ก.ล.ต.เชือด"อรพิน"ฐานปันหุ้นTPIPL


ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ก.ล.ต.กล่าวโทษ"อรพิน เลี่ยวไพรัตน์" และ พนักงาน ต่อตำรวจเศรษฐกิจในข้อหาปั่น-พยุงหุ้นทีพีไอโพลีน (TPIPL) ช่วงก.พ.-มี.ค. ระบุชัดเคาะซื้อ-แตกคำสั่งซื้อขาย โยนกันชัดเจน ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาโวยเบื้องหลัง ก.ล.ต.กลั่นแกล้งต้องการทุบหุ้นบริษัท ยกคำกลอนฝากดาบคืนสนอง "ประสาร" ยันไม่กระทบแผนขายหุ้นเพิ่มทุน ขณะที่ราคาหุ้น TPIPL เดินหน้าสวนกระแสบวกเพิ่มอีก 0.95% ด้านคดีล้มบนฟูกอดีตผู้บริหาร บง.เอฟซีไอ "คุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์" พร้อมพวกเบี้ยวนัดพนักงานสอบสวน บช.ก.ตั้งชุดไล่ล่าตามจับกุม พร้อมดำเนินคดีผู้ให้ที่พักพิงผู้ต้องหา ตามหมายจับทั้ง 8 ราย

วานนี้ (18 ธ.ค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวโทษนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ และนางวรัญญู พรหมมาศ ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติ เพื่อสอบสวนดำเนินคดี กรณีสร้างและพยุงราคาหุ้นบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) (TPIPL) เป็นผลให้ราคาหุ้น TPIPL ไม่สอดคล้องกับสภาพปกติของตลาดฯ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการซื้อขายหุ้น TPIPL ก.ล.ต. พบว่าระหว่างวันที่ 25 ก.พ. ถึง 27 มี.ค. ที่ผ่านมา นางอรพิน ร่วมกับนางวรัญญู ซื้อหุ้น TPIPL ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 16,471,900 หุ้น ผ่านบัญชีนิติบุคคลและบุคคลอื่น โดยเคาะซื้อต่อเนื่อง และแตกคำสั่งซื้อเป็นคำสั่ง ย่อย ๆ รวมทั้งซื้อเพื่อทำราคาปิดช่วง call market (จับคู่หุ้น) เป็นผลให้ราคาหุ้น TPIPL ปรับสูงขึ้นจาก 16 บาท ในวันที่ 24 ก.พ. เป็นราคาหุ้นละ 17 บาท วันที่ 27 ก.พ. ต่อมา ซื้อลักษณะพยุงราคาหุ้น TPIPL ให้อยู่คงที่ราคา 17 บาท เป็นเวลา 20 วันทำการต่อเนื่อง เป็นผลให้ราคาหุ้น TPIPL ผิดจากสภาพปกติของตลาดฯ

สำนักงาน ก.ล.ต.เห็นว่า การกระทำดังกล่าว เข้า ข่ายทำความผิด ตามมาตรา 243 (2) พระราชบัญญัติ หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ประกอบมาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา จึงกล่าวโทษบุคคลดังกล่าวต่อ สศก. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

ผู้บริหารระดับสูงทีพีไอโพลีน กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวโทษนางอรพิน เลี่ยวไพรัตน์ และนางวรัญญู พนักงานทีพีไอโพลีน ข้อหาปั่นหุ้น

ขอยืนยันว่า เราไม่ผิด และนางอรพิน ก็ไม่เคย มีประวัติที่ด่างพร้อย แต่ถูกกลั่นแกล้ง แต่การกล่าว โทษครั้งนี้ ทำให้บั้นปลายชีวิตของนายประสารด่างพร้อย จึงขอใช้โคลงของศรีปราชญ์ ที่กล่าวว่า "ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน เราก็ศิษย์อาจารย์ หนึ่งบ้าง เรา ผิดท่านประหาร เราชอบ เราบ่ผิด ท่านมล้าง ดาบนี้ คืนสนอง"

แหล่งข่าวกล่าวว่า แม้นางอรพินถูก ก.ล.ต.กล่าว โทษข้อหาปั่นหุ้น แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบแผนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทีพีไอโพลีน ช่วงกลาง ม.ค. 2547

"เนื่องจากเรารู้ดีว่า จะถูกกลั่นแกล้ง จึงได้ให้นางอรพินลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทฯ ทำให้ ก.ล.ต.อนุญาตให้บริษัทขายหุ้นเพิ่มทุนได้" แหล่งข่าว กล่าว

นางอรพินลาออกจากทีพีไอโพลีนวันที่ 21 พ.ย. ปีนี้ หลังจากก.ล.ต.ตั้งเงื่อนไขให้นางอรพินลาออก เพื่อ ให้บริษัทเดินหน้าขายหุ้นเพิ่มทุนต่อได้

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น TPIPL วานนี้ ยังเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ เพิ่ม 0.95% อยู่ที่ 53 บาทต่อหุ้น มูลค่า ซื้อขายรวม 340.04 ล้านบาท

