ปตท.ทุ่ม1.6หมื่นล้านรุกปิโตรเคมีครบวงจร


ผู้จัดการรายวัน(15 ธันวาคม 2546)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท. (PTT) รุกทำธุรกิจ ปิโตรเคมีครบวงจร ประเดิมเตรียมรุกธุรกิจ ปิโตรเคมีเพิ่ม 2 โครงการ ใช้เงินทุน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,000 ล้าน บาท) จีบผู้ผลิต PP ในประเทศร่วมทุน หวังขึ้นแท่นผู้ผลิต PP อันดับหนึ่งของประเทศ คาดสรุปผลได้เร็วๆ นี้ หากไม่สำเร็จจะลงทุนเอง

นายปิติ ยิ้มประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (PTT) เปิดเผยว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังอยู่ในช่วงวัฏจักร ขาขึ้นต่ออีก 2-3 ปีข้างหน้า ปตท.จึงมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 2-3 โครงการ

โดยจะลงทุนผลิตโพลีโพรพิลีน (Poly-Propylene) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาและหาผู้ร่วมทุน หากการเจรจาการร่วมทุนประสบความสำเร็จ จะกลายเป็นผู้ผลิต PP รายใหญ่สุดของประเทศ ด้วยขนาดกำลังผลิต 6.5 แสนตันต่อปี ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการทำการตลาด

ประโยชน์ที่ผู้ร่วมทุนจะได้รับ คือความมีเสถียรภาพด้านวัตถุดิบ เนื่องจาก ปตท.มีโรงแยกก๊าซ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงผลิตโอเลฟินส์ ของทั้งบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) (TOC) และบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ (NPC)

"ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการผลิตเม็ดพลาสติก PP ในประเทศ 2 ราย ที่มีกำลังการผลิตอยู่แล้ว 3-3.5 แสนตันต่อปี เพื่อร่วมทุนจัดตั้งบริษัทใหม่ ผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มอีก 3 แสนตัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้"

หากการเจรจาร่วมทุนไม่สำเร็จ ปตท. จะลงทุนเอง ด้วยกำลังผลิต 3 แสนตัน ใช้เงินลงทุน 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,400 ล้านบาท) คาดว่าจะเริ่มผลิตต้นปี 2550 ปัจจุบัน มีผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PP 3 รายในไทย คือบริษัท เอ็ช เอ็ม ซี โปลีเมอร์ส จำกัด บริษัท ซิเมนต์ไทย เคมีคอล จำกัด ในเครือปูนใหญ่ และบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI)

นายปิติกล่าวต่อไปว่า ปตท.ยังมีแผนลงทุน ผลิตฟีนอล 2 แสนตันต่อปี มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,000 ล้านบาท) ซึ่งจะร่วมทุนกับบริษัทในเครือ คือบริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) และบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) (NPC )

ทำปิโตรเคมีครบวงจร

โดย ปตท.จะถือหุ้นใหญ่ คาดว่าจะเสร็จ ปี 2550 ซึ่งฟีนอลใช้เป็นวัตถุดิบผลิตโพลีคาร์บอเนต เนื่องจากความต้องการใช้ปิโตรเคมีในประเทศสูงขึ้น ถือเป็นอุตสาหกรรมเพิ่ม รายได้ให้ ปตท. ซึ่งขณะนี้ บริษัทพร้อมทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร โดยจะมีโรงแยกก๊าซ เพื่อตั้งโรงโอเลฟินส์ ซึ่งจะอาศัยก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ท่อก๊าซทั้ง 3 เส้น คิดเป็นปริมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้เป็นฟีดสต็อก ทำปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่ 3

"เราประเมินว่า จะเริ่มทำปิโตรเคมีคอม-เพล็กซ์ที่ 3 ได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้โรงแยกก๊าซแห่งใหม่ ต้องสามารถดำเนินการได้ก่อน"

นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมจะรื้อฟื้นแผนควบรวมกิจการระหว่าง NPC กับ TOC เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองการตลาด รวมทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายบริหารงาน ซึ่ง ปตท.เห็นว่า การควบรวมกิจการ เป็นสิ่งที่ดีของทั้ง 2 บริษัท

ขณะนี้ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ถือหุ้นราย อื่นๆ ของทั้ง 2 บริษัท เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คาดว่าหากควบรวมเสร็จ จะลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 500 ล้านบาท ส่วนเวลาที่เหมาะสมจะควบรวม ขณะที่ TOC เพิ่งระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนหน้านี้ ปตท.เคยมีแนวคิดจะรวม TOC-NPC เข้าด้วยกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขนาด TOC เล็กกว่า NPC และภาระหนี้สินสูงกว่า

แต่ปัจจุบัน ทั้ง 2 บริษัทขนาดธุรกิจ ใกล้เคียงกัน โดย NPC มีกำลังผลิตเอทิลีน 3 แสนตันต่อปี อยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิต โพลีเอทิลีน และ TOC กำลังผลิตเอทิลีนประมาณ 6 แสนตันต่อปี รวมทั้งแผนมีจะลงทุน ตั้งโรงงานเอทิลีนไกคอล (EO/EG)



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.