กลเทพ นฤเหล้า รับทำทุกอย่างบนอินเตอร์เน็ต ยกเว้น 'ไอเอสพี'


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ที่จริงแล้ว กุลเทพ นฤหล้า จะต้องไปใช้ชีวิตเป็นนักการเงินอยู่ในสถาบันการเงิน 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอเมริกาที่ตอบรับเข้าทำงานทันทีที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์การเงินจากนิวยอร์ก ยูนิเวอร์ซิตี้

หากไม่เพราะเกิดหลงใหลใน "อินเตอร์เน็ต" มาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนจนทำให้ชีวิตของบัณฑิตทางด้านการเงินอย่างกุลเทพต้องพลิกผันไปสู่การเป็นนักธุรกิจบนโลกของอินเตอร์เน็ต

กุลเทพนั้นเป็นหนึ่งในทายาทของตระกูลนฤหล้า ชาวอินเดียที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยเมื่อ 100 ปีมาแล้ว จนแยกย้ายกันไปแตกหน่อกิจการออกไปมากมาย และหนึ่งในนั้นคือในสายของรุ่นพ่อกุลเทพที่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อิมปอร์ตเอ็กซปอร์ตและจิวเวลรี่ในนามของ BENETON

สำหรับกุลเทพแล้ว หลังจากที่เขาใช้เครือข่ายใยแมงมุมค้นหว้าหาข้อมูาลตั้งแต่สมัยยังร่ำเรียนอยู่ในเมืองไทย ตลอดจนใช้อีเมลเขียนจดหมายกลับมาหาทางบ้านในยามไปศักษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งประหยัดกว่าโทรศัพท์ทางไกลหลายเท่าตัว เขาเชื่อว่าโลกไซเบอร์สเปซแห่งนี้จะต้องมีบทบาทอย่างเหลือล้นในอนาคต เช่นเดียวกับโทรศัพท์ หรือทีวีที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนเรา

หลังจากปิดภาคเรียนในช่วงซัมเมอร์ปีสุดท้าย กุลเทพจึงหารือกับราชวิน นฤหล้าผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสมาชิกอินเตอร์เน็ตมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและไม่ยอมละทิ้งโอกาสเหล่านี้ ร่วมกันหาช่องทางทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต

"ผมมองเห็นมาตั้งแต่แรกว่าอินเตอร์เน็ตจะต้องบูม เพราะแม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ยังยอมทุ่มเงินไปแล้วตั้งหลายสิบล้านเหรียญ ผมกับพี่ก็มาคิดว่าจะทำธุรกิจอินเตอร์เน็ตดีกว่า คิดกันอยู่หลายอย่างจะรับจ้างทำเว็บไซต์ ผมก็ไม่มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี เพราะเรียนมาทางด้านธุรกิจ ส่วนจะเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตก็แข่งขันกันอยู่แล้วหลายราย ทำแล้วไม่คุ้ม" กุลเทพเล่า

ในที่สุดกุลเทพและราชวินก็มาได้ข้อสรุปกันที่ธุรกิจร้านไซเบอร์คาเฟ่ ซึ่งกุลเทพได้แนวคิดมาจากร้านนิวส์บาร์ ร้านขายนิตยสารที่มีเครื่องอินเตอร์เน็ตไว้ให้บริการ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหอพักที่กุลเทพต้องเดินผ่านทุกวัน

แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีที่ดีที่สุดคือการขอแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เพื่อพึ่งพาประสบกาณ์และความชำนาญจากเจ้าของแฟรนไชส์ที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการก่อร่างสร้างธุรกิจ

สองพี่น้องจึงใช้เครือข่ายข้อมูลอินเตอร์เน็ตให้เป็นประโยชน์ค้นหาไปยังเว็บไซต์ต่างๆ และก็พบว่า "ไซบีเรีย" เป็นอินเตอร์เน็ตแฟรนไชส์เพียงแห่งเดียวในโลกที่มีความเป็น "อินเตอร์" มากกว่าแฟรนไชส์ประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแค่ร้านท้องถิ่นธรรมดาๆ

ไซบีเรีย เป็นร้านไซเอบร์คาเฟ่ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปี โดยมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ขยายสาขาไปยังฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และโตเกียว ซึ่งเมืองไทยจะเป็นแห่งที่สองในย่านเอเชียแปซิฟิกของไซบีเรีย

