สงครามจอตู้ระอุรับชินฯ


ผู้จัดการรายวัน(18 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

สมรภูมิการแข่งขันจอตู้ระอุ หลังกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เปิดตัวพันธมิตรร่วมลงทุน "ไตรภพ-กันตนา" เปิดสงครามเต็มรูปแบบ ดันไอทีวีรุกธุรกิจด้านโทรทัศน์และบันเทิงอย่างครบวงจร ไตรภพประกาศขอเป็นที่ 1 ให้เร็วที่สุด เตรียมจีบ "ปัญญา" มาร่วมผลิตรายการ ช่อง 3 ประชุมเครียดรับมือก่อนออกแถลงการณ์ ระบุ "เป็นเรื่องปกติ" ไม่กระทบ ขณะที่ผู้ผลิต รายการยอมรับแข่งขันสูงขึ้นแน่

วานนี้(17 ธ.ค.) กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เปิดแถลงข่าวถึงการร่วมทุนในธุรกิจบันเทิงหลังจากขยายการลงทุนธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำและธุรกิจให้บริการสินเชื่อ บุคคล

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า กลุ่มชินมองธุรกิจ บันเทิงเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพขยายตัวสูงในอนาคต จึงเสริมพันธมิตร ใหม่ 2 รายให้เข้ามาร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ไอทีวี คือ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และบริษัทกันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะเป็น Strategic Partner รายการบันเทิงทุกรูปแบบ ให้ไอทีวี

โดยไอทีวีออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาส่วนลดจากราคาตลาดถัวเฉลี่ย 120 วัน มีมูลค่าการ ลงทุนทั้งสิ้นรวม 3,000 ล้านบาท ซึ่ง พันธมิตรทั้ง 2 ราย จะจ่ายเงินสดซื้อหุ้นให้ไอทีวีรายละ 1,500 ล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของพันธมิตรธุรกิจทั้ง 2 ราย จะเกิดขึ้นหลังจากผลของการเข้ามาตรวจสอบ (Due Deligence) บริษัทไอทีวี และการได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการซื้อหุ้นจำนวนมาก ทั้งนี้ จำนวนเงินที่ได้จากพันธมิตรคงไม่สามารถนำมาล้างขาดทุนสะสมของไอทีวีที่มีอยู่จำนวนมากได้หมด แต่ คงนำไปใช้หนี้บางส่วนเท่านั้น

"การดึงไตรภพ และกันตนาเข้ามาในไอทีวี จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้าน อุตสาหกรรมบันเทิงในอนาคต ทำให้เกิดทางเลือกสำหรับประชาชน และจะเป็นแหล่งผลิตรายการและเนื้อหาของกลุ่ม ที่มีเครือข่ายที่ครบวงจรทั้งดาวเทียม โทรศัพท์เคลื่อนที่ และเทคโนโลยีบรอดแบรนด์" นายบุญคลีกล่าว

สร้างโมเดลสู่อันดับหนึ่งใน 5 ปี

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรม การบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า พันธมิตรใหม่ไอทีวีจะเข้ามาร่วมงานกับไอทีวีในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า โดยในเดือน ก.พ. 2547จะแถลงข่าวปรับผังรายการใหม่

ทั้งนี้ นายไตรภพจะถอนรายการทั้ง 4 รายการ ที่อยู่กับช่อง 3 มาอยู่ที่ไอทีวี ส่วนกันตนาจะนำรายการที่ออกอากาศอยู่ในสถานีทีวีทุกช่อง ยกเว้นรายการที่อยู่กับช่อง 7 มาอยู่ที่ไอทีวีเพียงแห่งเดียวเช่นกัน เมื่อนำรายการเหล่านี้มาผนวกกับรายการข่าวและสาระของไอทีวี จะทำให้ภาพรวมรายการของไอทีวีทั้ง หมดเป็นที่นิยมของประชาชน และสร้างความเจริญให้กับไอทีวีอย่างถาวร และมั่นคงในอนาคตต่อไป

การเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับไอทีวีของนายไตรภพครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือหุ้น หรือผู้ผลิตราย การให้เท่านั้น แต่ถือเป็นหุ้นส่วนแห่งอนาคต โดยนาย ไตรภพจะเข้ามามีตำแหน่งบริหารในไอทีวีด้วย รับผิด ชอบทางด้านผังรายการ การประชาสัมพันธ์ ภาพลักษณ์ขององค์กร และการหารายได้ ในเบื้องต้นจะรับตำแหน่งกรรมการบริษัทก่อน แต่จะมีตำแหน่งบริหารอื่นด้วย ซึ่งยังไม่สามารถระบุชื่อตำแหน่งที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ โดยไตรภพมีสัญญาจะถือหุ้นและ ร่วมบริหารกับไอทีวีอย่างน้อย 5 ปี

"การดึงผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง และประสบความสำเร็จในวงการบันเทิงมาร่วมถือหุ้นในไอทีวี เป็นโมเดลที่จะผลักดันให้ไอทีวีประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เพราะการดึงเพียงผู้ผลิตมาผลิตรายการให้ ไอทีวีเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมง คงไม่สามารถทำให้ ไอทีวีประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ไอทีวีมีเป้าหมายจะขึ้นเป็นสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ภายใน 5 ปี โดยระยะสั้นนี้จะขึ้นเป็นที่ 3 แบบทิ้งห่างที่ 4-5 อย่าง เห็นได้ชัด" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเสริมพันธมิตรบันเทิงใหม่ 2 ราย ด้วยการเสริมรายการมาออกอากาศที่ไอทีวี จะไม่ทำให้สัดส่วนรายการบันเทิงเปลี่ยนแปลงไปจาก 30% เพราะจะมีการปรับผังรายการบันเทิงเดิมที่มีอยู่ ออกจากผังรายการใหม่บางส่วนในเดือนก.พ.2547 เพื่อนำรายการของพันธมิตรมาเสริม

เล็งดึงผู้ผลิตชื่อดังเสริมทัพ

นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ประธานบริหาร บริษัท บอร์นแอนด์แอสโซซิเอท จำกัด กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมงานกับชิน คอร์ปอเรชั่น และไอทีวี เพราะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมงาน ดูแลรายการด้านสาระและบันเทิงของสถานี โดยจะใช้ประสบการณ์ด้านการผลิตราย การที่มีกว่า 20 ปี ผนวกกับจุดแข็งของไอทีวีที่เป็นสถานีข่าวมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ เพิ่มความหลากหลายและสร้างสีสันให้ไอทีวีเป็นสถานีที่มีความโดดเด่นทั้งด้านสาระและบันเทิงเต็มรูปแบบ รวมทั้งจะผลักดันให้ไอทีวีเป็นสถานีอันดับ 1 ในอนาคตเร็วที่สุด

การเข้ามาร่วมงานกับไอทีวีครั้งนี้มีการเจรจาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้คำนึง ถึงการยื่นอุทธรณ์ขอลดค่าสัมปทานกับคณะอนุญาโตตุลาการของไอทีวี โดยยอมรับได้ทุกคำตัดสิน เพราะ ถึงแม้ไอทีวีจะได้ลดสัมปทานหรือไม่ก็ยินดีจะเข้ามาถือหุ้น เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต

"ความใฝ่ฝันของคนวงการบันเทิงที่ทำงานมาก ว่า 20 ปี คือต้องการนั่งเป็นผู้บริหารสถานีทีวี ซึ่งไอทีวีได้ให้โอกาสนี้กับผม การตัดสินใจครั้งนี้ได้บอก ให้คุณประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 ทราบแล้ว และเป็นการจากกันด้วยดี โดยได้ไปกราบลา ไม่ได้ลากันแบบธรรมดาทั่วไป คุณประวิทย์บอกผมว่าให้ตั้งใจทำงาน สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ และย้ำว่าช่อง 3 ยังเป็นมิตรเสมอ" นายไตรภพ กล่าว

สำหรับการเข้ามาบริหารไอทีวีครั้งนี้ มาในนาม ส่วนตัวโดยไม่ได้นำเอาบริษัทบอร์นฯเข้ามาถือหุ้น เพราะบอร์นเป็นบริษัทผู้ผลิต ที่อาจจะขยายตัวไปสู่ธุรกิจอื่นในอนาคต จึงไม่เหมาะจะมาเป็นผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์การเข้ามาร่วมงานกับไอทีวีครั้งนี้ ต้อง การสร้างความมั่งคั่งให้ไอทีวี ไม่ใช่ให้บอร์น ดังนั้นในฐานะผู้บริหารยินดีจะเปิดรับผู้ผลิตรายการชื่อดังทุกรายเข้ามาร่วมงานกับไอทีวี ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าง การเจรจากับผู้ผลิตบางราย โดยเฉพาะผู้ผลิตชื่อดังอย่างนายปัญญา นิรันดร์กุล แห่งเวิร์กพ้อยต์

กันตนาเซ็งทีวีปรับผังบ่อย

นายสมชาติ อินทรทูต ประธานกรรมการบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กันตนามอง ว่าวงการบันเทิงไทยยังเติบโตได้อีกมาก และการร่วมทุนกับไอทีวีครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความหลากหลาย เมื่อ กลุ่มชินฯ และไอทีวีได้เข้ามาชักชวนร่วมทุนเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นแนวทางการเจริญเติบโตที่ดีของกันตนาและสามารถขยายธุรกิจร่วมไปกับไอทีวี และกลุ่มชินฯได้ด้วย

