จากนโยบายขยายดีลเลอร์ให้มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาของธนบุรีประกอบรถยนต์
ส่งผล ให้ธนบุรีฯมีดีลเลอร์เพิ่มขึ้นกว่า 80 รายทั่วประเทศ
"เบนซ์ช้างเผือก" ก็เป็นหนึ่งของดีลเลอร์เบนซ์ในจังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งเปิดดำเนินธุรกิจมาได้ 2 ปีแล้ว และคงไม่แตกต่างกับดีลเลอร์เบนซ์รายอื่นที่มียอดจำหน่ายดีในปีแรก
และลดลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ตกต่ำลง แต่ลึกๆ แล้วดีลเลอร์ต่างก็รู้ว่า
สาเหตุที่ทำให้ยอดจำหน่ายรถเบนซ์ลดลงไม่ได้มาจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำลงเพียงอย่างเดียว
หากมาจากการเดินเกมธุรกิจของบริษัทแม่ด้วยที่มุ่งแต่จะขยายช่องทางในการจำหน่ายให้มากขึ้น
โดยลืมคำนึงถึงสงครามที่ห้ำหั่นกันเองระหว่างดีลเลอร์
"ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะไม่สามารถนำมาใช้กับรถเบนซ์ ซ้ำอาจส่งผลกระทบกลับไปที่ธนบุรีฯ
ด้วยทำให้ไม่เกิด ROYALTY คือ ดีลเลอร์ต่างคนต่างแข่งขันกันเอง ใครที่อยู่รอดก็อยู่ไป
ใครที่ไปไม่รอดก็ไปเอารถยี่ห้ออื่นมาขาย ก็จะกลายเป็นดีลเลอร์มั่ว หน้าบ้านขายธนบุรีฯ
หลังบ้านขายรถอื่น ก่อนให้เกิดการดัมป์ราคากันเองระหว่างดีลเลอร์ ภาพพจน์ที่ดีของเบนซ์ก็จะหมดไป
ตอนนี้ใครมีเงิน 50,000 บาท ก็เป็นเจ้าของเบนซ์ได้แล้ว สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่ธนบุรีฯ
มองแต่ตัวเลขการขายมากเกินไป โดยลืมคำนึกถึงภาพพจน์ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนี้ต่อไป
ผมคิดว่าดีลเลอร์จะหมดความอดทนและหันไปขายรถยี่ห้ออื่นแทนเป็นความในใจของ
บุญทรง เตริยาภิรมย์ กรรมการผู้จัดการ "เบนซ์ช้างเผือก" และเป็นผู้หนึ่งที่นั่งอยู่ในสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ในตำแหน่งรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ
โต้โผจัดงาน THE INTERNATIONAL MOTOR SHOW'97 ที่เชียงใหม่ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่
1-9 กุมภาพันธ์นี้ ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี โดยรายได้ที่ได้จากการจัดงานในครั้งนี้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ก็จะมอบเป็นกองทุนการศึกษาในการดำเนินงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมพระธาตุดอยสุเทพ
และมอบให้มูลนิธิเมตตาศึกษาเพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนด้วย
บุญทรงมองว่า งานแสดงมหกรรมรถยนต์นานาชาติในครั้งนี้จะเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ได้
รวมทั้งเบนซ์ช้างเผือกเองก็หวังเช่นนั้น โดยตั้งเป้าว่าจะมียอดสั่งจองรถเบนซ์ในงานนี้ประมาณ
50-60 คัน
"ปี'39 ที่ผ่านมาเบนซ์ช้างเผือกขายได้ประมาณเกือบ 100 คัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ใช้ได้
ถ้าเทียบกับจำนวนดีลเลอร์เบนซ์ 3 รายของเชียงใหม่ และในปี'40 นี้เราประมาณการว่าจะขายได้ประมาณเดือนละ
10 คัน" บุญทรงชี้แจง นอกจากนี้เขายังกล่าวถึง "ราคา" ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขายว่า
"ปัจจุบันผู้ที่ต้องการซื้อรถเบนซ์มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างรวดเร็ว
สามารถรู้ว่าดีลเลอร์ในกรุงเทพฯ มีแคมเปญลดแลกแจกแถมอะไรบ้าง ซึ่งก็จะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ไปซื้อรถที่กรุงเทพฯ