สำหรับในเมืองไทย แนวคิดในเรื่องไซเบอร์คาเฟ่กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดของบรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) เพียงแต่ร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่จะดัดแปลงจากต่างประเทศ หรือ เสริมธุรกิจเดิมให้ทันกับยุคสมัย เช่น ร้านไอศกรีมไฮเกนดาส ที่มีคอมพิวเตอร์ไว้ให้ทดลองใช้อินเตอร์เน็ตเมื่อซื้อไอศกรีมครบ 50 บาท หรือการตั้งร้านไซเบอร์คาเฟ่ของกลุ่มชมะนันทน์กรุ๊ปที่เป็นหนึ่งในไอเอสพีที่เพิ่งเปิดตัวไปบนอาคารเพลินจิตพลาซ่า หรืออีกหลายรายที่แฝงตัวอยู่ในชุมชนของกรุงเทพฯ

แต่หากจะถามหาความสำเร็จทางด้านรายได้ ดูเหมือนว่าจุดคุ้มทุนยังห่างไกลจากความเป็นจริงนัก ดูได้จากไซเบอร์ผับใต้ถุนโรงแรมดุสิตธานีคงเห็นได้ชัดว่ารายได้ส่วนใหญ่นั้นมาจากค่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก หรือไฮเกนดาสก็มีลูกค้าทดลองใช้ประปรายเพราะหลายคน ยังเชื่อว่ายังเป็นเรื่องใหม่มากและอาจเป็นเพียงแค่ธุรกิจแฟชั่นที่ฮือฮาในระยะแรกเท่านั้น

การเปิดตัวของไซบีเรีย ซึ่งเป็นแฟรนไชส์จากอังกฤษจึงเป็นเรื่องท้าทายยิ่งนัก ว่าจะฉีกกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้หรือไม่

กุลเทพเล่าว่า คอนเซ็ปต์ของร้านไซบีเรียจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ร้านขายกาแฟและมีคอมพิวเตอร์ให้ใช้เท่านั้น แต่จะให้บริการทุกอย่างที่เกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตภายใต้คอนเซ็ปต์ "ONE STOP INTERNET PLACE" คือ รับทำทุกอย่างเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตยกเว้นการเป็นไอเอสพี

"คนหลายคนรู้ว่าอินเตอร์เน็ตคืออะไร แต่ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วประโยชน์มีมากเพียงใด ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตคอนเซ็ปต์ของไซบีเรียจะเป็นตัวเชื่อม่ช่องว่างเหล่านี้"

กุลเทพเล่าว่ารูปแบบของร้านไซบีเรียจะมี 3 ส่วนหลักๆ คือ ชั้นล่างจะเป็น "คาเฟ่" จะเน้นบรรยากาศสบายๆ มีกาแฟ น้ำชา แซนด์วิช เค้กให้บริการ และคอมพิวเตอร์ 15 เครื่องพร้อมกับคู่สายเช่าความเร็วสูง 28 กิ๊กกะเฮิรตซ์เชื่อมไปยังล็อกซ์อินโฟร์ไว้ให้บริการ

ชั้นสองจะเป็นอินเตอร์เน็ตเทรนนิ่งจะมีคอมพิวเตอร์อีก 15 ตัว กุลเทพเล่าว่า จะนำหลักสูตรการอบรมมาจากบริษัท "ออสกิน" ในอังกฤษ ซึ่งทำธุรกิจทางด้านนี้มา 2 ปีแล้ว หลักสูตรจะมีตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงระดับมืออาชีพ

ส่วนชั้นสาม ถูกจัดเป็นสำนักงานที่ไว้บริการและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการวางระบบอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ต ซึ่งเมืองไทยจะเป็นไซบีเรียแห่งแรกที่มีบริการประเภทนี้ โดยจะร่วมมือกับ "อีซีเน็ต" เซอร์วิสโพรไวเดอร์ของอังกฤษ

