โตโยต้าโซลูน่าความยิ่งใหญ่และจุดเปลี่ยน


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดตัวรถยนต์นั่ง โตโยต้า โซลูน่าอย่างเป็นทางการ พร้อมกับส่งลงสู่ตลาดเมืองไทยอย่างประกาศกร้าวเช่นนั้น มันกลายเป็นสัญญาณที่บ่งบอกอะไรหลายๆ อย่าง ที่สะท้อนผลไปทุกทิศทาง

ทั้งต่อองค์กรโตโยต้าเอง ต่อเครือข่าย คู่แข่ง และที่สำคัญ กลุ่มผู้ซื้อ

โตโยต้า โซลูน่า รถยนต์นั่ง ซีดานเครื่องยนต์ขนาด 1500 ซีซี แต่ราคาเริ่มต้นไม่ถึง 4 แสนบาทนั้น นับเป็นรถยนต์นั่งคันแรกของตลาดเมืองไทยที่ถูกส่งเข้ามาเล่นสงครามราคาอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยแผนที่วางไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนตั้งใจมานับปี ซึ่งแน่นอนว่า ครั้งนี้สะเทือนวงการทุกหย่อมหญ้าอย่างเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวโสม ฝรั่งตาน้ำข้าวหรือเลือดบูชิโดด้วยกันเอง

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น วางตำแหน่งให้โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย เป็นฐานผลิตสำคัญอันดับต้นๆ มากกว่า 10 ปี แต่เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ ความเคลื่อนไหวแต่ละย่างก้าวจึงดูเสมือนเชื่องช้า

แต่โตโยต้าก็ยังมั่นใจว่า วิถีปฏิบัตินี้คือความมั่นคง

แผนงานหนึ่งคือความพยายามถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสู่อุตสาหกรรมท้องถิ่น และการที่จะทำให้นักลงทุนท้องถิ่นของบ้านเรา พัฒนาตามให้ทันจนถึงจุดที่ว่า ต้นทุนการผลิตต่ำแต่คุณภาพสูงนั้น ย่อมต้องใช้เวลา

แนวโน้มช่วง 4-5 ปีหลังมานี้ดีขึ้นศักยภาพของอุตสาหกรรมเกื้อหนุนในไทยภายใต้เครือข่ายโตโยต้า ดีวันดีคืน

4 ปีที่แล้ว โตโยต้า มอเตอร์คอร์ป จึงร่างแผนงานชิ้นสำคัญขึ้นมาและจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

โครงการรถเอเอฟซี (AFFORD ABLE FAMILY CAR) จะเป็นก้าวแรกที่นำโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ด้วยตนเองมากขึ้น แม้ช่วงแรกของโครงการจะยังมีญี่ปุ่นเป็นพี่เลี้ยงอยู่ก็ตาม แต่ถ้าฐานในไทยสามารถตอบรับและพัฒนาไปได้ อนาคตการยืนด้วยตนเองย่อมต้องมีแน่นอน

ถ้าเป็นเช่นนั้นคงไม่ต่างกับคำว่า การย้ายฐานการผลิต ที่หลายค่ายนิยมใช้กันมากในยุคหลังๆ นั่นหมายความว่ามิเพียงโรงงานประกอบเท่านั้น อุตสาหกรรมเกื้อหนุนต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชมรมเมกเกอร์ของโตโยต้า ย่อมมีโอกาสเติบโตตามไป ความหมายของการถ่ายทอดเทคโนโลยีมันอยู่ตรงนี้แค่นั้นเอง

สิ่งที่โตโยต้าพยายามกระทำให้เป็นรูปธรรมครั้งนี้ สะท้อนถึงพื้นฐานของความเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้อย่างดีทีเดียว

แนวคิด 4 ประการ ที่โตโยต้านำมาเป็นข้อปฏิบัติในการเริ่มต้นโครงการรถเอเอฟซี หรือการผลิตโตโยต้าโซลูน่าก็คือ

ประการแรก เอเอฟซีต้องเป็นรถราคาไม่แพง

ประการที่สอง การจะสร้างให้เอเอฟซีเป็นรถราคาไม่แพง ไม่ควรมองข้ามแง่มุมคุณภาพ รวมทั้งพยายามสร้างรถให้คุ้มค่าที่สุดกับเงินของลูกค้า นั่นก็หมายถึงเอเอฟซีต้องเหนือกว่ารถอื่นๆ ในระดับเดียวกันในส่วนของอุปกรณ์อำนวยความสะดวก การประหยัด ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความมั่นใจได้ในคุณภาพ

ประการที่สาม ต้องเป็นรถยนต์นั่งซีดาน 4 ประตู เพื่อให้ครอบครัวได้บรรลุความฝันของการมีรถสักคน และสามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่

ประการสุดท้าย เอเอฟซี ไม่เพียงแต่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าเท่านั้น แต่การพัฒนาและผลิตยานยนต์จะต้องเกื้อหนุนต่อเศรษฐกิจของไทย โดยผ่านการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีและการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย

โตโยต้า โซลูน่า จะมีชิ้นส่วนกว่า 700 รายการที่ผลิตในประเทศไทย หรือคิดเป็นอัตราส่วนสูงถึง 70%

