MAJOR เพิ่มทุน 150 ล้านบาท นำเงินใช้ขยายสาขา ที่จะเปิดเพิ่มอีก 6 แห่งในปี
47 มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท โดยหุ้นเพิ่มทุนส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการใช้สิทธิวอร์แรนต์ที่ออกให้กับผู้ถือหุ้นเดิม
ที่จัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ ชนิดระบุชื่อผู้ถือ
และเปลี่ยนมือได้ อายุ 3 ปี ราคาใช้สิทธิ 13 บาท
นายวีรวัฒน์ องค์วาสิฎฐ์ กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป จำกัด
(มหาชน) (MAJOR) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546
ได้มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของ บริษัทจากเดิม 606,500,000 บาท เป็น 757,000,000
บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญใหม่ จำนวน 150,500,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150,500,000 บาท และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 146,927,500
หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์)
ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (MAJOR-W1) ในสัดส่วน 1 หุ้นสามัญต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ
พร้อมแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุนโดยจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน
จำนวนไม่เกิน 3,572,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อรองรับการใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (ESOP-W) เพิ่มเติม เมื่อมีการปรับสิทธิใบสำคัญแสดงสิทธิ ESOP-W ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มทุน
และในกรณีที่มีหุ้นสามัญเหลือ เนื่องจากการไม่ใช้สิทธิแปลงสภาพตามใบสำคัญแสดงสิทธิ
ครั้งที่ 1 (MAJOR-W1) ให้คณะกรรมการพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุม ผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ บอร์ดบริษัทได้ออกวอร์แรนต์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ตามมติของคณะกรรมการบริษัท
ที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนผู้ถือหุ้น วันที่ 28 พฤศจิกายน 2546 เวลา 12.00 น. โดยวอร์แรนต์
ที่ออกและเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เป็นชนิด ระบุชื่อผู้ถือและเปลี่ยนมือได้
อายุ 3 ปี จำนวน 146,927,500 หน่วย ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นในอัตราส่วน
4 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ (ในกรณีที่มีเศษหุ้นให้ปัดทิ้ง) โดยจะดำเนินการจัดสรรหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วราคา
เสนอขาย 0 บาท ต่อหน่วย
สำหรับอัตราการใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์มีสิทธิ ซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ราคาใช้สิทธิ
13 บาท ต่อหุ้น โดยบริษัทได้สำรองหุ้นไว้รองรับการใช้สิทธิ 146,927,500 หุ้น กำหนดระยะการใช้สิทธิวันใช้สิทธิครั้งแรก
คือวันทำการสุดท้าย ณ วันสิ้นสุดไตรมาส ของงบการเงินไตรมาสแรกภายหลังจากครบกำหนด
1 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ และวันใช้สิทธิต่อๆ ไป คือ วันทำการสุดท้าย
ณ วันสิ้นสุดทุกๆ ไตรมาสของ งบการเงินตามรอบปีบัญชีของบริษัท
ทั้งนี้ การที่บริษัทกำหนดการแปลงสภาพวอร์แรนต์ในปีที่ 2 เนื่องจากปีหน้ายังไม่มีความ
จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากนัก และบริษัทฯยังมีเงินเพียงพอที่จะขยายการลงทุนเพียงพอ
จะเห็น ได้จากปีนี้ บริษัท EBITDA ประมาณ 800-900 ล้านบาท แต่ใช้ในการลงทุนซื้อหุ้น
บริษัทสยามฟิวเจอร์ (SF) และ CFC เพียง 600-700 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งการลงทุนใน
SF เพียง 180 ล้าน บาท แต่ขณะนี้ VALUE กำไรอยู่ที่ 500 กว่าล้าน บาท ซึ่งถือเป็น
Hidden Value ที่ไม่ได้บันทึกในงบการเงินของเมเจอร์
สำหรับเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายสาขา โดยจะเปิดสาขาเพิ่มที่สาขาทองหล่อ
อาคารโครงการสยามฟิวเจอร์ เจ-อเวนิว ซึ่งตั้งอยู่ถนนทองหล่อ สุขุมวิท 55 กับเจ้าของโครงการ
บริษัท สยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อลงทุนใน ธุรกิจโบว์ลิ่ง
จำนวน 12 เลน คาดว่าจะสามารถ เปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2547
นอกจากนี้ ยังให้เปิดสาขาฉะเชิงเทรา ในพื้นที่โครงการสยามฟิวเจอร์ เพาเวอร์เซ็นเตอร์