เป้าหมายของกุลเทพนั้น เขาไม่ต้องการสร้างให้ไซบีเรียเป็นแค่สถานที่ให้คนเข้ามาทดลองให้ชั่วโมงสองชั่วโมงแล้วก็ไปเหมือนดังเช่นที่เกิดกับไซเบอร์คาเฟ่ทั่วไป แต่เขาหวังให้ไซบีเรียเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมทางอินเตอร์เน็ต ที่ไว้ให้กับทุกคนทุกเพศทุกวัยจะต้องเข้ามาใช้จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมืองไทย

การจัดกิจกรรมภายในร้านจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ร้านไซบีเรียให้ความสำคัญมาก เพื่อดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการตลอดเวลา ซึ่งเขาจะอาศัยเครือข่ายของไซบีเรียในแต่ละประเทศในการทำกิจกรรมร่วมกัน กุลเทพยกตัวอย่างว่า ไซบีเรียที่โตเกียวถ่ายทอดสดการจัดแฟชั่นโชว์ของ "ยามาโมโต้" ดีไซเนอร์ชื่อดังผ่านทางอินเตอร์เน็ต และไซบีเรียในอังกฤษและฝรั่งเศส เขียนคำถามต่างๆ ส่งผ่านอีเมลมาเพื่อให้ยามาโมโต้ตอบไขข้อข้องใจทันที

"นี่คือสิ่งที่ได้จากไซบีเรีย เพราะการที่เป็นโกบอลเน็ตเวิร์คที่จะทำกิจกรรมร่วมกันผ่านเครือข่ายได้ ซึ่งหากเราเปิดเองเราจะทำไม่ได้เพราะเราไม่มีเน็ตเวิร์คเหล่านี้"

ขณะเดียวกันเว็บไซต์ของไซบีเรีย ซึ่งทำในลักษณะเดียวกับทีวีจะมีรายการต่างๆ มาเผยแพร่ตอลดทั้งวัน อาทิ ข่าวการจัดสัมมนา หรือการถ่ายทอดกิจกรรมสำคัญๆ ต่างๆ

ดังนั้นการออกแบบร้านจึงเป็นส่วนหนึ่งที่กุลเทพให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เขาเชื่อว่าหากออกแบบไม่ดีหรือน่ากลัวเกินไปคนที่ไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ก็ไม่กล้าเข้า ดังนั้นการดีไซน์จะต้องให้ความรู้สึกที่ดี และเหมาะกับคนทุกวัย

กุลเทพว่าจ้างเบอร์นาร์ด บราวน์ สถาปนิกชื่อดังจากอังกฤษ ซึ่งเคยออกแบบร้านไซบีเรียมาแล้ว 3 แห่ง ปารีส แมนเชสเตอร์ และนิวยอร์กมาตกแต่งร้านให้ ซึ่งจะตั้งอยู่หัวมุมถนนสุขุมวิท 26 อันเป็นทำเลที่ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะมาได้ข้อสรุป

ร้านไซบีเรียในแต่ละแห่งจึงไม่เหมือนกัน ร้านไซบีเรียในแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยจะเป้นร้านเล็กๆ ที่เน้นความสนุก ขณะที่ในปารีสซึ่งตั้งอยู่ในปอมปาดูเซ็นเตอร์จะออกแบบมาในแนวไฮเทค ส่วนในไทยนั้นกุลเทพบอกว่าจะผสมผสานทั้งวัฒนธรรมของไทยเอาไว้ด้วย จุดที่สำคัญคือต้องมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

นอกจากนี้กุลเทพยังวางแผนไปถึงการทำแมกกาซีนไซบีเรีย ที่ไม่เน้นเนื้อหาเทคนิคแต่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับโลกของการออนไลน์ ไลฟ์สไตล์บนอินเตอร์เน็ต ซึ่งไซบีเรียของอังกฤษได้เริ่มทำเป็นรายแรกเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา

รวมถึงการทำธุรกิจเมอร์แชนไดส์ ผลิตเสื้อยืด หมวก กระเป๋า แผ่นดิสก์ ปะยี่ห้อไซบีเรียออกขาย เรียกว่าแบบครบวงจร

ในเร็ววันนี้ไซบีเรียจะถือกำเนิดขึ้นในไทย และเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ไซเบอร์คาเฟ่ ที่มีต้นฉบับจากอังกฤษจะสัมฤทธิ์ผลในเมืองไทยหรือไม่ หรือจะเป็นแค่แฟชั่นที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.