นั่นหมายความว่า ความพยายามของโตโยต้าในการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมเกื้อหนุน ได้สำเร็จลุล่วงไปแล้วระดับหนึ่ง

และเมื่อต้นทุนการผลิตต่ำ แต่คุณภาพสูง โครงการรถราคาประหยัดจึงสำเร็จผล และจากนี้เครือข่ายโตโยต้าไทย จะเริ่มต้นเข้าสู่ยุคของการส่งออกอย่างเข้มข้นขึ้น

"เป็นการเพิ่มการส่งออกของประเทศไทย ไม่ใช่แต่เฉพาะชิ้นส่วนเท่านั้น โดยเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ จะเริ่มส่งออกโซลูน่าสำเร็จรูปไปยังสิงคโปร์และบรูไน และหลังจากที่การผลิตเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้จะขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย" คำกล่าวของ ไอ. อิโซมูร่า รองประธานกรรมการ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป

ทั้งนี้ แม้โตโยต้า โซลูน่าจะเป็นรถยนต์ที่วิจัยและพัฒนา และเริ่มต้นผลิตในไทยเป็นแห่งแรก แต่อนาคตจะมีการประกอบขึ้นในอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยไทยจะรับหน้าที่ในการเป็นผู้ป้อนชิ้นส่วนส่วนใหญ่ให้ ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ที่จะขึ้นสายผลิตเป็นอันดับต่อไป

สำหรับ วาย มูรามัตซึ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยคนล่าสุด ซึ่งถูกส่งเข้ามารับหน้าที่เมื่อปลายปีที่แล้ว ด้วย 2 ภารกิจสำคัญ คือสานให้ฐานในไทยสู่ยุคส่งออกอย่างแท้จริง และสกัดกั้นการบุกเข้ามายังภูมิภาคนี้ของบิ๊กทรีจากสหรัฐอเมริกานั้น ได้กล่าวถึงโซลูน่าที่สะท้อนความสำคัญของไทยได้ดี และยังบ่งบอกอีกว่า นี่คือแผนงานหนึ่งที่โตโยต้าเตรียมไว้รับมือยักษ์จากโลกตะวันตก

"ในวันนี้ เราถือเป็นเกียรติที่จะได้แนะนำรถเอเอฟซีแก่ผู้สื่อข่าว เอเอฟซีเป็นรถยนต์ที่ผลิตในไทย แต่ไม่ได้เป็นเพียงรถยนต์สำหรับประเทศไทยเท่านั้น เอเอฟซียังเป็นรถยนต์ที่โตโยต้าจะใช้เป็นกลยุทธ์ระดับโลกในการนำยุคประชายานยนต์ไปสู่ประเทศที่มีตลาดยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในแถบเอเชีย ดังนั้นคงจะไม่เป็นการกล่าวเกินจริงหากจะพูดว่า โครงการเอเอฟซีเป็นโครงการสำคัญที่สุดของโตโยต้าซึ่งจะมีผลต่อหลายประเทศในศตวรรษที่จะถึงนี้" เป็นคำกล่าวในการเปิดตัวโตโยต้า โซลูน่า อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

เมื่อยักษ์ใหญ่เดินหมากอย่างเข้มข้นและมั่นคงเช่นนี้ คู่แข่งที่อยู่ในตลาดก็คงกระอักกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะหญ้าแพรกทั้งหลาย ก็คงต้องทำใจและเตรียมกลยุทธ์เฉพาะหน้าต่างๆ ไว้รับมือให้ดีไม่เช่นนั้นคงจบเห่กันคราวนี้ ที่น่าหนักใจยิ่งกว่านั้นก็คือ ในระยะยาวแล้วจะต่อสู้กันได้อย่างไร เพราะเป้าหมายโซลูน่าเดือนละ 4,000 คันนั้น ดูเหมือนว่าเกือบจะกวาดตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กไว้ในกำมือเกือบทั้งหมดแล้ว

อย่าว่าแต่รายเล็กรายน้อยเลย ขาใหญ่อย่างฮอนด้าที่เดินนโยบายฉาบฉวยมาโดยตลอด ก็คงหนีไม่พ้นชะตากรรมถ้ายังไม่ปรับปรุงตัว

ยุทธการล้างบางครั้งนี้ ดูเหมือนว่าโตโยต้าจะล้างแค้นคู่แข่งอย่างเลือดเย็นที่สุด แต่ก็นั่นแหละ โตโยต้าเคยปรามเรื่องสงครามราคาไว้ก่อนหน้านั้นแล้วว่าอย่าเล่น เพราะถ้าเริ่มก็คงต้องเล่นกันถึงตาย หาจุดลงยาก

แต่ไม่ว่าใครจะอยู่จะไป ปรากฏการณ์นี้ ผู้ซื้อรับประโยชน์ฝ่ายเดียว

เตือนไว้นิด ไม่ต้องผลีผลามเพราะหลังจากนี้รถยนต์นั่งขนาดเล็กราคาประหยัดจะมีตามมาอีกมาก เพราะคงไม่มีใครยอมลงให้กันง่ายๆ นัก

แล้วถ้าจะตัดสินใจเลือกใคร การตรวจสอบคุณภาพ เปรียบเทียบสมรรถนะและรายละเอียด เป็นเรื่องสำคัญมากนักจากนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.