ทั้งนี้ การที่ไม่สามารถถอนรายการจากช่อง 7 มาอยู่ในไอทีวีได้ เพราะกันตนาดำเนินธุรกิจบันเทิงมากว่า 50 ปี และช่อง 7 ก็เป็นพันธมิตรที่ดี โดยรายการทั้งหมดของกันตนาอยู่ที่ช่อง 7 ประมาณ 50% และช่อง 7 ไม่เคยเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง ที่จะส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนผังรายการตาม โดยที่ผู้ผลิตมีสิทธิ์หลุดจากผังรายการใหม่ได้ตลอดเวลา สำหรับรายการที่กระจายอยู่กับช่องอื่นๆ คาดว่ามีจำนวน 5-6 รายการ จะนำมาออกอากาศที่ไอทีวีทั้งหมด

การลงทุนด้านธุรกิจด้านบันเทิงของกลุ่ม ชินคอร์ปครั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายของบริษัทฯ ที่นาย บุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกลุ่มชินคอร์ป ได้ประกาศว่า กลุ่มชินคอร์ป จะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่น เพื่อแตกไลน์ธุรกิจออกไปจากสื่อสารที่เป็นอยู่ปัจจุบัน โดยการลงทุนในธุรกิจบันเทิง มีเป้าหมายเพื่อต่อยอด กับธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งจะเข้ามาช่วยด้านเนื้อหาสำหรับบริษัทในเครือ เช่น การผลิตรายการให้สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, เนื้อหาสำหรับบริการมือถือของเอไอเอส หรือแม้แต่เนื้อหาสำหรับบรอดแบนด์ของไอพี สตาร์ นอกจากนั้น ธุรกิจนี้ยังมีอัตราการตอบแทนที่ดี มีค่า พี/อีสูง (อ่าน "ชินคอร์ป" เร่งธุรกิจนอกโทรคมฯ ประกอบ)

ช่อง 3 ประชุมเครียดชี้อนาคต

รายงานข่าวจากไทยทีวีสีช่อง 3 ระบุว่า วานนี้ คณะผู้บริหารสถานีได้ประชุมกันอย่างเคร่งเครียดถึงประเด็นการเตรียมรับมือกับการสูญเสียนายไตรภพหัวหอกคนสำคัญของช่อง 3 แล้วทิศทางผังรายการจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ ช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึง กรณีดังกล่าวว่า ในตอนเช้าวานนี้ (17 ธ.ค.) นายไตรภพ ได้เข้าพบนายประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนในไอทีวี ซึ่งนายประวิทย์ได้รับทราบ การตัดสินใจดังกล่าว ได้แสดงความยินดีและให้ กำลังใจนายไตรภพอย่างดี

ส่วนผลกระทบนั้นช่อง 3 แจ้งว่า การเปลี่ยน แปลงครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาในการทำงาน วงการบันเทิง และขอยืนยัน เรื่องนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผังรายการและการดำเนินงานของช่อง 3 เนื่องจากมีความพร้อมในการเพิ่มความแข็งแกร่ง สีสัน ความหลากหลาย และขีดความสามารถในการ แข่งขันทางธุรกิจเอาไว้พร้อมตลอดเวลา และมั่นใจว่าย่างก้าวสำคัญในวาระครบรอบ 34 ปีของช่อง 3 จะมีรายการรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความสมบูรณ์ ทั้งสาระ และความบันเทิงเกิดขึ้นอีกมาก

"ไตรภพ" หัวใจของช่อง 3

ปี 2527 ไตรภพ ตั้งบริษัท "บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอท" ขึ้นมาด้วยทุนการจดทะเบียน 1 ล้านบาท และผลิตรายการให้กับทางช่อง 3 มากมายรวมทั้งสิ้น 19 รายการด้วยกัน โดยหลายต่อหลายรายการนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยม อาทิ "ฝันที่เป็นจริง" "ทไวไลท์โชว์" ที่ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 12 ปีแล้ว และถือเป็นรายการวาไรตี้ที่ออกอากาศนานที่สุดของ วงการทีวีเมืองไทย "ลัคกี้เกม" ที่ปลุกกระแสช่วงเวลาหลังข่าวให้พุ่งสูงขึ้นถึงนาทีละ 3 แสนกว่าบาท รวมทั้งรายการเกมโชว์อย่าง "เกมเศรษฐี" ที่ปลุกกระแสรายการควิซโชว์ในเมืองไทยขึ้นมากระทั่งทำ ให้มีเกมโชว์อีกหลายต่อหลายรายการที่มีลักษณะคล้ายๆ กันเกิดขึ้น