และกลับมารับบริการที่เรา ซึ่งเราก็ต้องรับเพราะเราเป็นตัวแทนเบนซ์หรือที่ร้ายกว่านั้นคือ
หันไปซื้อยี่ห้ออื่นที่แคมเปญดอกเบี้ย 0% เสียเลย รถจะขายได้ไม่ได้ก็อยู่ที่ดอกเบี้ย
ที่ไหนให้ดอกเบี้ยเลยก็ยิ่งดี"
อย่างไรก็ดี เบนซ์ช้างเผือกก็ได้เตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ด้วยการติดต่อกับบริษัทแม่ให้สนับสนุนในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์
ON LINE ที่จะมาติดตั้งให้บริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถติดต่อกับบริษัทแม่ได้สะดวกและรวดเร็วในเรื่องของการให้สินเชื่อรถยนต์แก่ลูกค้า
ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดแข็งของเบนซ์ช้างเผือกที่ดีลเลอร์อีก 2 รายในเชียงใหม่ยังไม่มี
"เบนซ์ช้างเผือก" ได้เริ่มดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้วด้วยเงินลงทุน
15 ล้านบาท จากกลุ่มหุ้นส่วนที่คลุกคลีอยู่ในธุรกิจรถยนต์ ซึ่ง 60% ใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพฯ
และที่เหลือเป็นคนเชียงใหม่ "บุญทรง" ก็เป็นหนึ่งในนั้น และเป็นหุ้นส่วนใหญ่ที่เป็นคนเชียงใหม่
เขาจึงรับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท และจากการที่เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งต้องรู้จักกับ
ดร.โชคชัย อักษรนันท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอย่างแน่นอน สายสัมพันธ์นี้เองทำให้ความคิดที่จะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเบนซ์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก
"เราเข้ามาจับธุรกิจนี้ตามขั้นตอนของธนบุรีฯ ในช่วงที่เราเสนอตัวเข้าไปก็ประจวบเหมาะกับที่ทางธนบุรีฯ
ต้องการเปิดดีลเลอร์อีกแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีอยู่แห่งเดียวและกำลังจะหยุดดำเนินกิจการเราก็เสนอตัวเข้าไปพอดีประกอบกับได้รับการสนับสนุนจาก
ดร.โชคชัย ซึ่งท่านเป็นเพื่อนกับคุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ เจ้าของธนบุรีฯ
ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น"
ก่อนที่บุญทรงจะเข้ามาจับธุรกิจรถยนต์นั้น เขาทำธุรกิจโรงเลื่อยอยู่ก่อนแล้ว
ซึ่งเป็นธุรกิจแรกของครอบครัวที่ดำเนินกิจการมากกว่า 30 ปี และหลังจากที่เขากลับจากอเมริกาด้วยดีกรีปริญญาตรี
FINANCE จาก UNIVERSITY OF KENTUCKY ได้ 2 ปีคือในปี 2527 เขาก็เข้าเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมในนามของโรงเลื่อยจักรไทยพนา
จากนั้นในปี 2537 เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในสมัยของประธานฯ
สาโรช รัตนาวดี โดยเขามีหน้าที่ดูแลงานด้านกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ กิจกรรมการจัดงานแสดงสินค้า
กิจกรรมการหารายได้พิเศษให้กับสภาฯ และงานทางด้านต่างประเทศ ซึ่งได้แก่เรื่องของการติดต่อต้อนรับนักธุรกิจจากต่างประเทศ
สำหรับงาน THE INTERNATIONAL MOTOR SHOW'97 ครั้งแรกที่จัดขึ้นที่เชียงใหม่นี้เขาก็รับหน้าที่เป็นประธานในการจัดงาน
และในฐานะพ่องานใหญ่ก็ได้ตั้งความหวังจากงานนี้ว่า
"งานนี้เราทำการประชาสัมพันธ์มาก และมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนมาร่วมงานประมาณ
50,000 คน กับปริมาณคนขนาดนี้ ถ้ามีสัก 500-1,000 คน คือ 1%-2% ที่สนใจซื้อรถ
ผมคิดว่าน่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว"