"ฟอร์ด"บี้รวม3รถหรูอืดกุมบริหารแลนด์โรเวอร์


ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

แผนรวมรถหรู 3 ยี่ห้อ วอลโว่ แลนด์โรเวอร์ และจากัวร์ ภายใต้การดูแลของพีเอจีไทยแลนด์อืด ฟอร์ด ส่งสัญญาณให้รีบปรับด่วน ประธานพีเอจีไทยรับบัญชา โยก คอลิน แอนดรูส์ บอสใหญ่แลนด์โรเวอร์กลับอังกฤษ แล้วนั่งควบเพิ่มอีกตำแหน่ง หวังเข้าไปคุมการบริหารงานโดยตรง ปูทางยึดคุมเบ็ดเสร็จ วอลโว่ และจากัวร์ หลังจากเป็นเสือ กระดาษมานานแรมปี

หลังจากพีเอจี (Premium Automotive Group) หน่วยงานที่ฟอร์ดตั้งขึ้นมาเพื่อ ดูแลการดำเนินงานของแบรนด์รถหรูในเครือฟอร์ด ได้แก่ ลินคอร์น, จากัวร์, แลนด์โรเวอร์ และวอลโว่ ได้เข้ามาเปิดสำนักงานในไทย ในชื่อ พีเอจี ไทยแลนด์ เพื่อดูแล 3 ยี่ห้อรถหรูในไทย วอลโว่, แลนด์-โรเวอร์ และจากัวร์ ปรากฏว่าผ่านมาเป็นปี กลับยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ฟอร์ด มอเตอร์ ไม่พอใจการดำเนินงานของพีเอจีในไทยอย่างมาก เพราะคาดหวังจะให้เป็นต้นแบบในการบริหารงานของพีเอจีในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด แต่จนมาถึงขณะนี้ผ่านมาเป็นปี ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานแต่อย่างใด ที่สำคัญแต่ละยี่ห้อยังคงดำเนินงาน ตามเดิม และไม่ให้ความสำคัญกับพีเอจีไทยแลนด์มากนัก พีเอจีในอังกฤษจึงมีคำสั่งให้สำนักงานในไทยต้องรีบดำเนินงานแก้ปัญหาโดยด่วน

เหตุนี้เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม จึงได้มีการปรับเปลี่ยนในระดับตำแหน่งบริหาร ด้วยการย้ายนายคอลิน แอนดรูส์ ประธานแลนด์โรเวอร์ ไทยแลนด์ ที่เพิ่งเข้ามาบริหารได้เพียง 2 ปี ให้กลับไป ประจำสำนักงานใหญ่แลนด์โรเวอร์ที่ประเทศ อังกฤษ และให้นายริชาร์ด เฮก ประธาน พีเอจี ไทยแลนด์ ทำหน้าที่แทนควบอีกตำแหน่ง โดยจะมีการประกาศอย่างเป็น ทางการในเดือนมกราคม 2547 ที่จะถึงนี้

สำหรับการย้ายนายแอนดรูส์ครั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดทางให้นายเฮกเข้ามาดูแลแลนด์โรเวอร์ได้อย่างเต็มที่ ตามบทบาทของพีเอจีที่ควรจะเป็น และยังเป็นการปูทางให้พีเอจีเข้าไปดูแลอีกสองยี่ห้อที่เหลือตามโครงสร้างการบริหารของพีจีเอทั่วโลก ที่ประธานของรถหรู 3 ยี่ห้อในไทยที่อยู่ในเครือของฟอร์ดแต่ละยี่ห้อจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของประธานพีเอจีไทยแลนด์

โดยรูปแบบการบริหารของพีเอจี ไทยแลนด์ จะดูแลนโยบายโดยรวมของรถยนต์ ในกลุ่มพร้อมกับรวมงานด้านแบ็กออฟฟิศ ทั้งหมดมาไว้กับพีเอจี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟแนนซ์, ธุรการ-บัญชี, บุคคล, ไอที และเครือข่ายการจำหน่าย ที่อาจจะมีการรวมทั้ง 3 ยี่ห้อ ไว้ในโชว์รูมเดียวกัน ตลอดจนการเก็บสต็อกและจัดส่งอะไหล่ ส่วนงานด้านการ ตลาดและขาย แต่ละยี่ห้อจะแยกดำเนินงานชัดเจน เพื่อความเป็นอิสระ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพีเอจีไทยแลนด์

ทั้งนี้ จะว่าไปแล้วรูปแบบดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยน่าจะเริ่มได้ง่าย เพราะแลนด์โรเวอร์ใช้แบ็กออฟฟิศร่วม กับวอลโว่อยู่แล้ว เพียงแค่โอนหน่วยงานเหล่านี้มาให้อยู่ในความดูแลของพีเอจีไทย-แลนด์ ก็จะดำเนินงานได้ทันที แต่ดูเหมือน วอลโว่จะไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่ ทำให้ พีเอจีไทยแลนด์มีสภาพไม่แตกต่างจากเสือกระดาษแต่อย่างใด

ขณะที่รถยนต์จากัวร์ยิ่งไม่สามารถเข้าไปคุมในรายละเอียดได้ เพราะปัจจุบันยังอยู่ในการดูแลของผู้แทนจำหน่าย หรือดิสทริบิวเตอร์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างถูกต้อง บริษัท เอเอเอส ออโตเซอร์วิส จำกัด ซึ่งสัญญาการเป็นผู้แทนจำหน่ายจะหมดลงในเร็วๆ นี้ ดังนั้น พีเอจีไทยแลนด์จึงได้แต่รอ และคาดว่าทุกอย่างจะชัดเจนในปีหน้า โดย เอเอเอสฯ อาจจะยังทำตลาดต่อไป แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด หรือเพื่อให้ชัดเจนพีเอจีไทยแลนด์ก็จะเข้ามาทำตลาดเสียเอง แต่แนวโน้มน่าจะเป็นแบบแรกมากกว่า

ดังนั้น การปรับเปลี่ยนระดับบริหาร โดยประธานพีเอจีไทยแลนด์เข้ามานั่งควบแลนด์โรเวอร์อีกตำแหน่ง จึงเป็นการเข้ามาควบคุมการบริหารงานโดยตรง และจากนั้นก็จะค่อยๆ เข้าไปจัดระบบในวอลโว่ และจากัวร์ให้เป็นไปตามนโยบายของพีเอจีที่ ฟอร์ดวางไว้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.