ไม่รู้ว่าช่วงนี้ เพลงโปรดของธวัช พลังเทพินทร์ จะเป็นเพลง "DON'T
CRY FOR ME, REPORTER" หรือไม่เพราะการที่ต้องแบกรับภาระทางการเงินเพื่อประคับประคองทีมงาน
ก็นับว่าสาหัสสากรรจ์อยู่
เป็นภาวะยากลำบากทั้งนักข่าวและผู้บริหารในการฝ่าวิกฤตสิ่งพิมพ์ไปให้ได้ ต่างจากเมื่อร่วมสองทศวรรษที่ผ่านมาธวัช
เคยค้นพบว่า ทำนิตยสารรายเดือนเพียงแค่ปีเดียวก็กำไรแล้ว ดูเป็นเรื่องง่ายๆ
แต่เขาก็จะไม่พบเรื่องง่ายๆ เช่นนี้อีกต่อไป ในสังเวียนซึ่งอยู่ในสภาพแพ้คัดออก
ปัจจุบันในบริษัทคู่แข่ง จำกัด (มหาชน) ธวัชรับตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการผู้อำนวยการ จากการมีนิตยสารไม่กี่เล่ม
คู่แข่งกลายเป็นบริษัทสิ่งพิมพ์ขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เช่น
คู่แข่งรายวัน และคู่แข่งธุรกิจ ออกเป็นรายสัปดาห์ ทั้งยังเริ่มต้นธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์
โดยการร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ รีเสิร์ช จำกัด และผู้ลงทุนรายอื่น ตั้งบริษัทเอนิวส์
เพื่อให้บริการอินเตอร์เน็ต
ข้อดีของคู่แข่งในการขยายธุรกิจคือมีส่วนแตกต่างทางการตลาดอย่างชัดเจน
เช่น รายวันมีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ฟาสต์นิวส์ มีเซ็กชั่น INTELLIGENCE ให้การศึกษาทางธุรกิจ
ส่วนเซ็กชั่น GET RICH QUICK เป็นการเปิดโรงเรียนธุรกิจขึ้นทางหน้าหนังสือพิมพ์ทีเดียว
ผู้อ่านให้การต้อนรับพอควร แต่เพื่อนพ้องในวงการแปลกใจที่กลุ่มคู่แข่งจะทำตัวเป็น
"หนุ่มฮาร์วาร์ด" แม้สมิต มนัสฤดี อดีตบรรณาธิการไทยรัฐ ซึ่งเป็นที่ปรึกษากลุ่มคู่แข่งยังปรารภในที่ประชุมซึ่งมีธวัชนั่งเด่นเป็นสง่าอยู่ด้วยว่า
"หนังสือพิมพ์ต้องขายข่าว"
ด้านหนึ่งพอวิเคราะห์ได้ว่า คู่แข่งยังไม่แข็งในเรื่องข่าว จึงต้องนำจุดขายอื่นๆ
มาดึงดูดผู้อ่าน ในอีกด้านหนึ่งการนำเสนอเซ็กชั่นที่มีลักษณะเป็นการศึกษาทางธุรกิจ
คือการก้าวไปสู่ยุทธศาสตร์ MASS EDUCATION ซึ่งจะเป็นตลาดใหญ่ในวันข้างหน้า
ธวัชจึงถือว่ายุทธศาสตร์นี้ เป็นวิชั่น 2000 ของกลุ่มคู่แข่ง
มีขั้นตอนสำคัญอยู่ 3 ประการคือ TO INFORM คือการจัดตั้งสื่อทางธุรกิจ
TO EDUCATE คือการประสานหน่วยธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างตลาดการศึกษาและ TO ENTERTAIN
คือการเปิดตลาดบันเทิงควบคู่กันไป
เป็นการลงทุนที่ต้องหวังผลในระยะยาว ต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพสูงดังนั้น
MASS EDUCATION จึงต้องอาศัยขบวนการปรับปรุงองค์กรคือ "RE THINK, RE
BUILD และ RE STRUCTURE" ธวัชชัยกล่าว แววตามุ่งมั่น
แม้จะเป็นภาพฝันอันงดงาม แต่ดูเหมือนเทพีแห่งโชคยังมิได้ยืนข้างธวัชเป็นที่น่าสังเกตว่า
ธวัชคิดขยายธุรกิจในช่วงที่สิ่งพิมพ์เริ่มเกิดภาวะตกต่ำ และแม้กระทั่งสื่อต่างๆ
เช่น วิทยุก็มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ทั้งทางด้านการตลาดและสายสัมพันธ์กับทหาร
คู่แข่งได้บริหารวิทยุ คลื่น 101 โดยวิธีเช่าช่วงเวลาจากผู้ได้รับสัมปทานหลังจากปลุกปั้นจนคนฟังเริ่มยอมรับสปอตโฆษณาเริ่มหนาแน่น
ก็ต้องเสียคลื่นไปให้แก่มีเดียพลัสอย่างชนิดนึกไม่ถึง เสียเงินลงทุนจำนวน
30 ล้านบาท ไปโดยไม่ได้อะไรกลับคืนมา แต่ถึงกระนั้น ธวัชก็ยังกล่าวว่า "หากมีการเปิดประมูลคลื่นวิทยุ
