อีกมุมหนึ่งของคดีประวัติศาสตร์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่มีใครเถียงว่าคดีฉ้อโกงประชาชนและกระทำผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินของชม้อย ทิพย์โส และพวกเป็นคดีประวัติศาสตร์ และหลายๆ คนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้จะต้องจำไปจนวันตาย

หลายๆ คนที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงบรรดาลูกแชร์ที่ถูกฉ้อโกงเงินทองไป แต่ “ผู้จัดการ” หมายถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เป็นพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ของกรมอัยการ

จากวันที่ 26 มิถุนายน-9 สิงหาคม 2528 รวมเวลาทั้งหมด 45 วัน รวมวันเสาร์อาทิตย์ พนักงานสอบสวนต้องทำการสอบสวนและบันทึกคำให้การของผู้เสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,473 ราย เป็นเอกสารจำนวน 71,521 แผ่น ค่าเสียหายที่ได้รับแจ้งเป็นเงิน 4,822,048,191 บาท

แยกเป็นสำนวนการสอบสวนพยานเอกสาร คำให้การผู้กล่าวหาและผู้ต้องหา 2,433 แผ่น

คำให้การผู้เสียหาย สัญญากู้จำนวน 68,786 แผ่น และบัญชีท้ายสำนวน 302 แผ่น

วันที่ 3 กันยายน 2528 เป็นวันที่กองปราบปรามต้องส่งมอบเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ให้กับกรมอัยการ

ปรากฏว่าต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 10 คน ช่วยกันแบกกล่องขนาดใหญ่ 19 กล่องที่ภายในบรรจุเอกสารที่รวบรวมใส่แฟ้มจำนวน 170 แฟ้ม

บัญชีรายชื่อผู้เสียหายที่ร้องทุกข์ด้วยตนเอง 19 ชุดบรรจุในกล่องอีก 6 กล่อง และสมุดสารบัญชีรายชื่อผู้เสียหายอีก 15 เล่มโต

สิ่งของที่ไม่ใช่เอกสารได้แก่วิดีโอเทป 7 ม้วน เทปบันทึกเสียงการแถลงข่าวของชม้อย ทิพย์โส 2 ตลับ

ทั้งหมดนี้เจ้าหน้าที่ขนใส่รถบรรทุกขนาดกลาง 2 คัน นำไปมอบต่อให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอัยการ ด้วยความโล่งใจของพนักงานสอบสวน

ที่จะต้องหน้ามืดเป็นรายต่อไปก็ได้แก่พนักงานอัยการ ซึ่งต้องอ่านเอกสารทั้งหมดเพื่อสรุปเป็นสำนวนฟ้องต่อศาล

โดยมีเวลาทั้งหมด 20 วัน 20 วันเท่านั้น

โชคดีครับพนักงานอัยการทั้งหลาย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.