการอังกฤษเหล่านี้ทำงานลับโดยมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยรับรู้ แต่เคยมีเอกสารลับตกไปอยู่ในเงื้อมมือของคนไทยจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว

การเมือง ไทยตกอยู่ในแรงกดดันอังกฤษ อังกฤษรักษาผลประโยชน์ในพม่าและในมลายู มีผลบีบบังคับ รวม ทั้งมีแผนเข้ายึดครองภาคใต้ไทยอย่างชัดเจนเป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางในระดับรัฐบาลอังกฤษ, สหรัฐฯ และพันธมิตร โดยพันธมิตรคาดหมายยึดตั้งแต่บางสะพานเข้าคุมจากประจวบลงมาทั้งแหลมมลายู

เยอรมันส่งสายลับมายุยงให้พวกแขกซิกก่อกบฏขึ้นในพม่า โดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง

ผมเห็นว่าเอกสารและหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญ เพราะภายใต้วิธีการ วิเคราะห์ เราจะเห็นชัดเจนว่า ปัจจุบันเราก็มีภยันตราย และเราเป็นอาณานิคม เศรษฐกิจชัดกว่าที่เขียนในหนังสือเล่มนี้ พวกตะวันตกยุยงให้เกิดกบฏในพม่า ผ่านศูนย์กลางในไทยและบริเวณค่ายอพยพ ขณะที่สหรัฐฯ ชี้นำการเงินการคลังและนโยบายต่างประเทศ

ครับ เป็นความจริงหรือการตี ความที่น่าขมขื่น เราไม่เคยยอมรับว่า เป็นอาณานิคมใคร แต่มันเป็นเพียงรูปแบบ แต่เนื้อแท้เขาวิเคราะห์ว่ามันอาณานิคมชัดๆ อ่านแล้วนึกอยากเป็นอิสรเสรี แต่เรามีนายหน้าขายชาติเยอะเหลือเกิน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.