ก็อยากได้สักสามคลื่นเพราะจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการมีเพียงคลื่นเดียว"
นี่คือน้ำเสียงที่มุ่งมั่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยอาการเหนื่อยล้า
ส่วนคู่แข่งรายวัน และคู่แข่งธุรกิจ (รายสัปดาห์) ก็ยังไม่สามารถทำกำไร
มีเดียโฟกัส ซึ่งเป็นธุรกิจสำรวจวิจัยทางด้านโฆษณา ก็แค่พอเลี้ยงตัว จึงเหลือเพียงคู่แข่งรายปักษ์เท่านั้น
ที่ทำกำไรได้บ้าง ในปีที่แล้วทำรายได้ประมาณ 54 ล้านบาท ส่วนปีนี้การที่ลูกค้าเอเยนซีต่างตัดงบโฆษณากันเป็นทิวแถว
ทำให้คู่แข่งรายปักษ์ตระหนักดีว่าไม่ควรขึ้นค่าโฆษณา
ต้องยอมรับว่า ธวัชเป็นคนรักลูกน้องและใจกว้างเป็นแม่น้ำ ระหว่างเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น
ธวัชถึงกับออกปากว่า จะกู้เงินธนาคารมาซื้อหุ้นคู่แข่งให้แก่พนักงาน แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำงานกับคู่แข่งต่อไป
ถ้าไม่เรียกว่า "พ่อพระ" ก็ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเหมาะสมไปกว่านี้แล้ว
คู่แข่งอยู่ในภาวะที่ต้องลดต้นทุนอย่างจริงจัง ดังเช่น มีการย้ายออฟฟิศจากตึกมอนเทอเรย์
ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ไปยังละแวกสวนหลวง ถนนพัฒนาการเพื่อประหยัดค่าเช่าเดือนละสองล้านบาท
หมดยุคแล้วที่จะไม่รัดเข็มขัดเพื่อให้สระระงดงาม เนื่องเพราะตั้งแต่ต้นปีนี้นักข่าวคู่แข่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่แน่นอนจากบริษัทว่า
จะได้รับโบนัสหรือไม่? ส่วนหนึ่งจึงอยู่ในภาวะทำใจ อีกส่วนหนึ่งก็เริ่มมองหาหนทางประกอบอาชีพใหม่ๆ
แทนที่การเป็นนักข่าว ซึ่งยุคเฟื่องฟูอาจจะผ่านพ้นไปแล้ว
ธวัชดูจะเข้าใจสภาพจิตใจพนักงานเป็นอย่างดี จึงยืนยันว่าจะไม่ลดคน ทั้งยัดจัดงานปีใหม่ขึ้นอย่างหรูหรา
สนุกสนาน มีของรางวัลแจกให้แก่พนักงานอย่างไม่อั้น โดยเฉพาะของมีระดับ เช่น
นาฬิกาหรูยี่ห้อต่างๆ แต่ไม่มีรายงานว่ามีการแจกโรเล็กซ์
อันที่จริง เรื่องงานปีใหม่นี้ ผู้บริหารหลายคนเห็นว่าไม่ควรจัด แต่ธวัชก็ยืนยันว่าจะต้องจัดงานขึ้น
เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน ภาพที่ปรากฏแก่พนักงานคือ ธวัชยังคงมีรอยยิ้ม
แม้แววตาจะฉายฉานภาพดอกเบี้ยผลิบานอย่างชนิดไม่มีวันร่วงหล่น
หลังจากปีใหม่ ทุกคนเริ่มตระหนักดีว่า จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นเป็นพิเศษ
ธวัชให้นโยบายเป็นการภายในว่าในปีนี้คู่แข่งจะไม่ขยายธุรกิจ แต่จะระดมสรรพกำลังทุกอย่าง
เพื่อสนับสนุนคู่แข่งรายวันและคู่แข่งธุรกิจให้สามารถสร้างผลกำไรให้จงได้
เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ หนังสือพิมพ์จะต้องรบกันอย่างแตกหัก
อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ต้องลงจากเวที
ที่แล้วมาการบริหารต้นทุนของกลุ่มคู่แข่ง ออกจะเป็นสไตล์ประนีประนอมเนื่องจากบุคลิกของธวัชเป็นเช่นนั้น แต่ในเรื่องการงานธวัชเริ่มมองเห็นว่า จะประนีประนอมไปทุกเรื่องไม่ได้
ปัจจุบันกลุ่มคู่แข่งมีพนักงานประมาณ 600 คน ธวัชปรารภกับระดับบริหารว่า เขารู้ดีว่ามีแรงงานแฝงอยู่
20% และนักข่าวคู่แข่งคนหนึ่งก็ทำงานเฉลี่ยวันละแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น อย่างไรก็ตามพนักงานที่เอาการเอางานก็ยังมีอยู่อีกมาก