ราคาหุ้น TPIPL ที่ปรับตัวสูงขึ้น แหล่งข่าวกล่าว ว่า แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนเชื่อมั่นบริษัท ขณะที่การ ซื้อหุ้นของนางอรพินสะท้อนว่าไม่ได้ซื้อหุ้นแพง หรือ เพื่อหวังเก็งกำไรแต่อย่างใด เพราะตัวเลขประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจซื้อ เป็นเรื่องจริง ซึ่งปัจจุบัน จำนวนหุ้นดังกล่าวยังอยู่ในพอร์ตของบริษัท ทีพีไอ ทาวเวอร์ จำกัด

"การกล่าวโทษนางอรพินของ ก.ล.ต.ครั้งนี้ ถือว่าก.ล.ต.กลั่นแกล้งบุคคลที่บริสุทธิ์ ซึ่งถือว่ากระทำ ผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ถือเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการพยายามทำให้ราคาหุ้น TPIPL ลดลง ซึ่งคุณอรพินไม่มีปัญหาอะไร เพราะเขาลาออกไปแล้ว แต่จะเดินทางไปชี้แจงตำรวจตามหมายเรียก"

นายวรุฒ ศิวะศริยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก กล่าวว่าการประกาศกล่าวโทษอดีตผู้บริหาร TPIPL จะมีผลกระทบราคาหุ้นบริษัทฯแน่นอน แต่ไม่น่าจะรุนแรง เนื่องจากราคาหุ้นรับข่าวนี้ก่อนหน้านี้แล้วรวม ทั้งอาจกระทบภาวการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นไทยโดยรวมด้วย แม้ไม่มาก เขาเชื่อว่าดัชนีจะแกว่งตัวต่อเนื่อง ขึ้นลงระดับ 700 จุดอีกระยะหนึ่ง

การกล่าวโทษนางอรพิน และ นางวรัญญู ครั้งนี้นับเป็นคดีปั่นหุ้นรายที่สองของปีนี้หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯส่งเรื่องการซื้อขายที่ผิดปกติของ บริษัทกฤษดามหานครหรือKMC โดยมีนักลงทุน 2 รายและโบรกเกอร์ 4 รายที่เกี่ยวข้องให้ก.ล.ต.ตรวจสอบไปก่อนหน้านี้ แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ได้ส่งกล่าวโทษสศก.

อดีตผู้บริหาร บง.เอฟซีไอ เบี้ยวนัด

ด้านความคืบหน้าของการดำเนินการเอาผิดกับผู้บริหารสถาบันการเงินฉ้อโกง วานนี้ พล.ต.ต. สุวัฒน์ ธำรงศรีสกุล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวน กลาง ในฐานะหัวหน้าชุดติดตามคดีสถาบันการเงินทำ ผิดเกี่ยวกับกฎหมายเศรษฐกิจ กล่าวภายหลังจากคุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ นายวีระไชย หรือพงศ์อิทธิ์ ว่องไพฑูรย์ นายสันติ บูรณศิริ อดีตผู้บริหารบริษัท เงินทุน (บง.) เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเมนท์ จำกัด (มหาชน) (เอฟซีไอ) 3 ผู้ต้องหา ตามหมายจับศาล ฐานทำผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ไม่ได้เดินทางเข้ามอบ ตัวต่อพนักงานสอบสวน กองบัญชาการสอบสวนกลาง ตามที่นัดหมายไว้ ว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ติดต่อมา แต่ชุดสืบสวนกำลังเร่งติดตามจับกุมตัวอยู่ ไม่ว่าจะเข้ามอบตัวหรือไม่ รวมทั้งรายที่เหลืออยู่คือ นายนิกร พรสาธิต นางดาวรุ่ง พรสาธิต อดีตผู้บริหารบริษัทเงิน ทุนหลักทรัพย์ (บงล.) ไทยแคปปิตอล จำกัด (มหา-ชน) นายสมคิด สง่าธีระภาพ นายพงศ์ ศิริเลิศพานิช นายกิติกร ธันญวงศ์ หรือ ศิริเลิศพานิช อดีตผู้บริหาร บง. มหาทุน จำกัด (มหาชน)

พล.ต.ต.สุวัฒน์กล่าวว่า ผู้ต้องหาบางรายมีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่ต้น โดยหลบหนีไปพึ่งบารมี ผู้มีอิทธิพล ก็ต้องดำเนินการจับกุม โดยไม่มีการละเว้น รวมทั้งผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ทำผิด ก็จะมีความผิด ฐานให้ที่พักพิง และซ่อนเร้นผู้ต้องหา

สำหรับคดีอดีต 2 ผู้บริหารบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.) ธนพัฒน์ จำกัด คือนายธนพล เสรีประเสริฐศิลป์ อดีตกรรมการผู้จัดการ และนายปวิช สุทันต์ อดีตผู้บริหาร บริษัท ซึ่งทำผิดตาม พ.ร.บ. ประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 จริง ทำให้เกิดความ เสียหาย 6,284,987 บาท พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 4 ธนบุรี เตรียมยื่นฟ้องต่อ ศาลอาญาธนบุรี วันที่ 23 ธ.ค.นี้

ส่วนนายวีระ มานะคงตรีชีพ อดีตกรรมการผู้จัดการ บงล.ซิทก้า จำกัด (มหาชน) จำเลยคดีฐานทำให้เกิดความเสียหายแก่ บงล.ซิทก้า เป็นเงินกว่า 240 ล้านบาท อยู่ระหว่างประกันตัวชั้นศาล ซึ่งศาลนัดเปิดแถลงคดีวันที่ 25 ธ.ค.นี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.