ปัจจุบันรายการที่บริษัทบอร์นฯผลิตให้กับช่อง 3 มีทั้งสิ้น 4 รายการด้วยกัน คือ"ทไวไลท์โชว์" (2533), จูคบ็อกส์เกม (2539), เกมเศรษฐี (2543) และรายการใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2546 นี้อย่าง"What is it?" โดยแต่ละรายการนั้นล้วนได้รับเสียงตอบรับที่ดีและมีตัวเลขเรตติ้งที่จัดว่าอยู่ในระดับสูงทั้งสิ้น

ผู้ผลิตชี้การแข่งขันสูงขึ้น

นายสรพงษ์ เอื้อชูชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตราย การบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า การย้ายค่ายของพิธีกรชื่อดังไปยังไอทีวีนั้นจะทำให้รายการของไอทีวีนั้นดูหลากหลายขึ้น

"ไอทีวีก็คงต้องมีความแปลกใหม่และหลากหลายขึ้น ดูจากปีที่แล้วที่ผ่านมาเค้ามีการเพิ่มรายการ เอนเตอร์เทนเมนต์ขึ้นมาพอสมควร ด้านการแข่งขัน จริงๆ ตอนนี้มีการแข่งขันกันอยู่ค่อนข้างสูงปกติ แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวแบบนี้การแข่งขันก็อาจจะยิ่งสูงขึ้นอีก ปกติโทรทัศน์แต่ละช่องก็จะมีรายการพวกเกมโชว์,ทอล์กโชว์ อยู่ค่อนข้างเยอะ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะมีรายการไหนโดนใจคนดูเท่านั้นเอง" นายสรพงษ์ กล่าว

นางพิไลวรรณ บุญล้น ที่ปรึกษารายการของบริษัท เจเอสแอล ซึ่งมีรายการทั้งช่อง 5 และช่อง 7 ให้ความคิดเห็นว่าไอทีวีจะมีศักยภาพด้านบันเทิงเพิ่ม ขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับไอทีวีจะเอาหัวหอกอย่างไตรภพไปปรับโฉมให้เน้นบันเทิงเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่

"คุณไตรภพเป็นคนมีความสามารถ ภาพแรกที่เกิดขึ้นก็จะมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น มันอยู่ที่เวลามากกว่าว่าไปแล้วได้ทำสิ่งที่อยากจะทำได้หรือเปล่าขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่างๆด้วย ภาพของไอทีวีที่เป็น สถานีข่าวมานานคนปักใจเชื่อไปแล้ว ภาพของคุณไตรภพที่ทำรายการก็จะเป็นสาระบันเทิงมากกว่า มันอยู่ที่นโยบายมากกว่าว่าทางนั้นจะเอาคุณไตรภพไปทำบันเทิงเลยหรือเปล่า"

แหล่งข่าวจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย(อ.ส.ม.ท.) เปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิด ขึ้นในสถานีโทรทัศน์ไอทีวีขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานีโทรทัศน์ไอทีวีจะออกมาเป็นอย่าง ไร ซึ่งจะต้องดูผังรายการที่ปรับเปลี่ยนใหม่เสียก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

"การปรับเปลี่ยนผังรายการก็เหมือนกับการเปิดตัวสินค้า จะต้องดูว่าผู้บริโภคยอมรับและนิยมในตัวสินค้ามากน้อยเพียงใด ตอนนี้ยังไม่สามารถกล่าวอะไรได้มากนัก แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด" แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าว

หุ้นไอทีวีพุ่ง-ช่อง 3 ร่วง

ขณะที่หุ้นไอทีวี วานนี้ปิด 20.80 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท หรือกว่า 7.77% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2,632 ล้านบาท ขณะที่หุ้นของบริษัทบีอีซีเวิลด์BEC ผู้ดำเนินธุรกิจไทยทีวีสีช่อง3 ปิดที่ราคา 210 บาท ลดลง 10 บาท ลด 4.55% มูลค่าซื้อขาย 298.38 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่า กรณีของ บริษัทบีอีซี เวิลด์ การที่มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการ จะมีผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น เชื่อว่าบริษัทน่าจะมีการหารายการอื่นเข้ามารองรับรายการที่ต้องย้ายไป สถานีโทรทัศน์ไอทีวีได้ และเมื่อพิจารณาที่ปัจจัยพื้น ฐานเชื่อว่ายังน่าลงทุน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.