ฉะเชิงเทรา เพื่อประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ จำนวน 5 โรง และโบว์ลิ่งจำนวน 12 เลน
กับเจ้าของโครงการบริษัท สยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะสามารถ
เปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2547 และสาขาเซ็นทรัลซิตี้ บางนา ในพื้นที่อาคารเซ็นทรัลซิตี้
บางนา เพื่อดำเนินการธุรกิจโบว์ลิ่ง จำนวน 20 เลน กับเจ้าของอาคาร บริษัท เซ็นทรัล
เพลย์แลนด์ จำกัด คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาส 2 ปี 2547 และสาขาเซ็นทรัลแอร์พอร์ต
พลาซา เชียงใหม่ โดยจะดำเนินธุรกิจ โรงภาพยนตร์เพิ่มอีกจำนวน 4 โรง จากของเดิม
ที่มีอยู่ 7 โรง รวมเป็น 11 โรง และทำโบว์ลิ่งจำนวน 16 เลน กับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา
เชียงใหม่ จำกัด คาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่ 2 ปี 2547
สาขาแจ้งวัฒนะ ในพื้นที่อาคารโครงการ สยามฟิวเจอร์ แจ้งวัฒนะ อเวนิว เพื่อประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์
จำนวน 7 โรง และโบว์ลิ่งจำนวน 18 เลน กับเจ้าของโครงการบริษัท สยาม ฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์
จำกัด (มหาชน) คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2547
สาขาปิ่นเกล้า ในพื้นที่อาคารโครงการของ บริษัท เพชรปิ่นเกล้า จำกัด เพื่อประกอบธุรกิจ
โรงภาพยนตร์ จำนวน 8 โรง และโบว์ลิ่งจำนวน 20 เลน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณไตรมาสที่
4 ปี 2547 รวมมูลค่าการลงทุนในโครงการใหม่ที่คณะกรรมการอนุมัติสำหรับปี 2547 ทั้งหมด
600 ล้านบาท
สำหรับการเพิ่มทุนในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนงานของบริษัทที่ตั้งไว้ใน 3 ปีข้างหน้า
เพื่อรองรับแผนการขยายสาขาเพิ่มอีก 15 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมทั้งโครงการสยามพารากอนที่คาดจะใช้เงินลงทุนอีก
700 ล้านบาทในปี 2548-49 ทำให้บริษัทฯจะมีสาขารวมทั้งสิ้น 30 แห่งภายในปี 2549
EGVระดมทุน1.5พันล้านบาทขยายงาน
บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (EGV) ซึ่งดำเนินธุรกิจเหมือนกับ
MAJOR ซึ่งล่าสุดได้ทำการเพิ่มทุนอีก 1,500 ล้านบาท ด้วยการออกหุ้นใหม่ 180 ล้านหุ้น
ราคาพาร์ละ 1 บาท โดยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 115 ล้านหุ้น ให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง
(PP) และออกใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ฟรีให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 65 ล้านหน่วย
อัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ อายุ 5 ปี ราคาใช้สิทธิ 5 บาทต่อหุ้น และใช้สิทธิได้
1 ปี หลังจากวอร์แรนต์จดทะเบียนแล้ว
เพื่อนำไปใช้ในการขยายงานในอีก 2 ปีข้างหน้า คือขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่ง โดยปี
47 จะเปิดบริการได้ 1 สาขา ซึ่งจะขยายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งสาขาที่เปิดใหม่นั้นจะเปิดแบบครบวงจรที่มีทั้ง
โบว์ลิ่ง ฟิตเนส ร้านอาหาร ดีไซน์ รวมทั้งบริการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้เป็นเมืองที่ให้ความบันเทิงเต็มรูปแบบ
การเพิ่มทุนดังกล่าว เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่หลายรายให้ความสนใจที่จะลงทุนร่วมกับบริษัทในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ
ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเอื้ออำนวยให้บริษัทสามารถขยายงานได้อย่างคล่องตัวในอนาคต
ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น และที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ความเห็นชอบในการเพิ่มทุนดังกล่าวแล้ว
ซึ่งจะสรุปผลได้เร็วๆ นี้
โดยปีนี้ EGV ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,500 ล้าน บาท ซึ่งเติบโตจากปีที่แล้ว 30-40%
ส่วนหนึ่งเป็น รายได้จากการเปิดสาขาใหม่คือ Metropolis ที่ราชดำริ แม้ว่ารายได้จะเข้ามาไม่เต็มที่เพราะเปิด
ในช่วงปลายปีของงบการเงินรอบที่ 46/47 แต่ยืนยันว่างบการเงินรอบปีบัญชีหน้า รายได้ของ
EGV จะโตแบบก้าวกระโดด
การระดมทุนของผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ทั้งสองแห่ง แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันทางธุรกิจโรงภาพยนตร์จะรุนแรงมากขึ้น
และรายใดที่ให้บริการครบวงจรและมีความหลากหลายในเมืองบันเทิง น่าจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากกว่า
ซึ่ง MAJOR ได้เปรียบอยู่มากเมื่อเทียบกัน