"เราจะไปสู่ MASS EDUCATION ก็ต้องมีการปรับปรุงพนักงาน ถ้าไม่ปรับปรุง
ผมโดนด่าแน่" ธวัชเคยกล่าว
เมื่อหลีกเลี่ยงการให้พนักงานลาออก เพื่อลดคน ก็ต้องใช้วิธีปรับปรุงองค์กร
ดังเช่น ช่วงต้นปี 2539 มีการตั้งสำนักข่าวคู่แข่ง แล้วโยกย้ายพนักงานจากรายวันและรายสัปดาห์ส่วนหนึ่งไปรวมที่สำนักข่าวเพื่อผลิตข่าวป้อนกองบรรณาธิการ
ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวนี้ก็จะเป็นฐานข้อมูลสำหรับอินเตอร์เน็ตที่คู่แข่งร่วมลงทุนอยู่
ทั้งยังขายข้อมูลต่างๆ ให้แก่ตลาดได้ด้วย
ปัญหาที่ตามมาคือ แม้ในคู่แข่งรายวันจะมีการลงข่าวที่ลงท้ายว่า "สำนักข่าวคู่แข่ง"
แต่ในความเป็นจริงทางกองบรรณาธิการก็ไม่ค่อยยอมรับข่าวจากสำนักข่าวมากนัก
เพราะต้องการข่าวจากคนในกองบรรณาธิการมากกว่า
ส่วนการที่ทางสำนักข่าวจะขายข้อมูลให้องค์กรธุรกิจและหนังสือพิมพ์ก็เป็นไปได้ยาก
เนื่องจากธุรกิจสำนักข่าวนั้นจะต้องใช้เวลานานในการสร้างความยอมรับและความน่าเชื่อถือ
แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่สิ่งพิมพ์ด้วยกันจะอาศัยข้อมูลของคู่แข่ง
การตั้งสำนักข่าวแม้จะทำให้คนในกองบรรณาธิการลดลง แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้
ทั้งยังเป็นการเพิ่มต้นทุนด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีการทำงานซ้ำซ้อนและบุคลากรในสำนักข่าว
ก็อยากจะอยู่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มากกว่า
ปีนี้ผู้บริหารคู่แข่งก็สร้างความแปลกใจแก่นักข่าวอีกครั้ง คือนำกองบรรณาธิการรายวันและรายสัปดาห์รวมเข้าด้วยกัน
ให้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอภิชาติ ศิริพจนานนท์ บรรณาธิการบริหารของรายสัปดาห์
ในขณะที่พิชัย ศิริจันทนันท์ จำต้องวางมือจากการบริหารคู่แข่งรายวัน เพื่อคุมทีมทำสกู๊ปข่าวสนองนโยบายรบแตกหักของธวัช
บางกระแสข่าวก็รายงานว่า อาจมีการโยกพิชัยไปดูแลทางด้านคู่แข่งรายปักษ์
เนื่องจากจำต้องเพิ่มบิลลิงให้มากกว่าเดิม ในขณะที่สังเวียนรายปักษ์รายเดือนเริ่มเป็นตลาดที่จะร้อนแรงที่สุดในปีนี้
เนื่องจากปกรณ์ พงศ์วราภา แห่งจีเอ็ม กรุ๊ป เตรียมผลักดัน จีเอ็ม บิสซิเนส
รายปักษ์ ออกมาแชร์ตลาด โดยอาศัยทีมงานจากกลุ่มผู้จัดการ จึงเป็นเรื่องไม่น่าไว้วางใจนัก
"ยังสับสนกันอยู่เลยว่า การเอาสองบรรณาธิการรวมกันจะทำงานกันอย่างไร
ตอนนี้ก็ทำงานกันไปตามเดิมก่อน" นักข่าวคู่แข่งรายวันกล่าว
ในขณะที่บางเสียงเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่ขุนพลในคู่แข่งจะต้องลงสนามกันอย่างจริงจัง
เพราะถึงแม้ว่าคู่แข่งจะใช้การตลาดสร้างยอดขายให้แก่หนังสือพิมพ์ได้ เช่น
กรณีคู่แข่งธุรกิจแจก พ็อกเก็ตบุ๊ค "เดอะ เกรท คอลเล็กชั่น" แต่กองบรรณาธิการจะต้องแข็งแกร่งกว่านี้
จึงเป็นไปได้ว่า กนกศักดิ์ ซิมตระกูล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และบรรณาธิการบริหารคู่แข่งรายปักษ์
จะต้อดูแลคู่แข่งรายปักษ์อย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง เพราะแม้จะมีตำแหน่งอยู่
แต่ก็ไม่ได้ดูแลอย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว
สภาพที่ปรากฏในคู่แข่งขณะนี้ ยังไม่ชัดเจนในเรื่องการจัดกำลังทัพว่าใครจะมีบทบาทแค่ไหนเพียงไร
ร้อยละ 90 ของการรบนั้น ความปราชัยมักจะตกอยู่กับกองทัพที่ชอบเปลี่ยนม้ากลางสายน้ำ