สหวิริยาฯซื้อCD-SSI ลดกังวลไดลูทชั่น35%


ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ถือหุ้นใหญ่สหวิริยาสตีล ควักเงินซื้อหลักทรัพย์ หุ้นกู้แปลงสภาพ CD-SSI จำนวน 2,347.5 ล้านบาท จากแบงก์กรุงศรีฯ ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ โบรกเกอร์ระบุการตัดสินใจซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพจากเจ้าหนี้ครั้งนี้ จะช่วยลดความกังวลที่เกิดจากไดลูทชั่น เอฟเฟกต์ เมื่อมีการใช้สิทธิแปลงสภาพถึงประมาณ 34.89%

นายจำลอง อติกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)ขอชี้แจงข้อมูลการซื้อหลักทรัพย์ หุ้นกู้แปลงสภาพของ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) (CD-SSI) จำนวน 1,200 ล้านบาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ซึ่งเมื่อรวมกับ CD-SSI ที่ธนาคารมีอยู่เดิม จำนวน 1,200 ล้านบาท รวมเป็น CD-SSI จำนวนทั้งสิ้น 2,400 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะจำหน่าย CD-SSI จำนวน 2,347.5 ล้านบาท ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงไว้แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างหนี้เดิม ทั้งนี้การซื้อ CD จำนวน 1,200 ล้านบาท และการจำหน่าย CD-SSI จำนวน 2,347.5 ล้านบาท ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนของธนาคาร

ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน ให้ความเห็นว่า การขายคืนหุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SSI ได้ช่วยลดความกังวลจากการที่เจ้าหนี้จะแปลงสภาพหุ้นกู้นั้น เนื่องจากหากมีการแปลงสภาพ จะทำให้เกิด Dilution effect ถึงประมาณ 34.89%

หุ้นกู้แปลงสภาพดังกล่าวมีจำนวน 2,400 ล้าน บาท ราคาแปลงสภาพที่ 5.25 บาท/หุ้น คิดเป็นจำนวน หุ้นสามัญที่เกิดจากการแปลงสภาพได้ประมาณ 457.14 ล้านหุ้น ขณะที่ปัจจุบัน SSI มีหุ้นทุนชำระแล้วเท่ากับ 853 ล้านหุ้น ซึ่งหากมีการแปลงสภาพจะทำให้มีหุ้นทุนชำระแล้วประมาณ 1,310.14 ล้านหุ้น

การขายคืนหุ้นกู้แปลงสภาพนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างใดต่องบการเงินของ SSI เนื่องจากการขายคืนนี้เป็นการขายคืนให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SSI

ด้วยคุณสมบัติที่เป็นหุ้นกู้ที่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ ในอนาคต หากบริษัทฯต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจ ก็สามารถที่จะนำหุ้นสามัญที่ได้จัดสรรไว้จำนวน 457.14 ล้านหุ้นเพื่อรองรับการแปลงสภาพหุ้นกู้มาขายให้นักลงทุน

ได้ โดยเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อราคาหุ้น SSI เนื่องจากปัจจุบันดีมานด์ความต้องการใช้เหล็ก ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ และอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ บริษัทจะยังได้รับผลดีจากโครงการพัฒนาระบบท่อส่งมูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยโครงการพัฒนาระบบท่อส่งน้ำนี้ จะก่อให้เกิดความต้องการใช้ท่อเหล็กในการติดตั้งท่อส่งน้ำ เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่อุตสาหกรรม ส่งผลให้ผลประกอบการของ SSI ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น

SSI ยังมีโครงการล้าง กัดกรด และชุบน้ำมันในเหล็กแผ่นรีดร้อนให้มีผิวเรียบ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน จากราคาประมาณ 300 ดอลาร์/ตัน เป็นราคา 450-500 ดอลลาร์/ตัน

"เราคาดว่ากลุ่มยานยนต์จะใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนที่ผ่านการล้าง กัดกรด และชุบน้ำมันแล้วจากกลุ่ม SSI ประมาณ 200,000 ตัน และยังคงคาดว่า SSI จะมีกำไรสุทธิ (Normalized profit) ในปี 2546 ประมาณ 3,848 ล้านบาท EPS ประมาณ 4.51 บาท"

จากการที่ SSI ออกหุ้นกู้ 4,000 ล้านบาทนั้น บริษัทได้นำไปชำระหนี้คืนบางส่วน ส่งผลให้บริษัทสามารถโอนกลับดอกเบี้ยค้างจ่ายตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ได้ โดยจากมูลหนี้ที่บริษัทมี 12,000 ล้านบาท บริษัทมีดอกเบี้ยค้างจ่ายดังกล่าวเท่ากับ 1,198 ล้านบาท ซึ่งเราคาดว่าในไตรมาส 4/2546 จะโอนกลับดอกเบี้ยค้างจ่ายดังกล่าวประมาณ 399 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ในปี 2546 SSI มีกำไรสุทธิประมาณ 4,248 ล้านบาท EPS ประมาณ 4.98 บาท

สำหรับปี 2547 ได้แจ้งหยุดผลิตประมาณ 45 วันเพื่อซ่อมบำรุงและจะสามารถกลับมาผลิต ได้ประมาณเดือน ม.ค. 2548 เราจึงคาดว่าเป้าหมาย การผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจะอยู่ที่ประมาณ 2.2 ล้าน ตัน/ปี ดังนั้นเราจึงแนะนำให้ซื้อลงทุน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.